พระนครเหนือเจ๋ง!! ผู้นำการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ จากยางพารา

เมื่อไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับต้นของโลก คำถามคือสถาบันการศึกษาในประเทศตอบโจทย์การพัฒนาแค่ไหน

ถ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวงการการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาบ้าง ชื่อของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คือลำดับต้นๆ ยิ่งโดยเฉพาะเรื่องยางพารา ถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง

นี่คือเรื่องน่ายินดี เพราะดังที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่า เหตุที่ต้องยินดี เพราะไทยเราเป็นประเทศที่มีเกษตรกรผลิตยางพาราจำนวนมาก และมหาวิทยาลัยก็ตอบโจทย์ตรงนี้โดยตรง โดยการมุ่งมั่นผลิตและวิจัยนวัตกรรมจากยางพารา

มีโอกาสได้พบเจอ ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์ประจำ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มจพ. ที่งานวันยางพาราบึงกาฬ เรามาอัพเดตความคืบหน้าและนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราที่ มจพ.กำลังทำอยู่กันครับ

อย่างที่รู้กันว่า มจพ.เริ่มทำถนนยางพารา โดยนำมาสร้างจริงที่บึงกาฬ เป็นเส้นแรกของภาคอีสาน ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯยังมาดูให้เห็นกับตาตัวเอง

อาจารย์ระพีพันธ์ เล่าว่า ถนนยางพาราดินซีเมนต์ถือว่าเป็นฐานชั้นดี เนื่องจากตัวยางพารามีส่วนช่วยในการยึดเกาะระหว่างดินเเละซีเมนต์ เป็นอีกโครงสร้างหนึ่ง เราสามารถเจาะออกมาพิสูจน์ความเเข็งเเรงได้เลย เเล้วจะกลายเป็นถนนปลอดฝุ่น เเต่ถ้าใส่ผิวหน้าเข้าไป จะลดในส่วนของหินคลุก สำหรับถนนที่บึงกาฬขณะนี้อยู่ในขั้นของการบ่ม จะต้องทิ้งระยะให้ถนนเซตตัวไว้ประมาณ 1 อาทิตย์เเล้วจะกวาดถนน

ผศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าวว่า เบื้องต้นมีการทดลองทำถนนที่มหาวิทยาลัย 1 ปี จากการสอบถามคนที่ใช้ถนน โดยเฉพาะรถที่วิ่งบริเวณนั้นส่วนใหญ่เป็นรถขนดิน บรรทุกค่อนข้างหนัก เขาก็ค่อนข้างพอใจว่าถนนไม่เเฉะ ฝนตกเเล้วไม่ลื่น ส่วนสภาพถนนแทบไม่ต่างจากเดิม สำหรับถนนที่บึงกาฬ ผิวหน้าเราไม่ได้ทำให้เรียบเนียนสนิท เพราะถ้าต้องการให้เรียบจะต้องเอาน้ำลงเเล้วเอารถบดตลอด

เเต่ถนนเส้นนี้มีชาวบ้านสัญจรไปมาอยู่เเล้ว เราไม่อยากปิดถนนเพราะชาวบ้านจะเดือดร้อน ผิวถนนเลยไม่เรียบเท่าไหร่เเต่ตนพอใจ เพราะเป็นครั้งเเรกที่บึงกาฬทำเเล้วต่อไปคิดว่าน่าจะทำออกมาสวยขึ้น เช่น อาจจะมีระบบปิดถนนต่างๆ

“ในวันพิธีเปิดถนน ท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีความสนใจมาก เชื่อว่าจะเกิดการส่งเสริมให้ใช้จริงทั่วประเทศ ซึ่งหลังมีเเบบมาตรฐานเรียบร้อยเเล้ว ก็จะมีการให้ความรู้ทั่วประเทศ ก่อนให้ท้องถิ่นนำไปทำ เนื่องจากมีข้อระวังหลักๆ คือ การเข้ากันของปูน ดิน เเละยางพารา เพราะถ้าไม่เข้ากันจะกลายเป็นดินอยู่ที่หนึ่ง ปูนอยู่ที่หนึ่ง ยางพาราอยู่อีกที่หนึ่ง อย่างที่เราทำที่บึงกาฬ ในช่วง 100 เมตรเเรกก็เจอปัญหา เรื่องบุคลากรที่ทำยังไม่ชำนาญ เเต่หลังจากนั้นก็ไม่มีปัญหาเเล้ว” อาจารย์ระพีพันธ์กล่าว

เป็นอันว่าจบ ถนนยางพาราจัดได้ว่ายอดเยี่ยม น่าจับตายิ่งนัก

แต่เรื่องยางพารายังไม่จบ อาจารย์ระพีพันธ์เล่าต่อว่า ยังมีนวัตกรรมเพื่อยางพาราอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมกำจัดกลิ่น เเละสารจับยาง IR ที่สามารถจับน้ำยางพาราที่โดนน้ำให้กลับเป็นก้อนและใช้งานได้อีกครั้ง

อาจารย์ระพีพันธ์กล่าวว่า หลังนำเสนอนวัตกรรมบนเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน ในงานวันยางพาราบึงกาฬ มีคนสนใจเยอะมาก นอกจากที่บูธในงานก็มีคนโทรมาสอบถามที่มหาวิทยาลัยด้วย ยังได้มีการพูดคุยกับทางจังหวัดบึงกาฬเรื่องนวัตกรรมที่เป็นโครงการปีหน้า เรื่องหมอนยางพารา เพราะขณะนี้หมอนยางพาราแทบทุกแห่งมีปัญหาในเรื่องคนแพ้ กับเรื่องกลิ่นยาง ซึ่งทั้ง 2 ปัญหามาจากตัวเดียวกัน คือโปรตีน ที่มาจากวัสดุธรรมชาติ ทุกวันนี้นักวิจัยพยายามสกัดโปรตีนนี้ออก ส่วนใหญ่จะสกัดออกไม่หมด หรือถ้าสกัดออกหมดก็จะไม่คุ้มทุน ทำให้หมอนยางพาราบางเเห่งส่งไปขายโดยบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ไป เเล้วเกิดมีเเบคทีเรียทำให้มีกลิ่นเหม็นเลยถูกส่งกลับมาทั้งหมด

“ผมเลยมาคิดใหม่แก้ปัญหาด้วยการสกัดพวกเเบคทีเรีย หรือไมโครเบียล ที่เป็นอาหารของโปรตีน เลยนำเทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนที่ทำอยู่มาใช้เป็นการก่อกวนการกินอาหารของโปรตีน ทำให้โปรตีนโตไม่ได้ก็จะตาย จะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่น เเล้วยังทำให้เป็นหมอนปลอดเชื้อ หมอนนาโนเทคโนโลยี เหมาะกับตลาดที่ต้องการรักษาความสะอาด เช่น โรงพยาบาล โรงเเรม ที่ต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเเละต้องการรักษาความสะอาด ดังนั้น หมอนบึงกาฬในอนาคตจะเป็นหมอนพรีเมียม โดยมีต้นทุนไม่เกิน 20 ของราคาวัตถุดิบทั้งหมด โดยคาดว่าหมอนต้นเเบบจะเสร็จในงานวันยางพาราบึงกาฬครั้งต่อไปเเน่นอน” ผศ.ดร.ระพีพันธ์กล่าว

นี่คือคำยืนยันจากอาจารย์ระพีพันธ์ ว่าจะไม่หยุดวิจัย และจะเดินหน้าต่อ ไม่พูดลอยๆ ทำให้ได้ใช้กันจริงๆ ฟังแล้วน่าชื่นใจครับ