เพาะพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี อนุรักษ์กล้วยไม้ท้องถิ่น สร้างอาชีพให้ชุมชน

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 17 ชนิด ล้วนอยู่ในสกุล paphiopedilum spp. มีชื่อสามัญว่า Lady slipper orchid ชื่อไทยว่า “รองเท้านารี” ที่เรียกชื่อดังนี้ เนื่องจากดอกมีลักษณะขอบปากงองุ้มเข้าหากัน คล้ายหัวรองเท้าของชาวดัตช์ การที่ดอกมีรูปทรงแปลกตาและสามารถใช้เป็นไม้ประดับได้ จึงได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างแพร่หลาย กล้วยไม้รองเท้านารีจึงจัดเป็นพืชที่มีศักยภาพชนิดหนึ่งทางการตลาด

การที่กล้วยไม้รองเท้านารีได้รับความนิยมในการปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการลักลอบเก็บออกจากป่าเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ป่าไม้ก็ถูกทำลายลง ทำให้ปริมาณของกล้วยไม้รองเท้านารีจากแหล่งธรรมชาติลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งกล้วยไม้รองเท้านารีจัดเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่กำลังสูญพันธุ์ หรือที่เรียกว่า อนุสัญญาไซเตส (CITES Appendix I) ซึ่งควบคุมไม่ให้มีการส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ที่เก็บจากป่า ยกเว้นพืชอนุรักษ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียมเท่านั้น หากมีการปลูกเลี้ยงหรือจำหน่ายต้องจดทะเบียนพืชอนุรักษ์และจดทะเบียนสถานที่ปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์พืชอนุรักษ์กับกรมวิชาการเกษตร

กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่

ในปี พ.ศ. 2549-2552 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ในภาคใต้ ให้กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับเปลี่ยนมาเป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง กองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร ผลจากการศึกษาวิจัยสามารถค้นพบสูตรอาหารสังเคราะห์และวิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีในสภาพปลอดเชื้อ ให้ได้ปริมาณมากในระยะเวลา 9 เดือน และทำการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีในภาคใต้ 8 ชนิด ด้วยการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ และปัจจุบันห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์กับสำนักคุ้มครองพันธ์พืช กรมวิชาการเกษตร เลขทะเบียนที่ P-TH-000294

กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง จึงทำการเพาะพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีทั้ง 8 ชนิด เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีและเกษตรกรที่สนใจ ได้มีต้นกล้ากล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถนำต้นกล้ากล้วยไม้เหล่านั้นไปจำหน่ายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

กล้วยไม้รองเท้านารี 8 ชนิด ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์ ได้แก่

  1. กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ (Paphiopedilum exul)

ถิ่นกำเนิด มีการกระจายพันธุ์แถบชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกทางภาคใต้ของไทย เช่น จังหวัดกระบี่ พังงา และภูเก็ต ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 50 เมตร

ลักษณะทั่วไป มีการเจริญเติบโตแบบพืชอาศัยบนดิน หรือตามซอกหิน

ต้น มีพุ่มใบ ขนาด 30-35 เซนติเมตร

ใบ รูปแถบ กว้าง 3-3.35 เซนติเมตร ยาว 30-35 เซนติเมตร แผ่นใบหนาสีเขียว เป็นมัน ไม่มีลาย

ดอก เป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกสีเขียว ยาว 13-15 เซนติเมตร และมีขนสั้น สีม่วงแดงปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาด 6-6.5 เซนติเมตร กลีบเป็นมันงุ้มมาด้านหน้า กลีบนอกบนมีขอบสีขาว กึ่งกลางมีสีเหลืองอมเขียว และแต้มสีน้ำตาลเข้ม กลีบนอกล่างขนาดใกล้เคียงกับกลีบนอกบน แต่มีสีเขียว กลีบดอกสีเหลืองอมน้ำตาล กึ่งกลางกลีบมีเส้นสีน้ำตาลเรื่อ โคนกลีบมีแต้มและขนยาวสีน้ำตาลเข้มปกคลุมกระเป๋า สีเหลืองอมน้ำตาล โล่สีเหลือง รูปทรงคล้ายรูปหัวใจกลับหรือไม่กลับ ผิวขรุขระ กึ่งกลางมีติ่งเล็กๆ สีเหลืองเข้ม ด้านบนหยักเป็นร่อง ด้านล่างหยักเป็นเขี้ยว

ฤดูออกดอก เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นสูง และแสงค่อนข้างมาก เมื่อต้นที่สมบูรณ์ จะให้ดอกและแตกหน่อได้ดี

  1. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล (Paphiopedilum niveum)

ถิ่นกำเนิด มีการกระจายพันธุ์ในมาเลเซียและไทย ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 200 เมตร

ลักษณะทั่วไป มีการเจริญเติบโตแบบพืชอิงอาศัย

ต้น เจริญเป็นกลุ่ม มีพุ่มใบ ขนาด 15-18 เซนติเมตร

ใบ รูปรี กว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 15-17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นลายตารางสีเขียวเข้มสลับเขียวเทา ใต้ใบมีจุดม่วงแดง กระจายหนาแน่น

