ชะมดเช็ด สัตว์ป่าคุ้มครอง เลี้ยงได้ เก็บไขแปรรูป ทำสบู่-กาแฟขาย

ที่ผ่านมาผู้อ่านคงเคยได้ยิน ไขชะมด ราคาสูงมาก กิโลกรัมละ 2-4 แสนบาท

ปัจจุบัน มีผู้เลี้ยงเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ราคาไขชะมดลดลงเหลือไม่ถึง 2 แสนบาท ต่อกิโลกรัม แต่ถึงอย่างนั้น ก็ถือว่าราคาดี

คุณสันติศักดิ์ ถนอมสิงห์ ภายในฟาร์มชะมดเช็ด

คุณสันติศักดิ์ ถนอมสิงห์ เกษตรกรผู้เคยเพาะเลี้ยงกุ้ง เมื่อถึงช่วงที่ประสบความสำเร็จและต้องการเปลี่ยนแนวการทำงาน โดยยึดเอาเป้าหมายเรื่องของการทำกำไรเป็นที่ตั้ง ก็หันมามองการเลี้ยงสัตว์สวยงาม เริ่มจาก “นกยูง” มาเป็น “ไก่ฟ้า” และส่งท้ายที่ “ชะมดเช็ด”

ชะมดที่เลี้ยง คุณสันติศักดิ์ บอกว่าเป็นชะมดเช็ด และต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากกรมป่าไม้ เพราะชะมดจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยฟาร์มชะมดแห่งนี้ มีใบอนุญาตครอบครอง ใบอนุญาตขยายพันธุ์ ใบอนุญาตซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากชะมด ถือได้ว่าครบทุกขั้นตอน

สมาชิกผู้เลี้ยงนกยูงด้วยกัน มาส่งเสริมและสนับสนุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไขชะมด

พื้นที่บริเวณเลี้ยง เป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ มีความกว้างขวาง โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก คุณสันติศักดิ์ เลี้ยงชะมดเช็ดไว้ในกรง กรงละ 1 ตัว ขนาดกรงที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงชะมดเช็ด 1 ตัว เป็นขนาด 1×2 เมตร สูง 1 เมตร ภายในกรงมีกล่องไม้ขนาด 40-60 เซนติเมตร ไว้ให้หลบนอนพักผ่อน

กรงนอนยกสูงจากพื้นดิน ล้อมด้วยลวดตากว้างและไม้ พื้นกรงเป็นไม้ มีเสาไม้ตรงกลาง ซึ่งใช้ไม้โมกเป็นเสา ไว้สำหรับให้ชะมดเช็ดป้ายไข

การป้ายไขชะมดที่ไม้โมก

คุณสันติศักดิ์ ศึกษาเรื่องราวของชะมดเช็ดจนถ่องแท้ จึงเริ่มนำมาเลี้ยงและขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ตั้งใจเลี้ยงเพื่อนำไขชะมดเช็ดมาแปรรูปจำหน่าย โดยมีที่ปรึกษาเป็นแพทย์แผนไทย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ตั้งใจผลิตได้คุณภาพมากที่สุด

ไขชะมดที่ถูกป้ายไว้ ยังไม่ถูกเก็บ

เป้าหมายแรกคือ การขยายพันธุ์ชะมดเช็ดที่เริ่มจาก 8 ตัว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 20 ตัว และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนให้ได้ถึง 60 ตัว

ชะมดเช็ดผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี ไม่มีฤดูผสมพันธุ์แม่พันธุ์ 1 ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 2 เดือน และออกลูกครั้งละ 3-5 ตัว

การออกลูกโดยธรรมชาติจะคลอดในโพรงดินที่อยู่ใกล้ต้นไม้หรือตอไม้ ตัวเมียทำหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนตัวผู้จะอยู่กับตัวเมียเฉพาะตอนผสมพันธุ์เท่านั้น

