โค้งสุดท้ายธนาคารที่ดิน เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันบริหารจัดการที่ดิน รอ กพร. ประเมินผลก่อนเสนอเข้า ครม. คาดปลายปีรู้ผล

รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด ซึ่งได้ดำเนินการผ่านโครงการของ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ในรูปแบบโฉนดรวม การถือครองกรรมสิทธิ์ร่วม การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝากตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปี บจธ. ได้กระจายการถือครองที่ดินให้แก่เกษตรกรได้มีสิทธิในที่ดินเป็นของตนเอง ในรูปของโฉนดแล้ว จำนวน 3,039 ราย เนื้อที่ 3,484 ไร่ โดยเกษตรกรทุกคนที่เข้าโครงการต้องได้รับการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ และศาสตร์พระราชาเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. ได้นำร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านช่องทาง www.labai.or.th และ www.lawamendment .go.th และจัดประชุมโดยเชิญผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 15 หน่วยงาน หน่วยงานรัฐและหน่วยงานวิสาหกิจ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร องค์กรชุมชน นักวิชาการ นักศึกษา ภาคประชาสังคม มีผู้ให้ความสนใจกว่า 1,562 คน จาก 6 ภาค ทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก)

ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากการหารือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มีความเห็นร่วมกันว่า หากมีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน อาจจะทำให้การดำเนินการตามภารกิจไม่ประสบผลตามที่มุ่งหวัง เพราะถูกตีความว่าเป็นการจัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจ ซึ่งต้องไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ธนาคารที่ดิน เป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านสังคมเป็นหลัก ด้วยการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนให้มีที่ดินทำกินอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น จึงเห็นควรจัดตั้งในรูปแบบองค์กรอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน โดยเสนอให้จัดตั้งในรูปแบบองค์การมหาชน โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

หลังจากที่ได้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. แล้วเสร็จ บจธ. จึงได้นำร่างฯ ดังกล่าวขอความคิดเห็นจากภาคประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของเนื้อหาการจัดตั้งธนาคารที่ดินไม่มีความแตกต่างไปจากเดิม ในส่วนของชื่อองค์กร ทุกคนมองว่าองค์กรใหม่ที่จะตั้งขึ้นเป็นองค์กรทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้น จึงควรให้เปลี่ยนชื่อจาก “ธนาคารที่ดิน” ไปเป็น “สถาบันบริหารจัดการที่ดิน” หรือ สทด.  สำหรับความเห็นจากส่วนราชการ ในส่วนของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไม่ขัดข้องหากจะมีการตั้งองค์กรใหม่ แต่ต้องการให้มีการประเมินผลการทำงานของ บจธ. ในช่วงที่ผ่านมา ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าผลการศึกษาออกมาว่าคุ้มค่า สององค์กรน่าจะไม่ขัดข้องกับโครงสร้างองค์กรและแนวทางการทำงาน  ในส่วนระยะเวลาดำเนินงานในการนำเสนอร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น เราอาจจะเห็นว่า คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดินประมาณเดือนกรกฎาคมปีนี้

ผศ.ดร. จิตติ กล่าวสรุปว่า “โดยนโยบายของรัฐบาล ผมเชื่อว่าเขาอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วๆ เพราะองค์กรมหาชนลักษณะนี้ ทำงานได้คล่องตัวกว่าหน่วยงานรัฐทุกรูปแบบ ผมก็หวังว่ารัฐบาลจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีนวัตกรรมในการช่วยเหลือคนยากคนจน ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  ผมมีความเชื่อว่าองค์กรขนาดเล็กเช่นเดียวกับองค์กรใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ที่เรียกว่า สทด. และโครงสร้างทางกฎหมายเปิดโอกาสให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก มันคล่องตัว สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว  กลไกตัวนี้จะเป็นกลไกที่ช่วยทั้งประชาชน ช่วยประเทศ แล้วจริงๆ ก็จะเป็นผลงานที่สำคัญของรัฐบาล  และหากสถาบันนี้เกิดขึ้นมา คนกลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือ คนที่เดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน จะได้ประโยชน์สูงสุด อีกกลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือกลุ่มคนที่กำลังจะถูกยึดที่จากการไปจำนองที่ดิน หรือไปอยู่ในรายชื่อที่กำลังจะถูกขายทอดตลาดที่ดิน ถัดจากนั้นจะเป็นคนกลุ่มที่ตัดสินใจแล้วว่า จะต้องไปสู่ภาคเกษตรกรรม ไปสร้างความมั่นคงทางอาหาร คนกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสมากขึ้น เพราะการทำงานขององค์กรใหม่จะเป็นเหมือนกองทัพขนาดเล็กจะเคลื่อนตัวได้เร็ว