สถาบันเกษตรกรทั่วไทยแห่ขอตั้งโรงงานน้ำยางข้นทำแก้มลิงสต๊อก

สถาบันเกษตรกรทั่วไทย แห่ขอตั้งโรงงานน้ำยางข้น รองรับสต๊อกเวลายางราคาต่ำ “จีน” ยังออร์เดอร์ยางตามปกติ ระบุ “ยางใบร่วง” ระบาดหนัก พันธุ์ “251”

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางเครือข่ายสถาบันได้ยื่นหนังสือถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ในการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น และซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำยางข้น 5 หัวปั่น ประมาณ 140 ล้านบาท เพื่อสต๊อกน้ำยางสดแปรรูปเป็นน้ำยางข้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำยางสดราคาตกต่ำ โดยจะทำเป็นแก้มลิงเก็บสต๊อกแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ซึ่งสามารถกักเก็บไว้ได้นาน โดยใช้เนื้อที่ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

“กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง ประกอบด้วย จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พังงา และ จ.ภูเก็ต จะดำเนินการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น โดยให้ จ.พัทลุงนำร่องก่อน เพราะมีความพร้อมทั้งหมด ทั้งที่ดินที่ตั้งโรงงานจำนวน 54 ไร่ ใบอนุญาตตั้งโรงงาน และอื่น ๆ อีกจำนวน 13 รายการ พร้อมแล้ว”

นายไพรัชกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน จ.พัทลุงได้ส่งออกน้ำยางสดไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น จ.สงขลา ประมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 กก./วัน หรือประมาณ 100 ตัน และสำหรับทางภาคใต้ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางยังไม่มีโรงงานแปรรูปน้ำยางข้น เพราะเงินลงทุนค่อนข้างสูงมาก ยกเว้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพียง 1 แห่ง โดยแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น หมอนยางพารา ฯลฯ

“ก่อนหน้านั้น กลุ่มเกษตรกรดำเนินการยื่นของบประมาณมาหลายครั้งแล้ว เพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นของสถาบันเกษตรกร แต่เรื่องไม่ผ่านความเห็นชอบ และบางครั้งได้รับความเห็นชอบ แต่ให้สถาบันเกษตรกรออกเงินทุนสมทบ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีเงินทุน จึงไม่ผ่านเช่นกัน”

นายไพรัชกล่าวอีกว่า โรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นจะเป็นแก้มลิงเก็บสต๊อกยางไว้เมื่อยางราคาตกต่ำ และเมื่อราคาดีก็จะขายเป็นน้ำยางสด สำหรับน้ำยางข้นก็สามารถออกขายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นมีแต่เติบโตขยายตัว และจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพารา

แหล่งข่าวจากสถาบันเกษตรกรยางพาราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นที่เชียงราย ซึ่งเป็นตลาดกลางยางพารา ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนเชื่อมสู่ประเทศจีน และ สปป.ลาว รวมถึงกำลังดำเนินการออกแบบฟอร์มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถนำยางพารามาทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำถนนพาราซอยส์ซีเมนต์ไปประมาณ 30 สายแล้ว

“สำหรับตลาดซื้อขายยางพารา ประเทศจีน ยังมีออร์เดอร์มา เพราะตลาดจีนยังต้องการปริมาณมาก วันก่อนทำสัญญา 500 ตัน ยางเอสทีอาร์ที่คงค้างสต๊อกภายในของกลุ่ม ประมาณ 1,500 ตัน ทาง จ.ภาคเหนือ”

นายสนั่น ภิวัฒนกุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านหนองปด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวถึงกรณีที่ได้เกิดโรคใบยางพาราร่วงระบาดในหลายจังหวัดภาคใต้ และขณะนี้มาถึงที่หมู่ 9 บ้านหนองปด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุงแล้ว จากการตรวจพบเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63 สงสัยว่าเป็นโรคใบร่วง จำนวน 87 ราย เนื้อที่สวนยางพาราประมาณกว่า 3,000 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางเกษตร จ.พัทลุง รายงานทิศทางยางพาราโรคใบร่วง จะทำให้ปริมาณน้ำยางสดหดหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และยังมีแนวโน้มว่าทำให้ยอดยางพาราขดคู้แกร็น และไม่ทราบว่าจะถึงขนาดยืนต้นตายได้หรือไม่

นายสนั่นกล่าวอีกว่า โรคใบร่วงจะเกิดขึ้นกับยางพาราที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี และ 10 ปี และเกิดกับยางพาราพันธุ์ 251 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนพันธุ์ BRM จะเกิดเป็นส่วนน้อยมาก โดยขณะนี้ชาวสวนยางพาราต่างวิตกกังวลกันมาก เพราะชาวสวนยางพารามีรายได้ปริมาณน้อยอยู่แล้ว และเมื่อเกิดโรคใบร่วง น้ำยางจะหดหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์