ข้าวโพดหวานภาคเหนือตีตลาด 70 ประเทศ ‘ซันสวีท’ เพิ่มโปรดักต์ใหม่ ปั๊มยอด 2 พันล้าน-มุ่งสมาร์ทฟาร์ม

“ซันสวีท” ผู้ส่งออกข้าวโพดหวาน เบอร์ 1 ของประเทศ ปลื้มผลประกอบการ ปี’59 แตะ 1,500 ล้าน ชี้ธุรกิจอาหารในตลาดโลกยังโตไม่หยุด ตั้งเป้า ปี’60 ยอดส่งออกพุ่ง 2,000 ล้าน จากฐานลูกค้า 70 ประเทศ ลุยเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าใหม่ ส่ง “ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ” นำร่องวางจำหน่ายห้าง San-A เมืองโอกินาวา ญี่ปุ่น เผย เตรียมนำสินค้ากลุ่มน้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดคลุกเนย ข้าวโพดปิ้ง เปิดตลาดกลางปีนี้ พร้อมทุ่ม 200 ล้าน ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน มุ่งสู่สมาร์ทฟาร์ม

เบอร์ 1 ส่งออกข้าวโพดหวาน

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ อันดับ 1 ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “KC” มีฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวโพดหวานของบริษัทและสินค้าในเครือ ในปี 2559 เติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดขายมากกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 80% และขายในประเทศ 20% ซึ่งแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและภาวะแล้ง แต่ก็สามารถซ่อมแซมและแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ให้เกิดความเสียหายได้

ขณะที่ความต้องการด้านอาหารของตลาดโลกยังเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมีวัตถุดิบข้าวโพดหวานที่ส่งออกในปีที่ผ่านมาราว 1 แสนตัน สำหรับปี 2560 ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวโพดหวานและสินค้าในเครือไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ตามคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอีกหลายชนิด ทำให้มั่นใจว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้

“สินค้าหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดหวานชนิดเมล็ดบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน ข้าวโพดหวานชนิดฝักในถุงสุญญากาศพร้อมรับประทาน ซึ่งมีฐานตลาดลูกค้าราว 300 ราย อยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก และข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ชนิดเมล็ดบรรจุถุง มีตลาดหลักคือญี่ปุ่นและอิหร่าน”

เพิ่มไลน์การผลิตเปิดตลาดใหม่

นายองอาจ กล่าวว่า ในปี 2560 ได้เพิ่มไลน์การผลิตสินค้ากลุ่มอาหารหลายชนิด อาทิ ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ ซึ่งได้นำเข้าซอสมะเขือเทศมาจากออสเตรเลีย และเมล็ดถั่วขาวแห้งจากสหรัฐอเมริกา โดยผลิตที่โรงงานซันสวีทเชียงใหม่ ถือเป็นไลน์ผลิตใหม่นอกเหนือจากข้าวโพด ตลาดแรกที่เริ่มเปิดคือ ญี่ปุ่น ล่าสุดบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายกับห้างสรรพสินค้า San-A ซึ่งเป็นช็อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ในเมืองโอกินาวา ขณะเดียวกันก็เตรียมขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้ไปยังฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ราว 300 ราย ใน 70 ประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมนำสินค้ากลุ่ม Cooking Corn หรือสินค้าที่ผลิตจากข้าวโพด นำออกจำหน่ายทั้งต่างประเทศและในประเทศ อาทิ น้ำนมข้าวโพดพร้อมดื่ม ข้าวโพดคลุกเนย และข้าวโพดปิ้ง ซึ่งทั้งหมดผ่านการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) แล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดได้ประมาณกลางปี 2560 นี้

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายไลน์ทำข้าวสารบรรจุถุง ภายใต้แบรนด์ KC โดยจ้างโรงสีข้าวในจังหวัดแถบภาคกลางเป็นผู้ผลิตให้ และส่งออกไปยังประเทศกลุ่มเซาท์แอฟริกา ซึ่งมีความต้องการข้าวเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยต่อปีราว 20-30 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีไลน์การผลิตผักปลอดภัยภายใต้แบรนด์ KC 10 ชนิด วางจำหน่ายในห้างริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ มีมูลค่าการขายต่อปี 1-2 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตก็มีแผนจะพัฒนาไปสู่ผักออร์แกนิก ขณะเดียวกันในช่วงนี้ (มกราคม-มีนาคม) เป็นฤดูการผลิตหอมหัวใหญ่ มีแหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่อำเภอสันป่าตองและแม่วาง โดยปีนี้มียอดส่งออก 20-50 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าราว 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวโพดหวานยังคงเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่มีสัดส่วนการส่งออก 70-80% คาดว่าวัตถุดิบข้าวโพดหวานที่ส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 30% หรือ 130,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรที่เข้าร่วมทำ Contract Farming หรือเกษตรพันธสัญญากับบริษัท กว่า 20,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนบนและล่าง พื้นที่ปลูกทั้งหมด 50,000-100,000 ไร่

ทุ่ม 200 ล. ใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน

นายองอาจ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้ลงทุน ราว 200 ล้านบาท ในการนำเข้าเครื่องจักรเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อช่วยระบบการทำงานภายในโรงงานทั้งชุดฆ่าเชื้อและชุดแพ็กกิ้ง ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตมีมาตรฐานสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะได้นำเข้าหุ่นยนต์ จำนวน 2 ตัว ตัวละ 3-5 ล้านบาท จากประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยยกของภายในโรงงาน สามารถช่วยให้ระบบการทำงานมีความเสถียรและลดต้นทุนการใช้แรงงานได้ถึง 50% โดยแรงงาน 50% ที่หุ่นยนต์มาทำงานแทนนั้น ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปทำงานในส่วนอื่นแทน แต่ไม่ได้มีการปรับลดหรือเลิกจ้างงาน เนื่องจากกำลังขยายงานเพิ่มขึ้นหลายส่วน แรงงานจึงยังมีความจำเป็นและยังต้องการเพิ่มขึ้นด้วย

ฟาร์มอัจฉริยะ KC Smart Farm

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ระบบแปลงเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบแม่นยำในรูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm มีความสำคัญมาก โดยเริ่มทำโครงการ Smart Farm ตั้งแต่ปี 2555 กระบวนการจะเริ่มจากการนำดินในพื้นที่เกษตรกรปลูกข้าวโพดหวานมาวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักในดิน (N-P-K) การปลูกจะใช้วิธีการย้ายกล้าเพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อไร่มากขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด การวางระบบน้ำหยดในแปลงปลูกข้าวโพดหวานเพื่อให้ต้นข้าวโพดหวานได้รับความชื้นที่เหมาะสม และสามารถให้ปุ๋ยทางระบบน้ำหยดซึ่งประหยัดต้นทุนและเป็นการใส่ปุ๋ยที่มีคุณภาพได้ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,800-3,500 กิโลกรัม ต่อไร่

ทั้งนี้ ระบบการชลประทาน เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเพาะปลูกพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ ซึ่งปริมาณของผลผลิตมีความสัมพันธ์กับระดับความชื้นในดินโดยตรง ดังนั้น ระบบควบคุมการให้น้ำแบบอัตโนมัติ ที่มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หาได้ในประเทศนำมาพัฒนาเป็นชุดอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นในดิน และมีระบบเปิด-ปิด จ่ายน้ำในพื้นที่นั้นๆ อย่างแม่นยำ

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