ทรายแมว จากผักตบชวา ไอเดียรักษ์โลก ของนิสิต ม.เกษตร

เมื่อกลางปี 2562 มีการเก็บข้อมูลการระบาดทางน้ำของผักตบชวาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลำน้ำมากมายหลายสาย เป็นทั้งทางไหลผ่านของน้ำ และเป็นเส้นทางคมนาคม

หรือแม้กระทั่ง ลำน้ำในจังหวัดต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของผักตบชวา

นางสาวนิรมล ตั้งเจริญ อธิบายขั้นตอนการทำทรายแมวจากผักตบชวา

จากการสำรวจข้อมูลเชิงนิเวศ พบว่า ผักตบชวา มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก สะสมมวลชีวภาพได้สูงถึง 20 กรัม น้ำหนักแห้งต่อตารางเมตรต่อวัน โดยมีอัตราการเจริญเติบโตสัมพัทธ์สูงสุดเท่ากับ 1.50 เปอร์เซ็นต์ ต่อวัน ถ้าปล่อยให้เติบโตในแหล่งน้ำ

หากจะคำนวณง่ายๆ พิจารณาจากลำต้นสด หนัก 500 กรัม ต่อตารางเมตร ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเศษ พบว่า ผักตบชวา สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ให้มวลชีวภาพสูงถึง 40,580 กรัม น้ำหนักสดต่อตารางเมตร และในระยะเวลา 1 ปี ผักตบชวาจะเจริญเติบโตให้มวลชีวภาพสูงอยู่ในช่วง 717 ตันน้ำหนักแห้งต่อไร่ โดยจะเติบโตสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน และต่ำสุดในช่วงเดือนมกราคม

คณะผู้วิจัยรุ่นเยาว์ กับอาจารย์ที่ปรึกษา

การแผ่กอขยายเต็มลำน้ำของผักตบชวา จะลดการไหลของน้ำลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญส่วนต่างๆ ของผักตบชวาที่จมลงใต้น้ำ จะก่อให้เกิดอุปสรรคกับการระบายน้ำของฝาย ประตูระบาย และอื่นๆ ทำให้ทางเดินของน้ำเกิดการตื้นเขินเร็วกว่าปกติ และน้ำจะท่วมในหน้าน้ำ แย่งเนื้อที่การเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ จนเก็บรักษาน้ำได้น้อยลง ทั้งยังแย่งน้ำและอาหารของพืชที่ปลูก

นางสาวธัญรัตน์ เกาะเกตุ โชว์ผงผักตบชวาละเอียดที่ผสมกับแป้งข้าวโพดแล้ว

ที่เอ่ยถึงปัญหาจากผักตบชวามามากมาย ก็เพราะตอนนี้ ผักตบชวา สามารถนำมาแปรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีราคา ในต้นทุนที่ไม่สูง และผู้ใช้งานสามารถผลิตได้เอง

กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 4 ของคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวธนฉัตร ศิริพานิชการ นางสาวธัญญรัตน์ เกาะเกตุ นางสาวนิรมล ตั้งเจริญ นางสาวปิ่นมณี ดอนจันทร์เยี่ยม นางสาวภัทรมน ภัทรวัฒนาภรณ์ และ นางสาวฮัซซูนา สาเหล็ม

นางสาวธนฉัตร ศิริพานิชกร และนางสาวภัทรมน ภัทรวัฒนาภรณ์ (จากซ้ายไปขวา)

ทั้งหมด กลั่นกรองไอเดียขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับโปรเจ็กต์ก่อนจบการศึกษา

แนวคิดเริ่มขึ้น เมื่อเห็นโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ทรายแมวจากวัสดุธรรมชาติหลายชนิดมาใช้ อาทิ ซังข้าวโพด เต้าหู้ และฟางข้าว

แท่งผักตบชวา เมื่อปอกเปลือกออกแล้ว

นางสาวนิรมล เล่าว่า ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ทรายแมวชนิดที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้ และใช้ดูดซับปัสสาวะและอุจจาระจากแมวนั้น มีราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้วิจัยจึงศึกษาค้นคว้าบทความเกี่ยวกับผักตบชวา พบว่า โครงสร้างภายในลำต้นของผักตบชวาเป็นรูพรุน ลักษณะคล้ายฟองน้ำ และคาดว่าน่าจะดูดซับสิ่งปฏิกูลได้ จากปัญหาและเหตุผลดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้วิจัยมีความคิดต้องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากผักตบชวา เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน คือ ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อัดเป็นแท่งแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ พร้อมใช้งาน

นางสาวฮัซซูนา อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากผักตบชวา มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ขั้นแรกต้องเลือกผักตบชวาจากแหล่งน้ำที่ไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่ทำการเกษตร เลือกเฉพาะส่วนลำต้น แล้วนำไปล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำมาปอกเอาเปลือกด้านนอกของลำต้นออก นำลำต้นด้านในที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำมาปั่นให้ละเอียดโดยการผสมน้ำ จากนั้นคั้นน้ำออกให้มากที่สุด ขั้นต่อไปนำผักตบชวาที่คั้นน้ำออกแล้วมาผสมกับแป้งข้าวโพดและสารละลายโซเดียมเบนโซเอต ผสมให้เข้ากันและอัดเข้าแม่พิมพ์ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

นางสาวปิ่นมณี บอกว่า การทำทรายแมวจากผักตบชวา ใช้เวลาทำประมาณ 2 วัน เพราะแต่ละขั้นตอนใช้การทำมือเองทั้งหมด หากใช้ผักตบสด น้ำหนัก 3 กิโลกรัม จะผลิตทรายแมวได้ประมาณ 1 กิโลกรัม ส่วนต้นทุนการผลิต กลุ่มคำนวนไว้ที่ 30 บาท ต่อกิโลกรัม หากผลิตแล้วนำไปจำหน่ายจะจำหน่ายได้ราคาเกือบ 100 บาท ต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ การผลิตทรายแมวจากผักตบชวา กลุ่มนักวิจัยรุ่นเล็ก ระบุว่า ด้วยผักตบชวาเป็นพืช เมื่อนำมาเป็นวัสดุหลักในการผลิต จะมีกลิ่นเขียวจากพืชออกมา ซึ่งไม่จรรโลงใจนัก จึงแก้ปัญหาด้วยการใส่กลิ่นน้ำมันหอมระเหย หรือกลิ่นดอกไม้เข้าไปด้วย เพื่อกลบกลิ่นเขียวและสดชื่นสำหรับผู้ใช้

เลือกผักตบชวาจากแหล่งน้ำที่ไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่ทำการเกษตร

นางสาวนิรมล กล่าวด้วยว่า ประโยชน์จากการทำทรายแมวจากผักตบชวาครั้งนี้ สามารถลดจำนวนของผักตบชวาในแหล่งน้ำได้ สามารถใช้แทนทรายแมวที่ขายในท้องตลาดได้ สามารถลดต้นทุนการซื้อได้ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของแมวและแมว

นำมาปอกเปลือกออก

ส่วนการผลิตเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาด กลุ่มนักวิจัยรุ่นเยาว์ บอกว่า หากต้องผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อาจต้องคำนวนเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องการผลิต แต่หากท่านใดสนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ในวัน และเวลาราชการ

นำมาปั่นให้ละเอียดแล้วคั้นน้ำออก
อัดใส่แม่พิมพ์แล้วนำไปตากแห้ง หั่นเป็นชิ้นขนาดพอเหมาะ