ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ธ.ก.ส.ใกล้ปิด “จำนำยุ้งฉาง” ข้าวไหลเข้าโครงการแค่ 1 ล้านตันข้าวเปลือกเชื่อชาวนาไถ่ถอนกว่า 7 แสนตัน วงการค้าข้าวชี้ราคาข้าวอยู่ช่วงขาลง เหตุข้าวเวียดนามออกสู่ตลาดส่งผลข้าวไทยแข่งราคาหนัก หลังรัฐเปิดประมูลขายข้าว 2.8 ล้านตัน ผู้ส่งออกเสนอราคาซื้อต่ำมาก
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงาน ครม. เพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2559/2560 ณ เดือนมกราคม 2560 ในส่วนสถานการณ์ด้านการตลาดปรากฏ มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่ความชื้น 15% (30 ม.ค. 2560) ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนดำเนินโครงการ (15 พ.ย. 2559) โดยข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 500-1,700 บาท/ตัน, ข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 1,000-1,200 บาท/ตัน, ข้าวเหนียวคละ 1,100-2,000 บาท/ตัน, ข้าวเจ้า 5% 100-500 บาท/ตัน และข้าวปทุมธานี 200-400 บาท/ตัน เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการ 4 โครงการ สามารถดึงอุปทาน (ปริมาณ) ข้าวเปลือกออกไปแล้ว ประมาณ 5.099 ล้านตัน หรือคิดเป็น 37.77% จากเป้าหมาย 13.5 ล้านตัน แบ่งเป็น
2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรรวม 245 แห่ง เป็นเงิน 6,749.93 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 959,918.57 ตัน
3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2559/2560 ใน 40 จังหวัด ผู้ประกอบการ 243 ราย จำแนกเป็นข้าวเปลือก 2,903,867.43 ตัน และข้าวสาร 541,963.59 ตัน รวมเป็นข้าวเปลือกรับซื้อจากเกษตรกร 3,725,024.38 ตัน คิดเป็น 46.56% มูลค่า 35,863.86 ล้านบาทและ 4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ณ วันที่ 20 ม.ค. 2560 จัดมาแล้ว 41 จังหวัด รวม 98 ครั้ง คิดเป็น 78.40% ของเป้าหมาย โดยมีปริมาณรับซื้อที่ 56,704.55 ตัน มูลค่า 471.78 ล้านบาท ขายได้สูงกว่าตลาดตันละ 100-1,200 บาท
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 (จำนำยุ้งฉาง) มีความคืบหน้าไปได้ดี โดยชาวนาที่นำข้าวมาเข้าโครงการส่วนใหญ่ยังเป็นชาวนาทางภาคอีสาน ส่วนภาคกลางไม่ค่อยมี เนื่องจากไม่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง
มีรายงานข่าวจาก ธ.ก.ส.เข้ามาว่า การจำนำยุ้งฉางได้เริ่มจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่ชาวนาตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2559 จนถึงต้นเดือน ก.พ. 2560 ปรากฏมีชาวนาเข้าร่วมโครงการแล้ว 161,675 ราย สถาบัน/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตร 34 สถาบัน คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือก 954,000 ตันข้าวเปลือก มูลค่าสินเชื่อ 8,700 ล้านบาท โดยเฉพาะชาวนาอีสานปีนี้ส่วนใหญ่นำข้าวมาเข้าโครงการจำนำยุ้งฉางเกือบหมด
“ไม่ขายสดให้โรงสีกับพ่อค้า” ส่งผลให้โรงสีต้องรอซื้อหลังโครงการครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งประเมินว่า หลังจากจบโครงการในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีปริมาณข้าวเปลือกกว่า 1 ล้านตัน จากเป้าหมาย 3 ล้านตัน และน่าจะมีเกษตรกรไถ่ถอน เพราะราคาตลาดดีขึ้นค่อนข้างมาก สุดท้ายจะเหลือข้าวในยุ้งฉางประมาณ 300,000 ตันเท่านั้นซึ่งจะประมูลหลังจากปิดโครงการไปแล้ว 5 เดือน (กรกฎาคม)
