สังเกตอย่างไร? แมงดามีพิษ! นักวิชาการแนะ ช่วงนี้งดบริโภค ‘ไข่แมงดา’ เหตุเสี่ยงพิษ

แมงดาจาน
รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม

“ไข่แมงดา” ที่ขึ้นชื่อว่าหอม มัน เคี้ยวอร่อย คือหนึ่งในเมนูอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถนำมาทำเมนูได้หลากหลาย โดยจะกินแบบเผากับน้ำจิ้มซีฟู้ด หรือนำมาทำเป็นยำไข่แมงดาก็ถูกปากคอซีฟู้ด แต่รู้หรือไม่ว่าในความอร่อยนั้นยังแฝงไปด้วยพิษภัยอันตราย โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานแมงดาที่มีพิษอยู่ไม่น้อย

ล่าสุดมีข่าวสาววัยกลางคนในจังหวัดสระแก้ว ซื้อไข่แมงดาจากตลาดเพื่อมาประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว ภายหลังรับประทานไปได้ไม่นาน เกิดอาการปากชา มือเท้าชา หายใจลำบาก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์ระบุเหตุจากพิษของไข่แมงดาที่รับประทานเข้าไปโดยไม่ทราบว่ามีพิษ

ทั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ในการจำแนกชนิดของแมงดามีพิษกับไม่มีพิษ รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแมงดาทะเล ในโครงการการใช้ฐานทรัพยากรชีวภาพอ่าวปัตตานี สู่การใช้ประโยชน์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนและมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับแมงดาทะเล รวมถึงข้อสังเกตในการเลือกดูว่าแมงดาชนิดพันธุ์ใดที่มีพิษ

รศ.ดร. ซุกรี หะยีสาแม ให้ข้อมูลว่า แมงดาที่มีพิษ คือ แมงดาถ้วย โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูวางไข่ของแมงดาถ้วยจะพบมากในฝั่งอ่าวไทยโดยแมงดาถ้วยกำลังเริ่มวางไข่มาตั้งแต่เดือนธันวาคม และมีความหนาแน่นของไข่ที่พร้อมกินแต่มีความเป็นพิษสูง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ดังนั้นใครที่รับประทานไข่แมงดาช่วงนี้ไปจนถึงเดือนเมษายนให้รู้ไว้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข่แมงดาถ้วย ซึ่งมีพิษอันตรายถึงชีวิต

แมงดาถ้วย

“ในอดีตชาวบ้านไม่นิยมกิน แต่เข้าใจว่าระยะหลังเริ่มมีชาวประมงนำแมงดาถ้วยมาขาย ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีราคา แต่เพราะไข่ของแมงดาจานไม่มีพิษเริ่มถูกจับมาขายมากขึ้นจนจำนวนเริ่มลดน้อยลง จนบางพื้นที่ของไทยนำเข้าแมงดาจาน จากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ทำให้ไข่แมงดาจานมีราคาแพงจึงอาจจะมีการนำแมงดาถ้วยมาผสมขายและบริโภคแทนก็ได้ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก”

รศ.ดร. ซุกรี กล่าวว่า แมงดาถ้วย หรือ แมงดาไฟ หรือ เหรา แล้วแต่จะเรียกชื่อต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ พบได้เยอะในประเทศไทยอาศัยอยู่ตามหาดโคลนปนทราย ลักษณะภายนอกจะมีกระดองโค้งกลมเหมือนถ้วย ตัวสีเข้มวางไข่ตามป่าชายเลย วิธีสังเกตง่ายๆ จากลักษณะกายภาพให้ดูที่โคนหางถึงกลางหางจะมีลักษณะกลมเหมือนแท่งดินสอ เป็นแมงดาที่มีพิษไม่นิยมนำไข่มารับประทาน เนื่องจากกินแล้วเมา ผู้มีอาการแพ้จะมีอาการปากชา พูดไม่ได้ แขนขาชา หายใจไม่ออก บางรายอาจมีอาเจียนร่วมด้วยและเสียชีวิต

สำหรับแมงดาชนิดที่นำไข่มารับประทานได้ คือ แมงดาจาน ในอดีตพบมากในประเทศไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย แต่ระยะหลังนี้เริ่มน้อยลงจนและเสี่ยงสูญพันธุ์ในฝั่งอ่าวไทย ลักษณะทางกายภาพลำตัวแบนกว้างเหมือนจาน หากสังเกตที่หางจะเป็นสามเหลี่ยมตั้งแต่โคนถึงกลางหาง ส่วนปลายหางจะแหลม อย่างไรก็ดี ไข่แมงดาจาน จะมีพิษอยู่บ้างแต่ถือว่าน้อยมากจนไม่เกิดอันตราย คนจึงนิยมนำไข่แมงดาจานมารับประทาน โดยเฉพาะคนจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทำให้จำนวนประชากรแมงดาจานเริ่มเหลือน้อยมากในประเทศไทย จนกระทั่งในระยะหลังเริ่มมีการนำเข้าไข่แมงดาจานจากเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ในแง่ของการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจาน อยากให้ประชาชนลดการรับประทานไข่แมงดาจานเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรแมงดาจานให้อยู่ในระบบนิเวศทางทะเลต่อไปด้วย

“แมงดาเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนจานคว่ำหรือชามขนาดใหญ่ ซึ่งสัตว์จำพวกอื่นที่มีอวัยวะแบบเดียวกันนี้ คือ แมงมุม และแมงป่อง อาหารของแมงดามีหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพวกหอย ปู กุ้ง ปลา รวมถึงสาหร่ายทะเล ขาของแมงดามีความสามารถใช้สำหรับจับการเคลื่อนไหวหรือดมกลิ่นได้ แม้แมงดาจะมีรูปร่างดูเทอะทะ แต่ร่างกายของแมงดากลับยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี โดยแมงดาเพศเมียภายในร่างกายจะมีการผลิตไข่อยู่ตลอดเวลาเพื่อรอเวลาผสมพันธุ์และวางไข่”

อย่างไรก็ดี อยากแนะนำประชาชนว่า ไม่ควรซื้อไข่แมงดาทะเลมาปรุงอาหารรับประทานเอง หากอยากรับประทานไข่แมงดาทะเลมาก แนะนำให้ไปที่ร้านอาหารทะเลที่ปรุงสำเร็จจะดีกว่า เพราะร้านอาหารทะเลจะมีความชำนาญในการสังเกตและเลือกไข่แมงดาที่ปลอดภัยมาขายได้ดีกว่าผู้บริโภคทั่วไป