“ทองตาปาน” จำปาดะสีทอง ของดีอ.กะปง ทำรายได้ให้เกษตรกรปีละกว่า 4 แสนบาท

จำปาดะ เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับ ขนุน หรือสาเก ภาษาอังกฤษก็ใช้คำนี้ Champedak ไม่รู้ใครลอกใคร แต่มาเลเซียเรียกอีกชื่อหนึ่ง ภาษาใต้ เรียกว่า จำดะ นิยมปลูกมากในภาคใต้ ออกผลปีละครั้ง ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมตอนต้นฤดูฝนของทุกปี ในช่วงหน้าอื่นมีผลบ้างแต่ไม่มากนัก

จำปาดะ “ทองตาปาน” เป็นจำปาดะพื้นถิ่นของ ต.เหมาะ อ.กะปง จ.พังงา ถือเป็นจำปาดะ เบอร์ 1 ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรครอบครัวละนับแสนต่อปี เนื่องจากมีผลใหญ่สีทอง เนื้อหนาสีเหลืองทอง รสชาติหอมหวาน กลิ่มหอมละมุน จึงได้รับความนิยมรับประทานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นจำปาดะอันดับต้นๆ ของประเทศ

นายจรัญ หนูนุ้ย เกษตรกรชาว ม.1 ต.เหมาะ อ.กะปง จ.พังงา เปิดเผยว่า ที่มาของจำปาดะพันธุ์ทองตาปาน มาจากเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว พี่ชายได้ซื้อสวนมาจากญาติ ซึ่งภายในสวนนั้น มีจำปาดะต้นหนึ่งมีลักษณะที่โดดเด่น ไม่เหมือนกับจำปาดะพื้นบ้านทั่วไป จึงได้นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด และได้นำมาปลูกในสวนของตนเองเองประมาณ 200 ต้น ในพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ เมื่อผลผลิตออกมามีผลและเนื้อในเป็นสีเหลืองทอง จึงตั้งชื่อกันว่า “ทองตาปาน” ซึ่ง “ตาปาน” เป็นชื่อเล่นของพี่ชาย

จุดเด่นของจำปาดะทองตาปาน มีกลิ่นหอมชวนกินไม่เหมือนจำปาดะทั่วไปที่หอมฉุน ผลและเนื้อสีทอง เนื้อหนา รสชาติหวานจัด ผมหรือซังก็หวานกินได้ สำหรับคนไม่เคยกินหรือไม่ชอบกินจำปาดะนั้น ต้องมาลองกินให้ได้ เพราะเมื่อได้ลองแล้วส่วนใหญ่ก็กลับมาติดใจ

ปัจจุบันมีพ่อค้าขาประจำหลายรายมาซื้อไปจำหน่ายทั้งในภาคใต้และกทม. ในช่วงต้นฤดูกาลสามารถขายส่งได้กิโลกรัมละ 50 บาท ช่วงนี้ผลผลิตออกมาเยอะเหลือกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งแต่ละปีสามารถทำรายได้กว่า 400,000 บาท

วิธีการปลูก

จำปาดะ เป็นผลไม้ที่ปลูกง่ายมากในภาคใต้ เนื่องจากชอบความชื้นและฝนตกชุก ยิ่งปลูกแซมในป่าผลไม้ด้วยกันยิ่งทำให้ปลูกง่ายไปใหญ่ เพราะได้อาศัยร่มเงาต้นอื่นตอนต้นยังเล็ก

ขั้นต้น เพียงขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก 30 เซนติเมตร ก็เพียงพอ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ให้มีขนาดห่างประมาณ 6 เมตร คูณ 6 เมตร ใช้ต้นพันธุ์ที่สูงประมาณ 80 เซนติเมตร จะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือไม่ก็ได้ กลบให้แน่น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ เพราะจังหวัดพังงาในฤดูฝน ฝนจะตกชุกและไม่ขาดช่วง แต่ในจังหวัดภาคอื่นต้องดูน้ำให้หน่อย ให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 1 กระป๋องนม หว่านห่างรอบโคน เพิ่มจำนวนมากขึ้นเมื่อต้นโต ใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี จำปาดะก็เริ่มให้ผลผลิต ในสวนไม่ได้ใช้ปุ๋ยคอกเนื่องจากหาค่อนข้างยาก ปัจจุบัน ต้นมีอายุ 20 ปี ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เมื่อจำปาดะออกลูกขนาดหัวแม่มือ ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยหว่านรอบๆ โคน

จนผลมีขนาดเท่ากระบอกไฟฉายใหญ่ จะต้องขึ้นต้นตัดแต่งผล เอาผลที่มีความสมบูรณ์ไว้ และกิ่งไหนผลมีมากก็ให้ตัดออกบ้าง เพื่อให้มีขนาดใหญ่สมบูรณ์ และถือโอกาสตัดแต่งกิ่งที่แห้งหรือแกะกะออก เพื่อต้องการให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ให้อับลม ต้นจะไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน ส่วนกิ่งที่ถูกลมพัดฉีกขาดก็ต้องแต่งออก เพราะจะเป็นเชื้อราที่รอยแผล กิ่งที่มีผลดกจะต้องช่วยภาระเรื่องน้ำหนัก ด้วยการโยงกิ่งด้วยสายไฟฟ้ากับกิ่งอื่น

ศัตรูของผลคือ แมลงวันทอง ที่จะเจาะผลเพื่อวางไข่ ทำให้ผลผลิตเสียหายจึงต้องห่อผล ในอดีตใช้วิธีการสานใบมะพร้าวเป็นตะกร้อเพื่อห่อผล แปลกที่ว่าตะกร้อที่สานเพื่อห่อก็มีช่องว่างอยู่ เพราะเป็นลักษณะตาข่าย ไม่ได้ทึบทั้งหมด แต่ก็สามารถกันแมลงวันทองได้ แต่ในปัจจุบันได้ทดลองใช้ถุงพลาสติกสีขาวห่อ คุณสักกรินทร์ บอกว่า ผลจะออกสีเหลืองเขียวไม่ค่อยสวย คงเป็นเพราะไม่ทึบแสง จึงได้เปลี่ยนมาเป็นถุงพลาสติกสีดำห่อ ปรากฏว่าสีผลเมื่อสุกเต็มที่เหมือนกับที่ห่อด้วยใบมะพร้าว เนื่องจากทึบแสง แต่การห่อด้วยวัสดุใดๆ ก็ไม่มีผลต่อรสชาติของจำปาดะ