สวนทางกับมุมมองของวงการค้าข้าวที่มองว่าราคาส่งออกข้าวมีแนวโน้ม “ทรงตัวและอาจจะลดลง” เนื่องจากซัพพลายข้าวโลกมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปีของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคมนี้ ประมาณ 10-12 ล้านตัน โดยปกติเวียดนามขายล่วงหน้าไว้ แต่ปีนี้ไม่มีออร์เดอร์ล่วงหน้าจึงต้องมาแข่งขันประมูลขายข้าวขาว 25% ให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์กับประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งไทยน่าจะชนะประมูลล็อตนี้ ปริมาณ 100,000 ตัน จากปริมาณที่ซื้อทั้งหมด 250,000 ตัน และยิ่งหากรัฐบาลพิจารณาอนุมัติขายข้าวในสต๊อกที่เปิดประมูลลอตล่าสุด 2.86 ล้านตันออกไป โดยไม่คำนึงถึงระดับราคาเสนอซื้ออีก “จะยิ่งทำให้ราคาข้าวต่ำลง” เพราะรอบนี้มีผู้เสนอราคาซื้อที่ต่ำมาก เช่น ข้าวขาว 5% ตันละ 6,000-8,000 บาท จากราคาตลาด 11,000 บาท, ข้าวหอมมะลิตันละ 13,000 บาท จากราคาตลาด 24,000-25,000 บาท, ข้าวหอมจังหวัดตันละ 10,000 บาท ราคานี้อาจจะมีส่วนชี้นำราคาตลาดข้าวให้ลดลงได้ ซึ่งไม่เพียงจะกระทบข้าวนาปรังรอบใหม่ที่กำลังออกสู่ตลาด แต่จะกระทบต่อสต๊อกข้าวในมือเอกชนด้วย และหาก ธ.ก.ส.เปิดระบายข้าวจากโครงการจำนำยุ้งฉางอีก ราคาข้าวหอมมะลิจะลดลงอย่างรุนแรง
“แนวโน้มราคาข้าวลดลงอย่างนั้นชาวนาคงจะไม่มาไถ่ถอนข้าวเปลือกออกจากโครงการรับจำนำยุ้งฉาง ซึ่งธ.ก.ส.ต้องเก็บข้าวไว้ และพิจารณาแนวทางการระบายอย่างรอบคอบ ไม่ให้กระทบกับราคาตลาดเหมือนกับปีก่อน” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงผลการยื่นซองเสนอราคาข้าวสารสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 2.86 ล้านตัน ปรากฏมีผู้ยื่นซองเสนอราคาทั้งหมด 66 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 73 ราย หลังเปิดซองมีผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดจำนวน 48 ราย ใน 185 คลัง ปริมาณ 2.03 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 70.98% ของปริมาณที่เปิดประมูลทั้งหมด มูลค่าที่เสนอซื้อประมาณ 18,500 ล้านบาท
โดยชนิดข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปริมาณ 745,000 ตัน (สัดส่วน 26.05%) ข้าวขาว 5% ปริมาณ 479,000 ตัน (16.75%) คณะทำงานระบายข้าวจะพิจารณาผลประมูลในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้
“รัฐบาลได้ระบายข้าวสต๊อกไปแล้ว 8.7 ล้านตัน มีการรับมอบข้าวไปแล้ว 7.7 ล้านตัน เหลืออีก 1 ล้านตัน ซึ่งอยู่ระหว่างการรับมอบข้าวกับบางส่วนข้าวมีปัญหาด้านคุณภาพทำให้รับมอบไม่ได้ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ ไทยสามารถส่งออกข้าวไปได้แล้ว 1.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 23,800 ล้านบาท ล่าสุดบริษัทคอฟโก้ ผู้นำเข้าจีนได้ตกลงซื้อข้าวจากไทยเพิ่มอีก 100,000 ตัน (หรือแสนตันที่สาม) จากสัญญาซื้อขายข้าว 1 ล้านตัน ในราคา 386 และ 391 เหรียญ/ตัน ตามขนาดบุรรจุ” แหล่งข่าวกล่าว