ราชมงคลสุวรรณภูมิ สนองพระราชดำริ อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช

การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชากรในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง พันธุกรรมพืชถือเป็นทรพัยากรที่มีค่าและมีความสำคัญต่อการปรับปรุงพันธุ์พืชในอนาคต ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางพันธุกรรมของทรัพยากรเหล่านี้อาจจะสูญหายไป เนื่องมาจากการไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่รู้ของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรงมีพระราชดำริให้เลขาธิการ ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณโดยสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในพื้นที่โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา

ผศ. ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลชสุวรรณภูมิ (มทร.    สุวรรรภูมิ) กล่าวว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการขยายตัวของสังคมเมือง ส่งผลให้พืชในท้องถิ่นถูกทำลาย ถูกละเลย และอาจสูญหายไปทั้งชนิดพันธุ์พืช และภูมิปัญญาในการนำพืชเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์จากพันธุ์พืชต่างๆ กันอย่างมากมาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสำคัญ เป็นสิ่งยืนยันพระราชดำริที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ก่อนที่ทั่วโลกเริ่มจะตื่นตัวสืบเนื่องมาจากการไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติ นั่นคือความหลากหลายทางชีวภาพที่ทั่วโลก ณ ปัจจุบัน ล้วนตระหนักถึงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

มทร.สุวรรณภูมิ เป็นสถาบันการศึกษาหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริในการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ที่มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้และบุคลากรในสาขาต่างๆ มากมาย ด้วยจุดแข็งของมหาวิทยาลัยนี้จะเป็นที่พึ่งของชุมชนหรือหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ.ในงานสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานตามกรอบแนวทางของ อพ.สธ. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการนำไปใช้ประโยชน์ เป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ พันธุกรรมพืชแก่ เยาวชน บุคคลทั่วไปให้มีความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญเกิดความปิติ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์พืชพรรณของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป

โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะศิลปศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ จัดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กิจกรรมสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากร อบรมเชิงปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น 9 ใบงาน ร่วมกับชุมชนสำรวจและรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ในการอบรมเชิงปฏิบัติการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น 9 ใบงาน ประกอบไปด้วย ใบงานที่ 1 เรื่อง การเก็บข้อมูลพื้นฐานในท้องถิ่น ใบงานที่ 2 เรื่อง การเก็บข้อมูลการประกอบอาชีพในท้องถิ่น ใบงานที่ 3 เรื่อง การเก็บข้อมูลด้านกายภาพในท้องถิ่น ใบงานที่ 4 การเก็บข้อมูลประวัติหมู่บ้าน ชุมชน วิถีชุมชน ใบงานที่ 5 เรื่อง การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของพืชในท้องถิ่น ใบงานที่ 6 เรื่อง การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของสัตว์ในท้องถิ่น ใบงานที่ 7 เรื่อง การเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ของ ชีวภาพอื่นๆ ในท้องถิ่น ใบงานที่ 8 เรื่อง การเก็บข้อมูลภูมิปัญญาในท้องถิ่น และใบงานที่ 9 เรื่อง การเก็บข้อมูลแหล่งทรัพยากรและโบราณคดีในท้องถิ่น ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 20 ตำบลหนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี