ทำเกษตรแบบครบวงจร เลี้ยงแพะ ปลูกผัก ใช้ประโยชน์จากมูลแพะทำปุ๋ย รับทรัพย์อย่างเดียว

จะกี่ยุคกี่สมัย อาชีพเกษตรกรรมก็ยังเป็นอาชีพที่ยั่งยืนและตอบโจทย์วิถีชีวิตคนไทยได้เสมอ การเป็นเกษตรกรถึงอาจจะไม่ได้ทำให้ร่ำรวย แต่อย่างน้อยก็ทำให้หลุดพ้นจากความหิวโหยได้ อาชีพเกษตกรรมไม่ได้แบ่งชนชั้นการศึกษา จะเรียนจบ ป.1 หรือเรียนจบด็อกเตอร์ ก็สามารถเป็นเกษตรกรได้เหมือนกัน อาศัยเพียงความมีใจรัก ความขยันอดทน มุ่งพัฒนาหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะประสบความสำเร็จจากอาชีพเกษตรกรรมได้ไม่ยาก

คุณวาสนา ภู่ทับทิม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดนราธิวาส ต้นแบบเกษตรกรแบบครบวงจร อยู่บ้านเลขที่ 72/3 หมู่ที่ 5 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ตนเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสทางการศึกษาน้อยแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะความรู้หาได้ทุกที่ไม่จำกัดว่าต้องศึกษาแค่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น ตนเลือกที่จะออกมาศึกษานอกโรงเรียน เพราะรู้เป้าหมายของตัวเองแล้วว่าจะเดินทางสายเกษตร จึงมุ่งเน้นศึกษาตามศูนย์การเรียนรู้ ได้ลองลงมือปฏิบัติจริง อย่างที่ในเขตตำบลกะลุวอเหนือที่อาศัยอยู่จะมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตนก็เข้าร่วม มีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรทุกด้าน ตั้งแต่ประมง ปศุสัตว์ และการปลูกพืช

คุณวาสนา ภู่ทับทิม ต้นแบบเกษตรกรแบบครบวงจร 

เริ่มต้นจากการเลี้ยงแพะ พัฒนาต่อยอด
เป็นเกษตรผสมผสาน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เอื้อประโยชน์กัน

จากที่ได้ศึกษาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ คุณวาสนา เล่าว่า มีโอกาสได้เรียนรู้การทำเกษตรหลายด้าน แต่ที่ถูกใจและเริ่มทำเป็นสิ่งแรกคือ ปศุสัตว์ เป็นการเลี้ยงแพะ ไปเห็นคนอื่นเลี้ยงแล้วเกิดความสนใจ คิดว่าน่าจะเลี้ยงง่าย ประกอบกับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถือศาสนาอิสลามกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ นิยมบริโภคเนื้อแพะ และนิยมนำแพะมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงมองเห็นโอกาสสร้างตลาด คิดว่าน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเดินทางสายนี้

คุณวาสนา เล่าต่อว่า เมื่อเริ่มต้นได้แล้วว่าจะเลี้ยงแพะจึงเริ่มติดต่อกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เพื่อขอลูกพันธุ์แพะมาเลี้ยง ซึ่งในตอนนั้นที่บ้านมีพื้นที่ว่างประมาณ 8 ไร่ เลี้ยงแพะอย่างเดียวคงไม่เหมาะ จึงคิดที่จะทำเกษตรผสมผสานเพิ่ม เพื่อตัดวงจรเกษตรเชิงเดียว เมื่อเกิดปัญหาราคาตกจะแย่ไปด้วย และอยากทำให้ครบวงจรเพื่อลดต้นทุนการผลิต

“เลี้ยงสัตว์ สัตว์ให้มูล นำมูลมาหมักเป็นปุ๋ย แล้วนำปุ๋ยไปเลี้ยงพืชต่อ จะเป็นเหมือนวงจร เมื่อพืชโตคนเลี้ยงได้กินได้เลี้ยงตัวเอง คนเลี้ยงก็ไปเลี้ยงแพะต่อประโยชน์เอื้อกันเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ” คุณวาสนา กล่าวถึงแนวคิดการทำเกษตรแบบครบวงจร

 

ทำเกษตรแบบครบวงจร ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

ลักษณะการทำเกษตรผสมผสาน และการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตร คุณวาสนา อธิบายว่า ทำเกษตรบนพื้นที่ 8 ไร่ แปลงที่ 1 อยู่ติดกับบริเวณที่อาศัยเป็นผืนใหญ่ติดกันกว่า 5 ไร่ พื้นที่ตรงนี้ใช้เลี้ยงแพะ ปลูกผักผลไม้แบบผสมผสาน แปลงที่ 2 อยู่ถัดไปจากบ้านไม่ไกลมาก อีกจำนวน 3 ไร่ ใช้ปลูกหญ้าซิกแนลเลื้อย ไว้ใช้เป็นอาหารสำหรับแพะ

