มะม่วงแปลงใหญ่ ไม้ผลทำเงิน ใช้น้ำน้อย คนหนองสวรรค์ หนองบัวลำภู

จะเรียกว่า “แปลงใหญ่” ก็คงไม่เต็มปากนัก เพราะเพิ่งเป็นปีแรกของเกษตรกรกลุ่มนี้ ที่ตัดสินใจจดทะเบียนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ จากการส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู แต่หลังจากนี้ เกษตรกรกลุ่มนี้ พร้อมใจกันดำเนินกิจกรรมตามระเบียบปฏิบัติของการจดทะเบียนวิสาหกิจแปลงใหญ่ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้การค้าขายคล่องขึ้น และสามารถต่อรองราคาผลผลิตไปในทิศทางที่ดี

คุณบุญทอง ปุตคะสิงห์

การจดทะเบียนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เพิ่งดำเนินไปเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ความแข็งแรงของเกษตรกรกลุ่มนี้ รวมตัวกันมายาวนาน ในชื่อของ “กลุ่มไม้ผล” โดยมีผลไม้ คือ มะม่วง เป็นไม้ผลชูโรงหลักของกลุ่ม

คุณคำพันธ์ วงศ์รินยอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง บอกว่า กลุ่มเพิ่งจดทะเบียนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ได้ไม่นาน แต่เกษตรกรรวมกลุ่มกันในนามของ กลุ่มไม้ผล มานานหลายสิบปีแล้ว และมี “มะม่วง” เป็นไม้ผลหลักที่ขึ้นชื่อ และทำรายได้ให้กับกลุ่ม

อดีต มะม่วง เป็นพืชที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนา และตามบ้านของเกษตรกรทุกหลัง เก็บกิน เหลือมากก็ขาย มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาซื้อที่หลังคาบ้าน มะม่วงที่พ่อค้าแม่ค้าให้ราคาซื้อขาย คือ พันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ และแก้วขมิ้น เน้นมะม่วงสายพันธุ์กินดิบ เมื่อเห็นเป็นราคา เกษตรกรจึงเพิ่มพื้นที่ปลูกตามที่ดอน ทำให้มีพื้นที่ปลูกมะม่วงเฉพาะตำบลหนองสวรรค์ กว่า 600 ไร่ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 320 ไร่ เพราะ 6-7 ปีก่อน รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกปาล์มและยางพารา ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งหยุดปลูกมะม่วง หันไปปลูกยางพาราและปาล์มแทน หรือบางรายลดพื้นที่ปลูกมะม่วงลง ปลูกยางพาราหรือปาล์มแทน

พันธุ์มะม่วงที่กลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง ปลูกไว้ ได้แก่ เขียวเสวย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ แก้วขมิ้น และระยะหลังเริ่มทดลองปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

คุณคำพันธ์ เล่าว่า ดินในพื้นที่ตำบลหนองสวรรค์ เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การปลูกไม้ผลประเภทมะม่วงมาก ทั้งยังไม่มีระบบชลประทานใกล้เคียง มีเพียงคลองซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ปลูกมะม่วงพอสมควร แต่เพราะมะม่วงเป็นพืชทนแล้ง ทำให้ไม่ต้องดูแลรดน้ำมาก อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติก็ให้ผลผลิตพอจำหน่ายได้ราคา แต่ถ้าปีไหนปริมาณน้ำฝนมีมาก ก็ช่วยให้ผลผลิตได้มากและสมบูรณ์ ขายได้ราคามากกว่าปกติ

แม้มะม่วงจะเป็นพืชทนแล้ง และให้ผลผลิตจำหน่ายเป็นรายได้หลักของชาวตำบลหนองสวรรค์ แม้ไม่ต้องทำระบบน้ำเช่นแปลงมะม่วงที่อื่น แต่เกษตรกรที่นี่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากปริมาณน้ำฝนมีมาก หรือมีแหล่งน้ำที่นำมาใช้ในแปลงมะม่วงได้เพียงพอ ก็จะช่วยให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่สมบูรณ์และปริมาณผลผลิตที่มาก สร้างรายได้ที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก

มะม่วงฟ้าลั่น แตก

เมื่อระบบชลประทานไม่มี แหล่งน้ำอยู่ห่างไกล การเจาะบ่อบาดาลก็เป็นอีกทางเลือก แต่เกษตรกรก็มีงบประมาณไม่มากพอจะเจาะบ่อบาดาลได้ทุกแปลง จึงอาศัยการหล่อเลี้ยงน้ำฝนให้กับมะม่วงตามธรรมชาติ ดังนั้น ภัยที่จะมีผลต่อผลผลิตมะม่วงแต่ละปี จึงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ

คุณบุญเพ็ง เต็มสัตย์ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง อดีตประธานกลุ่มไม้ผล เล่าว่า จำนวนสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง มี 43 ราย พื้นที่ 320 ไร่ ลดลงจากเดิมที่มีกว่า 600 ไร่ ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตมะม่วงลดลง นอกเหนือจากปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ แมลงศัตรูพืช ซึ่งกลุ่มพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ แต่หากพบมากเกิน กำจัดด้วยวิธีธรรมชาติได้ อาจต้องใช้สารเคมีบ้าง

การปลูกมะม่วงของเกษตรกรกลุ่มนี้ ปลูกระยะ 6×6 เมตร ทำให้ได้มะม่วง จำนวน 30 ต้น ต่อไร่ และใช้วิธีปลูกแบบเสียบยอด โดยปลูกมะม่วงพันธุ์กระสอหรือมะม่วงพันธุ์แก้ว ซึ่งเป็นมะม่วงพื้นถิ่นไว้เป็นต้นตอก่อน เมื่อต้นตออายุได้ 2 ปี จึงนำมะม่วงพันธุ์ที่ต้องการมาเสียบยอด การปลูกเช่นนี้ จะทำให้มะม่วงมีรากแก้วที่แข็งแรง ลำต้นแข็งแรง หาอาหารเก่ง และเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุรวมปลูกต้นตอ ประมาณ 4-5 ปี

การให้น้ำ อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก

แม้จะเป็นการปลูกมะม่วงแบบอาศัยธรรมชาติ แต่กลุ่มก็ยังพัฒนาการผลิตด้วยการทำมะม่วงทั้งในฤดูและนอกฤดู

คุณเสนีย์ ฤทธิสุนทร เกษตรตำบลหนองสวรรค์ ให้ข้อมูลว่า การทำมะม่วงนอกฤดู เกษตรกรจะเริ่มให้ปุ๋ยสูตรเสมอในช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นเสริมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยชีวภาพ และพอเดือนกันยายนมะม่วงจะติดดอก และให้ผลผลิตปลายเดือนมกราคม แล้วมะม่วงในฤดูจะเริ่มให้ผลผลิตเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อเก็บจำหน่ายแล้ว จึงตัดแต่งกิ่งและให้ปุ๋ย เพื่อเริ่มทำผลผลิตนอกฤดูต่อไป

มะม่วงพื้นถิ่นปลูกไว้ อายุยังไม่ถึง 2 ปี รอการเสียบยอด

“ราคามะม่วงในฤดู อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ถ้าเป็นมะม่วงนอกฤดู ราคาผลผลิตได้อยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาทขึ้นไป การบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดู ทำตามความรู้ความชำนาญของเกษตรกรแต่ละคน หากไม่ได้นอกฤดู ก็ยังได้ในฤดู ซึ่งถือว่ายังทำรายได้ให้กับเกษตรกรที่นี่เป็นหลักมากกว่าพืชชนิดอื่น” ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง กล่าว

ปริมาณผลผลิตต่อไร่ หากปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ดี จะได้มะม่วงมากถึง 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ถ้าได้รับผลกระทบแล้ง จำนวนมะม่วงจะเหลือเพียง 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่

