ชาวไร่สับปะรดผนึกกำลังโรงงาน ตรึงราคากิโลกรัมละ6.80บาทรับมือผลผลิตทะลัก

ตัวแทนชาวไร่สับปะรดจับมือโรงงานตรึงราคารับซื้อ กก.ละ 6.80 บาทถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาทรุดตัวลงตลอดเดือนมกราคม เตรียมหารือกันอีกรอบรับมือผลผลิตออกมากในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

นายสุรัตน์ มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาสับปะรดในขณะนี้ว่า ราคาสับปะรดตกลงตลอดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยโรงงานลดราคารับซื้อ กก.ละ 20 สตางค์ต่อวัน เนื่องจากผลผลิตทั่วประเทศออกสู่ตลาดวันละ 7,000-8,000 ตันต่อวัน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางตัวแทนสมาคมชาวไร่สับปะรดไทยจึงได้หารือนอกรอบกับตัวแทนโรงงานอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอให้ตรึงราคารับซื้อสับปะรดหน้าโรงงานไว้ที่ กก.ละ 6.80 บาท จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ ซึ่งโรงงานตอบตกลงเพราะโบรกเกอร์สั่งซื้อสับปะรดกระป๋องและผลิตภัณฑ์สับปะรดชนิดต่าง ๆ อาจจะต่อรองลดราคาได้ หากราคาทรุดลงตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลกระทบมาถึงเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลังจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ทางตัวแทนชาวไร่จะหารือกับโรงงานอีกครั้งในเรื่องราคารับซื้อ แต่ถ้าหากราคารับซื้อต่ำกว่าต้นทุนผลิตจะมีการทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลืออีกครั้ง

ขณะเดียวกันช่วงที่ราคาตกชาวไร่สับปะรดตัดสับปะรดที่ไม่ได้คุณภาพมาขายให้โรงงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาลงทุกวันหากมีการตรึงราคารับซื้อไว้ชาวไร่จะได้ไม่ตัดสับปะรดไม่ได้คุณภาพ คืออายุต่ำกว่า 5 เดือนหลังจากวันบังคับออกลูกมาขาย และหลังจากกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม สับปะรดจะออกสู่ตลาดมากขึ้น จากผลผลิตที่ออกตามธรรมชาติ และจากการบังคับออกลูกออกสู่ตลาดพร้อมกัน

“ตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ต่อเนื่องมาถึงเทศกาลตรุษจีน ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดมากขึ้น โรงงานจึงถือโอกาสลดราคารับซื้อลงตลอด ส่วนฝนที่ตกลงมาหนักก่อนหน้านี้ สับปะรดได้รับความเสียหายตั้งแต่ใต้อำเภอเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ลงไปบ้างแต่ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ปลูกบนพื้นที่ดอน กลับเป็นผลดีต่อการเติบโตของสับปะรด โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกตั้งแต่เขตอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาถึงอำเภอหัวหิน หลังจากประสบภัยแล้งมาหลายปี”

ส่วนพื้นที่ปลูกสับปะรดภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ต้องขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนเพียง กก.ละ 4 บาท เพราะต้องขนส่งมาขายที่โรงงานในเขตประจวบคีรีขันธ์หรือภาคตะวันออก ในขณะที่มีต้นทุนผลิต กก.ละ 5 บาท อีกทั้งผลผลิตสมบูรณ์ไม่เต็มแปลง ต้องขายผลผลิตลูกไม่ได้ขนาด กก.ละ 2 บาทมากขึ้น

ในส่วนการทำสัญญาซื้อขายสับปะรดล่วงหน้าของเกษตรกรกับโรงงานนั้น ซึ่งจะต้องมีการแจ้งแปลงผลิตและวันที่บังคับออกลูก ส่วนใหญ่เกษตรกรจะทำสัญญากับโรงงานใหญ่ โดยโรงงานมีการเพิ่มราคาจูงใจอีก กก.ละ 5-10 สตางค์ แต่โรงงานขนาดกลางจะรับซื้อหน้าโรงงานเท่านั้น โซนปลูกฝั่งตะวันตก คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จึงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่เกิน 40% ในขณะที่โซนภาคตะวันออกกลับมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงานมากถึง 70-80%

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์สับปะรดที่ผลิตทั่วโลกในปี 2559 ว่า ลดลงจากปี 2558 ที่มีผลผลิต 22 ล้านตันเหลือ 21 ล้านตัน และเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มีผลผลิต 24.16 ล้านตัน ถือว่าลดต่ำลงมาก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสำคัญได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในส่วนของไทยปี 2559 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 4.65 แสนไร่ ผลผลิต 1.79 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 4.09 ตัน เนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 4.03 และร้อยละ 1.24 ตามลำดับ เนื่องจากราคาสับปะรดโรงงานที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2557 และปี 2558 อย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายการปลูกในพื้นที่ว่างแซมสวนยางที่ปลูกใหม่และปลูกแทนพืชไร่

ทางด้านราคาส่งออกสับปะรดกระป๋องปี2559ตันละ 1,130 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2555 ที่ราคาตันละ 941 เหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.83 ราคาส่งออกน้ำสับปะรดตันละ 1,430 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2555 ที่ราคาตันละ 1,090 เหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.97 ขณะที่เกษตรกรขายผลผลิตสับปะรดโรงงานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.48 ต่อปีคือ เพิ่มจาก กก.ละ 3.3 บาทในปี 2555 เป็น กก.ละ 10.37 บาทในปี 2559 จากปัญหาภัยแล้ง

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์