ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรด้วยระบบส่งเสริมแบบแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชสมุนไพร และพัฒนาเกษตรกรให้สามารถผลิตพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพ และปริมาณตามความต้องการของตลาด ได้มาตรฐานสากล หนุนตลาดภายในประเทศและส่งออกตลาดเอเชีย
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2561 พื้นที่ปลูกสมุนไพรเป็นการค้า รวม 27,555 ไร่ ผลผลิตรวม 39,103 ตัน มีการรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรในรูปแบบแปลงใหญ่ จำนวน 16 แปลง ใน 15 จังหวัด จำนวนเกษตรกร 701 ราย พื้นที่ 7,706.75 ไร่ สำหรับ พืชสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ( Product Champions ) 4 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ กระชายดำ มีพื้นที่ปลูก 116 ไร่ ผลผลิตรวม 310 ตัน, ไพล มีพื้นที่ปลูก 595ไร่ , ผลผลิตรวม 1,694 ตัน, บัวบก มีพื้นที่ปลูก 842 ไร่ ผลผลิตรวม 255 ตัน และ ขมิ้นชัน มีพื้นที่ปลูก 1,746 ไร่ ผลผลิตรวม 3,405 ตัน”
สำหรับแนวโน้มด้านการตลาดสมุนไพรไทย ความต้องการวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานมีมากขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ผลิตแบบอินทรีย์ เนื่องจากสมุนไพรเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา สร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนเพื่อเสริมความงาม ผู้ประกอบการจึงต้องการวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพราะเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ในปี 2561 ได้มีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชสมุนไพร และกำลังมีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับสมุนไพรแห้ง เกษตรกรสามารถขอรับการรับรองมาตรฐานได้ทั้งมาตรฐานกระบวนการผลิต และมาตรฐานสินค้า เพื่อให้วัตถุดิบสมุนไพรมีคุณภาพ คือ มีสารสำคัญออกฤทธิ์ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด มีความปลอดภัย คือมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ สารปนเปื้อน และสิ่งแปลกปลอม ไม่ค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบแบบอินทรีย์หรือการเข้าสู่ระบบรับรองกระบวนการผลิตอื่น ๆ (GAP, GACP, PGS) และได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่คู่ค้ากำหนด รวมถึงส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรที่สำคัญทางเศรษฐกิจในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้ได้สมุนไพรที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถสร้างอำนาจต่อรอง และเชื่อมโยงตลาดได้ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการใช้พันธุ์ดี สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนจัดทำแหล่งรวบรวม อนุรักษ์และขยายพันธุ์สมุนไพรที่สำคัญ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 20 ศูนย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงพันธุ์สมุนไพรที่เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพอีกด้วย