ดอก เป็นดอกเดี่ยว มี 1-3 ดอก ต่อช่อ ก้านช่อดอกตั้งตรง สีม่วงแดง ยาว 15-17 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่เป็นรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร กลีบหนางุ้มมาด้านหน้า กลีบนอกบน กลีบดอกและกระเป๋ามีสีขาว โคนกลีบมีจุดประสีม่วงเข้มเล็กน้อย โล่สีขาว รูปทรงคล้ายรูปไต กึ่งกลางเป็นร่องและมีแต้มสีเหลืองเข้ม

ฤดูออกดอก เดือนเมษายน-สิงหาคม

ลักษณะนิสัย ปลูกเลี้ยงง่าย ชอบความชื้นสูง และออกดอกเมื่อต้นสมบูรณ์เต็มที่

กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Paphiopedilum angthong)

คาดว่าเป็นลูกผสมของกล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลและกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรังที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีการกระจายพันธุ์บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใต้ใบมีสีเขียว หรือสีแดงเรื่อ มีดอกสีขาว และจุดประม่วงบนกลีบ คล้ายกล้วยไม้รองเท้านารีขาวชุมพร

ฤดูออกดอก สามารถออกดอกได้ตลอดปี

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นสูง แสงมาก

กล้วยไม้รองเท้านารีขาวชุมพร
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวชุมพร (Paphiopedilum godefroyae)

ถิ่นกำเนิด เป็นกล้วยไม้รองเท้านารีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเท่านั้น โดยมีการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ บริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร

ลักษณะทั่วไป มีการเจริญเติบโตแบบพืชอาศัยบนดิน หรือตามซอกผาหิน

ต้น มีพุ่มใบ ขนาด 15-18 เซนติเมตร

ใบ รูปแถบถึงรูปขอบขนาน แผ่นใบเป็นลายหินอ่อนสีเขียวเข้ม สลับเขียวเทา ใต้ใบมีจุดประสีม่วงแดง หนาแน่น

ดอก เป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกตั้งตรง สีม่วงแดงเรื่อ ยาว 10-12 เซนติเมตร และมีขนสั้นปกคลุม เมื่อดอกบานเต็มที่ใบเป็นรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร กลีบหนางุ้มมาด้านหน้า กลีบนอกบนและกลีบดอกมีสีขาวนวล มีแต้มสีม่วงแดงกระจายทั่ว กระเป๋ามีสีขาวนวล มีจุดประสีม่วงแดงเล็กน้อย โล่สีขาวนวล และมีจุดประสีม่วงแดง รูปทรงคล้ายรูปไต กึ่งกลางมีแต้มสีเขียวหรือสีเหลือง ด้านบนหยักเป็นร่องเล็กน้อย ด้านล่างเป็นติ่งแหลม

ฤดูออกดอก เดือนเมษายน-สิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นในอากาศสูงและค่อนข้างร่ม ดอกจะบานได้นาน และระบบรากตอบสนองต่อปริมาณเกลือที่สะสมในเครื่องปลูกได้เร็ว ควรเปลี่ยนเครื่องปลูกและกระถางทันทีเมื่อรากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง (Paphiopedilum godefroyae var. leucochilum)

ถิ่นกำเนิด พบตามป่าเขาหินปูนทางภาคใต้ที่ใกล้น้ำทะเลจนถึง 150 เมตร พบตามหมู่เกาะฝั่งตะวันตกของภาคใต้ บริเวณจังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่

ลักษณะทั่วไป เป็นกล้วยไม้ดิน

ใบ รูปขอบขนาน กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีลายสีเขียวอ่อน หลังใบมีประสีม่วง

ดอก ก้านช่อดอกสูง 5-7 เซนติเมตร จำนวน 1-2 ดอก ต่อช่อ ดอกบานเต็มที่กว้าง 7.5-8 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีจุดประสีม่วงคล้ำ กลีบกระเป๋าสีขาวนวล

ฤดูออกดอก เดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นปานกลาง ค่อนข้างร่ม

กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบใต้
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบใต้ (Paphiopedilum callosum)

ถิ่นกำเนิด พบตามป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 500-1,300 เมตร

ใบ รูปขอบขนาน กว้าง 3-3.5 เซนติเมตร ยาว 15-18 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนลาย หลังใบสีเขียวอ่อน

ดอก ดอกเดี่ยว ขนานบานเต็มที่ กว้าง 6-8 เซนติเมตร ก้านดอกตั้งสูง 25-30 เซนติเมตร กลีบบนแผ่กว้างสีขาว และมีขีดสีเขียวแกมม่วงแดงตามยาวกลีบ ขอบกลีบมีตุ่มสีน้ำตาลเข้มเป็นมัน และมีขน กลีบกระเป๋าสีม่วงแดงแกมน้ำตาล

ฤดูออกดอก เดือนมีนาคม-เมษายน

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นสูงแสงน้อย

กล้วยไม้รองเท้านารีม่วงสงขลา
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีม่วงสงขลา (Paphiopedilum barbatum)

ถิ่นกำเนิด พบที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

ลักษณะทั่วไป กลีบดอก มักมีไฝน้อย แต่มีสีเข้มกว่ากล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ

ฤดูออกดอก เดือนมีนาคม-เมษายน

กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงา
  1. กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงา (Paphiopedilum thaianum)

ถิ่นกำเนิด พบบริเวณเขาหินปูน จังหวัดพังงา

ฤดูออกดอก เดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ลักษณะนิสัย ชอบความชื้นปานกลาง แสงมาก

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563