และชะมดเช็ด มีอายุยืนเกือบ 10 ปี

ป้อนนมลูกชะมดเช็ด

เมื่อเข้าสู่ระบบฟาร์ม คุณสันติศักดิ์ ยังคงให้การดูแลอิงธรรมชาติ โดยเมื่อถึงวัยผสมพันธุ์จะนำชะมดเช็ดเพศผู้และเมียไว้ในกรงเดียวกัน เมื่อผสมพันธุ์แล้วจึงนำเพศผู้ออก และเมื่อเพศเมียคลอดลูกแล้ว จะขโมยลูกมาป้อนนมเอง เพื่อลดการสูญเสีย

น้ำหอมที่เพิ่งผลิต

ที่ทำเช่นนี้ คุณสันติศักดิ์ บอกว่า เพราะชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่า มีพฤติกรรมระวังภัยสูง หากมีลูกอ่อนและไม่แน่ใจว่าจะเกิดอันตรายขึ้นหรือไม่ ชะมดเช็ดจะเลือกกินลูกตัวเอง ซึ่งการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มจะมีเวลาให้น้ำและอาหาร ดังนั้น หากชะมดเช็ดได้ยินเสียง อาจกังวลความปลอดภัยของตนเองและลูก โอกาสกินลูกตนเองทำให้เกิดการสูญเสียจึงมีสูง

อาหารของชะมดเช็ด ตามธรรมชาติชะมดเช็ดจะกินเนื้อสัตว์ 80 เปอร์เซ็นต์ กินผลไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ อาหารที่ให้ภายในฟาร์ม จึงเป็นไก่และตับชิ้นเล็กต้มกับข้าว รวมถึงกล้วยสุก อาหารต้องทำให้สุกเพราะไม่ต้องการให้มีพยาธิ เชื้อโรค และควรทำให้เป็นชิ้นขนาดเล็ก เพื่อชะมดเช็ดกินง่าย ส่วนน้ำใช้ภาชนะเล็กๆ ใส่น้ำวางไว้ ชะมดเช็ดจะเลียกินเอง

ไขชะมด เมื่อนำมารวมกันเป็นก้อน

“โดยพฤติกรรมและวงจรชีวิตโดยทั่วไป มีความคล้ายแมว แต่เป็นแมวที่ดุ เพราะเป็นสัตว์ป่า เวลาให้อาหาร ถ้าเขาคุ้นกับคนให้เขาก็จะไม่ทำอะไร ลูบได้ จับได้ แต่ถ้าเขาตกใจเขาจะงับเราแรงๆ หรือถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่คุ้นเลย เขาจะผิดกลิ่นจะกัดได้ แล้วฟันของชะมดเช็ดคมมาก ต้องระวัง”

เมื่อเป้าหมายของการเพาะเลี้ยงชะมดเช็ดคือ การเก็บไขชะมดนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ คุณสันติศักดิ์ จึงให้ความรู้เรื่องของไขชะมดเช็ดว่า

สบู่จากไขชะมด

บริเวณใต้โคนหางของชะมดเช็ด จะมีรูทวาร ขยับถัดมาเป็นรูอวัยวะเพศ และรูต่อมไข ซึ่งจะมีเฉพาะในชะมดเท่านั้น

คนทั่วไปอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าไขชะมดออกมาจากรูอวัยวะเพศ แท้จริงแล้วออกมากจากรูต่อมไข ซึ่งจะผลิตออกมาทุกวัน มากหรือน้อยขึ้นกับความสมบูรณ์ของชะมดเช็ด

ไขชะมดที่เก็บมา

การป้ายไขชะมดกับวัตถุในกรง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ให้ชะมดเช็ดด้วยกันรู้ กล่าวคือ ตัวเมียจะป้ายไขชะมดไว้แล้วไป ส่วนตัวผู้เมื่อป้ายไขชะมดแล้วจะฉี่ใส่ไว้ด้วย หากชะมดเช็ดทั้งผู้และเมียมาดมจะรู้ว่า บริเวณนี้มีชะมดตัวผู้หรือตัวเมียอยู่ หากมีเพียงเพศเดียว อีกเพศสามารถรอหรือตามหาเพื่อผสมพันธุ์ได้