ในส่วนของการจัดสรรทรัพยากรภายในสวนให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด มีดังนี้

  1. พื้นที่สำหรับเลี้ยงแพะ จำนวน 17 ตัว เลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย แต่ส่วนมากจะตัดหญ้าให้กินมากกว่า จะปล่อยให้เดินหาอาหารเองเป็นบางครั้ง เน้นให้หญ้าซิกแนลที่ปลูกไว้เป็นหลัก อาหารเสริมให้บ้างเล็กน้อย เพราะหญ้าซิกแนลที่ปลูกไว้ จำนวน 3 ไร่ มีเพียงพอไว้เป็นอาหารแพะตลอดทั้งปี หญ้าซิกแนล คือ หญ้าสำหรับปลูกให้สัตว์กิน เป็นหญ้าเลื้อย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ลุ่ม ทนน้ำท่วม เหมาะกับการปลูกในภาคใต้ ปลูกครั้งเดียวเก็บได้ตลอด เพราะฉะนั้นต้นทุนการเลี้ยงแพะจึงมีไม่มาก มีเพียงค่าน้ำมันตัดหญ้าเล็กน้อย ส่วนราคาแพะที่ขายได้ กิโลกรัมละ 150 บาท 1 ตัว ตกตัวละ 4,000-5,000 บาท
  2. นำมูลแพะมาทำปุ๋ยหมัก ไปเลี้ยงพืช ในมูลแพะจะมีความเค็ม ช่วยในการร่วนซุยของดิน วิธีการคือ นำมูลแพะหมักกับหญ้าแห้งที่ตัดมาแล้วเป็นเศษ นำมาหมักรวมกัน ทำเป็นชั้นสลับหญ้าแห้งกับมูลแพะ ใช้วิธีรดน้ำคงความชื้น ดูจนว่าปุ๋ยย่อยสลายได้ดีแล้วก็ถือว่าใช้ได้
  3. นำปุ๋ยมูลแพะใช้เป็นปุ๋ยรดผัก สามารถนำมาใส่พืชผักภายในสวนได้ทุกชนิด ทั้งผักปลูกกินเองในครัวเรือน รวมถึงผักปลอดสารพิษที่ปลูกขายทั้ง แตงโม พริก ผักบุ้ง แตงกวา ผักสวนครัว ช่วยประหยัดงบประมาณค่าปุ๋ยได้เกือบทั้งหมด และมูลแพะมีส่วนช่วยทำให้พืชหวาน อย่างที่สวนจะปลูกแตงโมสายพันธุ์ตอร์ปิโด และสายพันธุ์โบอิ้ง ปีละ 2 ครั้ง ผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจ รสชาติของแตงโมจะหวานกว่าที่อื่น

    ปล่อยแพะออกหาอาหารกินเองเป็นบางครั้ง

วิธีการดูแล

การดูแลระบบน้ำและการให้ปุ๋ย คุณวาสนา บอกว่า ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน เน้นประหยัดแรงงานและเวลา โดยระบบน้ำที่ให้คือ เจาะน้ำบาดาล แล้วใช้มอเตอร์สูบน้ำรดไปตามสายยางน้ำพุ่ง ซึ่งจะผสมปุ๋ยที่หมักเองผสมไปพร้อมกับตอนรดน้ำ โดยสูตรปุ๋ยที่หมักใส่ไปพร้อมน้ำ จะมีเศษปลาหมัก ขี้วัวหมัก นำไปหมักทิ้งไว้ 3-4 เดือน หลังจากนั้น เอามาผสมในถัง 200 ลิตร ใช้ปุ๋ยหมัก ประมาณ 20 ลิตร แล้วเทใส่ในถัง ปล่อยร่วมกับน้ำ ส่วนปุ๋ยคอกจากมูลแพะจะให้ตอนเตรียมดินครั้งแรก พอหลังจากปลูกจะใช้วิธีให้น้ำพร้อมปุ๋ยแบบนี้ จะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน เพราะตนทำสองคนกับสามี

แปลงปลูกผักบุ้งปลอดสารพิษ สีเขียวขจี

โรคแมลง

ที่สวนไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคแมลง เพราะปลูกพืชสลับหมุนเวียน และอีกเหตุผลที่แมลงไม่มารบกวนคือ การรักษาระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด ผักที่ปลูกเป็นผักปลอดสาร ดังนั้น จะไม่มีการใช้สารเคมีไปทำลายระบบนิเวศ เมื่อระบบนิเวศสมบูรณ์ ธรรมชาติจะวิ่งเข้ามาหาเอง ที่สวนจะมีตัวห้ำ ตัวเบียน ที่เป็นแมลงดีคอยกำจัดแมลงร้าย ถือเป็นวิธีใช้ธรรมชาติกับจัดธรรมชาติที่ได้ผลดีมากๆ

