ปศุสัตว์สตูล เร่งควบคุมปากเท้าเปื่อยวัว

 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เร่งนำยามาทาภายในช่องปากของวัว พร้อมฉีดยารักษาโรคปากเท้าเปื่อยหลังรับแจ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ว่า วัวที่เลี้ยงมีอาการคล้ายโรคปากเท้าเปื่อย โดยปศุสัตว์อำเภอแนะนำและให้ความรู้ในการดูแลวัวก่อนและหลังเกิดโรค สำหรับวัวที่พบอาการของโรค มีการฉีดยาแก้อักเสบไป จำนวน 11 ตัว พร้อมห้ามนำไปปะปนกับวัวตัวอื่นที่ยังปกติอยู่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

นางพิ้ม จันทรังสี อายุ 54 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว หมู่ที่ 7 ตำบลคลองขุด กล่าวว่า พบอาการผิดปกติ วัวมีอาการชักซึม กินหญ้าได้น้อย น้ำลายฟูมปาก จึงให้กินยาแก้ปวด แต่ไม่หาย เป็นนาน 4 วัน อาการไม่ดีขึ้น จึงแจ้งไปยังปศุสัตว์อำเภอให้เข้ามาดู จึงทราบแน่ชัดว่าวัวเป็นโรคปากเท้าเปื่อย

ที่จังหวัดสกลนคร นางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา ปศุสัตว์สกลนคร ร่วมกับกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ปศุสัตว์อำเภอและเจ้าที่ของ สำนักงานปศุสัตว์สกลนคร กว่า 20 นาย นำเครื่องมือและอุปกรณ์ไปยังหน่วย กรป.กลาง (กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ) บ้านโพนยางคำ ตำบลโพนยางคำ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เพื่อตรวจสุขภาพโคขุน เจาะเลือดตรวจโรค เก็บอุจจาระตรวจไข่พยาธิ พร้อมถ่ายพยาธิโค จำนวน 222 ตัว เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรค เช่น โรคปากเท้าเปื่อย โรคคอบวม ให้กับหน่วย กรป. กลาง เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเนื้อโคขุนโพนยางคำ เนื้อโคลูกผสมระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั่วทั้งประเทศว่า เนื้อโคขุนโพนยางคำของจังหวัดสกลนคร เป็นเนื้อดีมีคุณภาพภายใต้มาตรฐานกรมปศุสัตว์

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน