“หญ้าโปร่งคาย” กับความสัมพันธ์ของเกษตรกรปลูกผักที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง

จังหวัดลำปาง แต่เดิมเคยมีหญ้าโปร่งคายที่บ้านม่วง บ้านสบฟ้า บ้านแป้น บ้านสบหก บ้านสาใน อำเภอแจ้ห่ม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผักสำคัญและปลูกหญ้าโปร่งคายอยู่มาก แต่ปัจจุบัน หญ้าโปร่งคาย ได้ลดจำนวนลง เนื่องจากเกษตรกรส่วนมากไม่ได้อาศัยประโยชน์จากหญ้าโปร่งคายเพื่อการปลูกผักอีกต่อไป  

หญ้าโปร่งคาย เข้ามาที่จังหวัดลำปางได้อย่างไร คนรุ่นเก่าในพื้นที่เล่าว่า เดิมทีอำเภอแจ้ห่มมีการเพาะปลูกยาสูบมากแห่งหนึ่งของจังหวัด มักปลูกยาสูบตามที่ดินริมแม่น้ำวัง ที่เรียกว่า ดินน้ำไหลทรายมูล หรือดินปง ในหน้าน้ำหลากน้ำจะท่วมริมตลิ่งแม่น้ำวัง ซึ่งน้ำได้พัดพาเอาหน้าดินมีธาตุอาหารมารวมไว้ เมื่อหมดหน้าน้ำหลาก ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำวังที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารพืช เกษตรกรจึงใช้เป็นพื้นที่ปลูกยาสูบได้งอกงาม เพื่อเป็นการป้องกันการพังทลายของดินริมตลิ่งแม่น้ำแม่วัง ทางเจ้าหน้าที่โรงบ่มใบยาสูบจึงให้เกษตรกรปลูกหญ้าโปร่งคาย ไม่ทราบว่าได้แนวทางปฏิบัติแบบนี้มาจากที่ไหน และได้นำเมล็ดหญ้าโปร่งคายมาจากที่ไหน แล้วเริ่มทำกันตั้งแต่เมื่อไร

เกษตรกรกับผลผลิต

หลังจาก หญ้าโปร่งคาย ล้มตาย จึงปลูกยาสูบในฤดูหนาว ต่อมาเกษตรกรผู้ปลูกผักจึงนำเมล็ดหญ้าโปร่งคายไปปลูกก่อนการปลูกผักบ้าง พื้นที่ใดเคยมีหญ้าโปร่งคายขึ้นแล้วปีต่อไปหญ้าก็จะงอกขึ้นได้เอง ไม่ต้องปลูกซ้ำอีกและจะเก็บเมล็ดหญ้าไว้เพื่อปลูกในพื้นที่อื่น

การปลูกผักในเขตพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม เกษตรกรจะนำหญ้าโปร่งคายมาใช้ในการควบคุมวัชพืชเพื่อการปลูกผัก  พื้นที่ใดที่ไม่เคยมีหญ้าโปร่งคายขึ้นมาก่อนช่วงต้นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) เกษตรกรก็จะปลูกหญ้าโปร่งคายโดยหว่านเมล็ดลงไปในพื้นที่ที่จะเตรียมไว้ปลูกผักในฤดูหนาว หญ้าโปร่งคายเริ่มงอกเจริญเติบโตเป็นต้นกล้ากระทั่งออกดอกจนเป็นต้นแก่และตาย มันได้ปล่อยให้เมล็ดหลุดร่วงลงบนดิน

หญ้าในอดีต

จากนั้นต้นเดือนตุลาคมเกษตรกรจะล้มต้นหญ้าโปร่งคายลง โดยใช้ซี่ไม้ไผ่สานเป็นแผงตารางนาบต้นหญ้าให้ล้มลงติดดิน และใช้มีดตัดโคนต้นให้ต้นหญ้านอนราบคลุมผิวดิน ดินที่หญ้าโปร่งคายขึ้น ดินจะร่วนซุยไม่มีวัชพืชขึ้น และมีปริมาณอินทรียวัตถุมากกว่าดินที่ไม่มีหญ้าโปร่งคายขึ้น จากนั้นจึงแหวกตอซังหญ้าออก ใช้ไม้กระทุ้งให้เป็นหลุมปลูกกล้าผักหรือเมล็ดผักลงไป หยอดเมล็ดผักหรือย้ายกล้าผักลงปลูกในแปลงที่มีตอซังต้นหญ้าโปร่งคายคลุมดินอยู่ โดยไม่ต้องมีการไถพรวนดิน ซากตอซังหญ้าโปร่งคายช่วยคลุมดินและรักษาความชื้นไว้ในดินได้อย่างดี ช่วยลดการให้น้ำ

ในอดีตใช้หญ้าโปร่งคายคลุมแปลง

และจะเก็บเกี่ยวผักตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปัจจุบันการล้มต้นหญ้าโปร่งคายได้เปลี่ยนมาใช้รถแทรกเตอร์ไถพรวน เมล็ดหญ้าโปร่งคายที่ร่วงหล่นอยู่บนผิวดิน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเมล็ดหญ้าโปร่งคายที่ถูกดินกลบจะเจริญงอกขึ้นมาใหม่ ดังนั้น หญ้าโปร่งคาย จึงขึ้นในฤดูฝนและตายในฤดูหนาว อันเป็นวัฏจักรของหญ้าโปร่งคายและการปลูกผักจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดไป ตราบใดที่เกษตรกรยังคงถือปฏิบัติการปลูกผักแบบดั้งเดิมอยู่

ต้นหญ้า ถ่ายเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ลักษณะทั่วไปของหญ้าโปร่งคาย

ลำต้น หญ้าโปร่งคายเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงฤดูเดียว ลำต้นแข็ง ตั้งตรง สูงประมาณ 1.5-2 เมตร สามารถจะสูงได้ถึง 4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 5-10 มิลลิเมตร ลำต้นแตกหน่อเติบโตรวมกันเป็นกอ ทรงพุ่มกอโปร่ง ลำต้นเป็นข้อปล้อง ข้อปล้องยาว 10-20 เซนติเมตร ข้อปล้องใกล้โคนต้นแตกแขนงออกเป็นกิ่ง บริเวณข้อถูกหุ้มด้วยกาบใบสีขาวอมชมพูเรื่อๆ กาบใบมีขนแข็ง เมื่อลอกกาบใบออกจึงเห็นลำต้นแข็งมีผิวมัน ระบบรากเป็นรากฝอย รากแตกออกเป็นกระจุกที่โคนต้น และมีรากค้ำจุนโผล่ออกมาบริเวณข้อโคนต้นเพื่อช่วยพยุงต้นไว้ คล้ายกับรากค้ำจุนของต้นข้าวโพด ถอนดึงต้นออกจากพื้นดินได้ง่าย

ขนตามลำต้น

ใบ หญ้าโปร่งคายมีใบเป็นใบเดี่ยว ออกบริเวณข้อปล้อง ขึ้นเรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบหุ้มตั้งแต่ข้อของลำต้น มีสีขาวแกมมีแถบสีชมพูประ และมีขนแข็งปกคลุม ใบมีก้านใบสั้นๆ ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว ใบยาว 15-60 เซนติเมตร กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนมีลักษณะม้วนงอ มีเยื่อกันน้ำฝนที่สั้น ไม่มีหูใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบเป็นร่องใหญ่สีขาว แผ่นใบและขอบใบเรียบ ขอบใบหญ้าโปร่งคายมีความคม เมื่อจับต้องทำให้เกิดบาดแผลได้ ขนที่ปกคลุมตามก้านใบและแผ่นใบ ขนทิ่มตำแล้วจะทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคันได้

ดอก ลักษณะของหญ้าโปร่งคายเหมือนหญ้าต้นสูงทั่วไป พิจารณาความแตกต่างไม่ได้ว่าจะใช่หญ้าโปร่งคายหรือไม่ แต่เมื่อมันออกดอกจึงจะเห็นความแตกต่างและทราบได้ทันที จะออกดอกในช่วงแสงที่สั้นกว่า 13 ชั่วโมง ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแทงออกปลายยอดของลำต้น หรือตามยอดของแขนงย่อย หรือออกตามซอกใบของลำต้น ชูช่อตรงขึ้นคล้ายธูป ไม่บานเป็นพุ่ม มีก้านช่อดอกยาว 10-25 เซนติเมตร ก้านของช่อเชิงลด (spike) หนา และมีลักษณะเป็นข้อปล้อง มีช่อดอกย่อย (spikelet) อยู่เป็นคู่ๆ อันหนึ่งไม่มีก้าน อีกอันหนึ่งมีก้าน เชื่อมติดอยู่กับก้านใหญ่ แต่ละช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อย 2 ดอก

เมล็ด หญ้าโปร่งคายเมื่อดอกผสมเกสรแล้วจะเจริญเป็นเมล็ด เมล็ดแก่เมื่ออายุได้ 5-6 สัปดาห์ ก้านช่อดอกจะเริ่มหักออกจากกันเป็นท่อนสั้นๆ สีขาวนวล ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ใน 1 ช่อดอก จะมีเมล็ดประมาณ 9-34 เมล็ด และใน 1 ต้น จะมีเมล็ดประมาณ 2,200-16,500 เมล็ด

เมล็ดหญ้าโปร่งคายสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ตลอดทั้งปี ถ้าได้รับความชื้นเพียงพอ แต่จะเจริญเติบโตงอกงามได้ดีในช่วงต้นฤดูฝน เมล็ดหญ้าโปร่งคายมีเวลาการพักตัวยาวนาน แม้เมล็ดจะถูกฝังในดินลึกกว่า 45 เซนติเมตร ก็ยังสามารถงอกได้ เมล็ดหญ้าโปร่งคายมีเวลาการพักตัวยาวนาน 10-12 เดือน เมล็ดคงทนอยู่ในดินได้นานกว่า 3 ปี เป็นหญ้าที่เจริญเติบโตได้เร็ว การแพร่ระบาดจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแข่งขันกับพืชอื่นๆ ได้ดี ทำให้ขึ้นปกคลุมพืชอื่นได้รวดเร็วมาก

ใช้ฟางแทนหญ้าโปร่งคายในปัจจุบัน

หญ้าโปร่งคาย เป็นวัชพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรทั่วไป คนทั่วไปมองเห็นว่าหญ้าโปร่งคายเป็นวัชพืช แต่เกษตรกรปลูกผักที่อำเภอแจ้ห่มใช้เป็นพืชคลุมดิน เห็นว่ามันเป็นพืชคลุมดินที่มีประโยชน์ ปัจจุบัน มีบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ผักรายใหญ่อยู่ในอำเภอแจ้ห่ม 2 บริษัท ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนการปลูกผักจากเดิมที่เคยปลูกผักปีละครั้ง มาเป็นการปลูกผักได้ทั้งปี บางรายปลูกผักกางมุ้งเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักได้ตลอดปี ส่งเมล็ดพันธุ์ให้บริษัท (เมล็ดฟักทอง เมล็ดฟักเขียว ฯลฯ) จึงสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้ทั้งปี เกษตรกรได้ใช้พื้นที่ดินปลูกผักตลอดปี และเปลี่ยนมาใช้ฟางข้าวคลุมแปลงแทนต้นหญ้าโปร่งคาย ซึ่งการใช้หญ้าโปร่งคายคลุมดินปีหนึ่งจะปลูกผักได้เพียงครั้งเดียว จึงมีรายได้เพียงปีละครั้ง

การปลูกผักทั้งปีทำให้ไม่มีการพักดินเพื่อให้หญ้าโปร่งคายได้ขึ้นในช่วงฤดูฝนเหมือนก่อน ประกอบกับการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้หญ้าโปร่งคายไม่มีโอกาสได้งอกเจริญเติบโตได้เมื่อถึงฤดูกาลของมัน เกษตรกรผู้ปลูกผักได้ลดความสำคัญของหญ้าโปร่งคาย ที่บ้านแป้น บ้านสา เคยมีหญ้าโปร่งคายขึ้นอยู่มาก มาถึงวันนี้หญ้าโปร่งคายได้หายไปจากพื้นที่เกือบหมด แต่พบว่ายังมีการปลูกหญ้าโปร่งคายสลับกับการปลูกผักกันอยู่ในอำเภอวังเหนือที่บ้านร่องเคาะ อำเภอแจ้ห่ม ที่บ้านแป้น บ้านสบฟ้า บ้านม่วง ที่มีการปลูกผัก ซึ่งเหลืออยู่ไม่กี่รายที่ยังพึ่งพาหญ้าโปร่งคาย

_______________________________

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
https://www.feedipedia.org/node/388
www.iucngisd.org/gisd/species.php?sc=7
https://www .ippc.acfs.go.th/pest/G001/T010/WEED074
https://www./puechkaset.com/หญ้าโขย่ง/
https://www.tci-thaijo.org/index.php/…/article/download/…/63175/