 

ผลิตผักผลไม้อินทรีย์ ได้ผลดี รสชาติถูกใจลูกค้า

คุณวาสนา บอกว่า ตอนนี้ปลูกแตงโมเป็นพืชหลัก สร้างรายได้ 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบ ปลูกรอบละ 4 ไร่ แตงโมเป็นพืชอายุสั้น 55-60 วัน เก็บผลผลิตได้ ปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นลูกค้าที่มาซื้อไม่ต้องกลัวเรื่องคุณภาพความปลอดภัย ความหวานของแตงโมที่สวนจะหวานธรรมชาติ หวานด้วยปุ๋ยมูลแพะที่ใช้ดูแล และมีขนาดผลที่ใหญ่ ลูกละ 2 กิโลกรัม ขึ้นไป ที่ใต้จะนิยมรับประทานแตงโมผลใหญ่ จึงขายได้ราคาดีตลอด ราคาขายหน้าสวน กิโลกรัมละ 20 บาท ขายไม่ต่ำกว่านี้ ถึงแม้ราคาตลาดจะขาย กิโลกรัมละ 10-12 บาท แต่ที่สวนยังขายราคาเดิม เพราะมั่นใจในคุณภาพ และรสชาติ กล้าการันตีแตงโมที่ออกจากที่นี่ จะต้องมีโลโก้ของสวนติดไปทุกลูก ที่ผ่านมาลูกค้าที่เคยซื้อต้องกลับมาซื้อซ้ำตลอด

ปลูกเอง ขายเอง ได้ราคาดี กิโลกรัมละ 20 บาท

ส่วนพืชผักชนิดอื่นจะเก็บขายส่งตลาดสดในเมือง มีเท่าไรก็ไม่พอขาย เพราะพืชผักส่วนใหญ่ที่ขายในนราธิวาสจะไม่ได้มาจากนราธิวาส จะมาจากพื้นที่ใกล้เคียง เพราะฉะนั้นถ้าเราทำได้เท่าไร เราสามารถเก็บผลผลิตส่งแม่ค้าได้ตลอด แต่จะมีการวางแผนปลูกพืชเล็กน้อย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ดูตรงช่วงไหนผักชนิดใดราคาแพง จะปลูกผักชนิดนั้นมากหน่อย

ต้นทุนกับรายได้ คิดเป็น รายจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของค่าซื้ออุปกรณ์ทำการเกษตร สายยางรดน้ำ ค่าน้ำมันเครื่องตัดหญ้า รายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ มาจากการขายแตงโม พริก ผักบุ้ง แตงกวา และผักสวนครัว ที่ปลูกหมุนเวียนสร้างรายได้ตลอดทั้งปี มีรายได้ทุกวันจากการขายผักบุ้ง พริก แตงกวา สลับกัน รายได้ประจำปี มาจากการขายแพะและวัวปีหนึ่งสร้างรายได้ ประมาณ 50,000-60,000 บาท รายได้จากการขายแตงโม 2 รอบ รอบละ 80,000 บาท ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ แล้วกับสายที่เลือกเดินสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ มีกิน มีใช้ มีเก็บ มีอิสระในการใช้ชีวิต และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก

พริกชี พืชสร้างรายได้ดี ตลาดต้องการสูง กิโลกรัมละ 80-150 บาท

ฝากถึงเกษตรกรรุ่นใหม่

“การทำเกษตร ถ้าใครที่สนใจให้ดูว่าในภูมิลำเนามีทรัพยากรอะไรบ้าง แล้วให้ศึกษาให้ดีว่าจะทำอะไร ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน คืออย่าไปทำตามคนอื่น อย่างที่ผ่านมา อะไรที่เป็นกระแสก็อย่าไปทำตาม ให้ทำในลักษณะของเกษตรผสมผสาน อย่าทำแบบเชิงเดี่ยว เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่มากกว่าทำสวน แต่ไม่ดูตัวเองว่าพร้อมไหม สภาพพื้นที่เหมาะไหม อยากให้วิเคราะห์ตรงนี้ก่อนแล้วค่อยทำ” คุณวาสนา กล่าวทิ้งท้าย

สนใจเรียนรู้การทำเกษตรครบวงจรกับ คุณวาสนา ภู่ทับทิม สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 081-678-6887

กองปุ๋ยหมักมูลแพะ
พืชผักอีกหลายชนิดช่วยสร้างรายได้
นักเรียนมาศึกษาดูงาน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354