คุณบุญทอง ปุตคะสิงห์ อายุ 77 ปี เกษตรกรรายแรกที่เริ่มปลูกมะม่วงเต็มพื้นที่ และเป็นผู้นำการเสียบยอดมะม่วงเข้ามาเผยแพร่ในพื้นที่ตำบลหนองสวรรค์ เล่าว่า ตนเองมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 10 ไร่ ก่อนหน้านี้มีจำนวนมากกว่านี้ แต่แบ่งพื้นที่ปลูกให้กับลูกชายไปส่วนหนึ่ง ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่ว่า มีความชำนาญในการเสียบยอดมะม่วงที่เก่งที่สุด ซึ่งรายได้แต่ละปีจากการปลูกมะม่วง 10 ไร่ ของคุณบุญทองสูงถึง 300,000 บาททีเดียว

คุณบุญทอง เป็นเกษตรกรรายแรกที่ไปอบรมการเสียบยอดจากวิทยาลัยเกษตรกรรม เมื่อปี 2528 และเริ่มลงทุนปลูกเองตั้งแต่ปี 2530 กระทั่งแปลงของคุณบุญทองได้รับคัดเลือกให้เป็นแปลงสาธิตการผลิตมะม่วงนอกฤดู และแปลงมะม่วง GAP และหากเกษตรกรายใดต้องการให้คุณบุญทองเสียบยอดให้ คุณบุญทองก็สามารถทำให้ได้ในราคาย่อมเยา

คุณวสันต์ มั่นคง เกษตรอำเภอเมือง อธิบายเพิ่มเติมว่า อำเภอเมือง มีพื้นที่ครอบคลุม 15 ตำบล แต่มีเพียงตำบลหนองสวรรค์เท่านั้น ที่ปลูกมะม่วงและเป็นไม้ผลทำรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งหลังการจดทะเบียนแปลงใหญ่แล้ว เชื่อว่าจะมีเกษตรกรต่างตำบลหรือใกล้เคียงมาจดทะเบียนเป็นสมาชิก เพราะบางรายเริ่มปลูกมะม่วงแล้ว และจะทำให้พื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ปริมาณผลผลิตมะม่วงที่จำหน่ายออกไป ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าต่อปีปริมาณผลผลิตทั้งในฤดูและนอกฤดูจะไม่ต่ำกว่า 200 ตัน ก็ตาม

เมื่อถามถึงเส้นทางมะม่วงดิบที่ออกไปจากกลุ่ม คุณคำพันธ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องปลายทางของผลผลิต แต่เชื่อว่ามะม่วงของกลุ่มที่ผลิตออกไป ไปถึง สปป. ลาว และเวียดนาม เพราะมีชาว สปป. ลาว และเวียดนาม เดินทางมาติดต่อขอซื้อถึงสวนเป็นประจำ

คุณคำพันธ์ บอกด้วยว่า แม้ว่ากลุ่มจะมีความชำนาญในการปลูกมะม่วง และมะม่วงเป็นพืชทนแล้ง แต่หากระบบชลประทานเข้าถึง ก็จะช่วยให้ปริมาณผลผลิตในแต่ละปีเพิ่มขึ้น เป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรได้ ดังนั้น หากมีหน่วยงานที่ช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนแหล่งน้ำ ก็จะทำให้เกษตรกรตำบลหนองสวรรค์มีการทำการเกษตรที่คล่องตัวมากขึ้น

เพิ่มเติมความรู้ในการดูแลมะม่วงแปลงใหญ่ ติดต่อได้ที่ คุณคำพันธ์ วงศ์รินยอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่มะม่วง โทรศัพท์ 082-203-1125 คุณบุญเพ็ง เต็มสัตย์ อดีตประธานกลุ่มไม้ผล โทรศัพท์ 086-010-7121 คุณบุญทอง ปุตคะสิงห์ โทรศัพท์ 087-020-9850