ลักษณะการป้าย ตัวผู้จะป้ายสูงกว่าตัวเมีย และจะป้ายไขชะมดทุกวันในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น การเก็บไขชะมดควรเก็บในเวลาเช้า เพราะหากสายอุณหภูมิจะเริ่มร้อน ทำให้ไขชะมดค่อยๆ ละลายไหล ทำให้เก็บไขชะมดได้ยาก นอกจากนี้ ไม้ที่ใช้สำหรับเป็นตอให้ชะมดเช็ดป้ายไขชะมด คุณสันติศักดิ์ ใช้ไม้โมก เนื่องจากเป็นไม้ที่มีเนื้อละเอียด เมื่อไขชะมดละลายจะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อไม้

คุณสันติศักดิ์ มองเห็นถึงสรรพคุณและคุณประโยชน์จากไขชะมด ตามข้อมูลบอกไว้ว่า

  1. ใช้ในการผลิตยาแผนโบราณ มีกลิ่นหอม โดยในตำราการแพทย์แผนไทย มีการระบุถึงสรรพคุณว่า ใช้แก้โลหิตพิการ ขับผายลม แก้หืด ไอ วิงเวียนศีรษะ เป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มี 4 รายการที่ใช้ชะมดเช็ดเป็นตัวยาที่สำคัญในตำรับ ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ และยาหอมนวโกฐ
  2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอมเพื่อช่วยให้กลิ่นหอมติดทนนาน และดูดกลิ่นลึกลับขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นตัวทาให้น้ำหอมอยู่คงนาน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์น้ำหอมหลายยี่ห้อที่ใช้ไขของชะมดเป็นส่วนผสม

เบื้องต้น คุณสันติศักดิ์ จึงเริ่มเก็บไขชะมดนำมาผลิตเป็น “สบู่” สรรพคุณที่เห็นชัด คือ ทำให้ผิวนุ่ม เกลี้ยงเกลา บรรเทาอาการแพ้จากแสงแดด สิวและฝ้า

กาแฟ เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากให้ความสนใจ นิยมและกล่าวถึง แต่เรียกว่า กาแฟขี้ชะมด

คุณสันติศักดิ์ บอกว่า สำหรับผมไม่ใช่กาแฟขี้ชะมด เพราะไม่ได้นำขี้ชะมดมาใช้ แต่ใช้ไขชะมดที่เก็บจากกรงชะมดเช็ดทุกเช้า นำไปหมักกับเมล็ดกาแฟอาราบิก้าก่อนคั่วนานเป็นเวลา 6 เดือนอย่างน้อย จากนั้นจึงนำเมล็ดกาแฟไปคั่ว นำไปรับประทาน จึงเรียกว่า “กาแฟชะมด”

และเป้าหมายของการแปรรูปไขชะมดเป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดคือ น้ำหอม

ชะมดเช็ดกับลูกๆ

ด้วยคุณสมบัติของไขชะมด ที่มีสารบางชนิดช่วยให้กลิ่นหอมคงอยู่นาน เรียกว่าสารตรึงกลิ่น ทำให้คุณสันติศักดิ์ มองเห็นจุดเด่นและคิดจะนำมาผลิตเป็นน้ำหอม ซึ่งปัจจุบันผลิตออกมาเป็นตัวอย่าง พร้อมออกสู่ตลาดในไม่ช้า

ราคาจำหน่าย สบู่ก้อนละ 200 บาท และมีหลายขนาด

ราคาจำหน่ายกาแฟชะมด เมล็ดคั่วแล้วกิโลกรัมละ 8,400 บาท หรือ 250 กรัม ราคา 2,100 บาท

แม้ว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากชะมดเช็ดที่เลี้ยงได้ แต่คุณสันติศักดิ์ ก็ไม่ได้มองเป็นธุรกิจในการเลี้ยงมากเกินไป ยังคงให้การดูแลชะมดเช็ดอย่างดี เสมือนสัตว์เลี้ยงอื่นภายในฟาร์มที่มีอยู่ ท่านใดสนใจขอเข้าชมฟาร์ม หรือสนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ คุณสันติศักดิ์ ถนอมสิงห์ หมู่ที่ 5 ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือโทรศัพท์ (091) 514-5655