เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตัดต้นสดมาสับและหมักให้แพะ-แกะกินแล้วโตไว

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย ที่ผ่านมาเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักแก่ที่มีอายุการปลูก 120 วันไปขายให้กับโรงงานแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แต่ปัจจุบันนี้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาตัดต้นข้าวโพดต้นสดที่มีอายุการปลูก 70 วันไปสับและหมัก เมื่อนำไปให้แพะและแกะกินจะได้รับโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ ทำให้แพะและแกะโตไวและแข็งแรง แล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและได้รับผลตอบแทนคุ้มทุน วันนี้จึงนำเรื่อง “เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตัดต้นสดมาสับและหมักให้แพะ-แกะกินแล้วโตไว” มาบอกเล่าสู่กันครับ

ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสดไปสับและหมักเป็นอาหารแพะและแกะ

คุณธีระศักดิ์ ขุมเงิน เกษตรจังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า ฤดูแล้งปีนี้ปริมาณน้ำมีน้อยไม่พอเพียงจะให้เกษตรกรทำนาปรังหรือปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก หากใครฝืนทำก็เป็นความเสี่ยงที่จะได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มทุน

ทางตันที่มีทางออก จึงขอแนะนำทางเลือกให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นอาหารและจำหน่าย หรือปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสดอายุ 70 กว่าวันหลังปลูกแล้วนำมาสับและหมัก เมื่อให้แพะและแกะกินจะช่วยให้ตัวโตไวและแข็งแรง แล้วทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย หรือจะเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรด้วยการทำกล้วยตากอบ แล้วจัดบรรจุภัณฑ์ให้งดงามขาย หรือจะทำงานด้านหัตถกรรม เช่น การจักสานเป็นของใช้ หรือทอผ้ามัดหมี่ ให้ได้ผ้าผืนงามขาย เหล่านี้ล้วนเป็นอาชีพทางเลือกในวิกฤตฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำมีน้อย ที่ส่งผลให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวมีความมั่นคงและยั่งยืน

ให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ต้นข้าวโพดทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ 7 วันต่อครั้ง

คุณสะอาด ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เล่าให้ฟังว่า ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางการรองรับองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่พัฒนาการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสดไปสับและหมักซึ่งมีทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ เมื่อให้แพะและแกะที่เลี้ยงกินตัวจะโตไว มีร่างกายแข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อขายข้าวโพดฝักแก่จะใช้เวลาการปลูกถึงเก็บเกี่ยว 120 วัน ที่ใช้ทุนมากกว่าการปลูกเพื่อตัดต้นสดที่ใช้เวลา 70 กว่าวัน และเมื่อไถกลบตอต้นข้าวโพดยังทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการปลูกพืชครั้งใหม่ได้คุณภาพและทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

กำจัดต้นพืชออกไปเพื่อให้ต้นข้าวโพดได้รับอาหารพอเพียง

คุณองอาจ เพชรขุนทด เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตัดต้นสดไปเลี้ยงแพะและแกะ เล่าให้ฟังว่า ได้ปลูกพืชไร่หลายชนิด เลี้ยงแพะ 120 ตัว และเลี้ยงแกะ 30 ตัว ปัญหาการเลี้ยงแพะและแกะคือ ต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปราคาแพง ทำให้ต้องใช้ต้นทุนการเลี้ยงแพะและแกะสูง แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มทุน

จัดการปูภาชนะรองรับต้นข้าวโพดสับ

ในช่วงเวลาต่อมา สำนักงานเกษตรอำเภอโคกสำโรง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโคกสำโรง และอีกหลายหน่วยงานได้มาส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสดในช่วงอายุ 70-75 วัน แล้วนำมาสับและหมักให้แพะและแกะกินจะทำให้โตไว แข็งแรง และทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง จึงร่วมกับเพื่อนเกษตรกร 52 คน จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตพืชอาหารสัตว์ และสมาชิกแต่ละรายก็ได้จัดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสด 3-5 ไร่

คุณองอาจ เล่าให้ฟังอีกว่า ได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสด 5 ไร่ เมื่อตัดแล้วจะสับใส่ถุงพลาสติก นำไปจัดเก็บและหมักไว้ประมาณ 4 เดือน หลังการหมัก 7 วันก็นำมาเป็นอาหารเลี้ยงแพะและแกะได้ พร้อมกันนี้ ก็นำผลผลิตบางส่วนขายเป็นรายได้ วิธีนี้ช่วยให้ต้นทุนการเลี้ยงแพะและแกะลดลงด้วย

คุณองอาจ เพชรขุนทด นำต้นข้าวโพดสดทั้งต้นใส่เข้าเครื่องเพื่อสับละเอียด

การเตรียมดินแปลงปลูก ได้ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ในอัตรา 100 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินซึ่งจะทำให้ต้นข้าวโพดโตไว และหลังการปลูกก็จะไม่ใส่ปุ๋ยเพิ่มอีก จากนั้นได้ไถดินยกร่องแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ความยาวแปลงตามแนวพื้นที่ จัดให้มีร่องน้ำหรือทางเดินระหว่างแปลงปลูกกว้าง 70 เซนติเมตร ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 5 ปลูกเป็นแบบแถวคู่ให้มีระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร

การให้น้ำ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ปลูกง่ายและใช้น้ำน้อย ในฤดูแล้งได้นำน้ำจากบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ขึ้นมาแล้วจัดการให้น้ำต้นข้าวโพดทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ด้วยระบบสปริงเกลอร์ ได้ให้น้ำ 7 วัน ต่อครั้ง แต่พอชุ่มหรือดูความชุ่มชื้นดินด้วย การให้น้ำแบบนี้ได้ช่วยล้างใบพร้อมกับกำจัดหนอนให้ร่วงออกไปจากต้นข้าวโพดด้วย

ต้นข้าวโพดต้นสดที่ผ่านการสับจะไหลลงสู่ภาชนะรองรับ

การกำจัดวัชพืช ในแปลงข้าวโพดมักจะมีวัชพืชเจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมกับต้นข้าวโพด จำเป็นจะต้องกำจัดวัชพืชออกไปให้หมดเพื่อให้ต้นข้าวโพดได้รับอาหารพอเพียงต่อการเจริญเติบโตสมบูรณ์

การเก็บเกี่ยว หลังจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 70-75 วัน จะเป็นระยะที่ต้นข้าวโพดเจริญเติบโตสมบูรณ์เหมาะสม ได้ใช้มีดพร้าตัดที่โคนต้นชิดติดดิน เก็บรวบรวมนำเข้าโรงเรือนเพื่อเตรียมจัดการสับ

การสับ นำต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นสดทั้งต้นที่เตรียมไว้ใส่เข้าเครื่องสับเพื่อสับย่อยให้ละเอียดแล้วไหลออกลงสู่ผืนผ้าพลาสติกที่จัดไว้รองรับที่ด้านล่าง จากนั้นจัดเก็บใส่ถุงพลาสติก

สับแล้วใส่ในถุงพลาสติก น้ำหนัก 25 กิโลกรัมขายให้เพื่อนเกษตรกร 55 65 บาท

การจัดเก็บ นำต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้นสดที่สับแล้วใส่ในถุงพลาสติกที่จัดไว้เป็นถุงชั้นในและชั้นนอกสวมทับด้วยถุงปุ๋ย ชั่งให้ได้น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ต่อถุง มัดปากถุงให้แน่นทั้ง 2 ถุง จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อหมักไว้ในราว 4 เดือน และเมื่อหมักได้ 7 วันก็นำออกมาให้แพะและแกะกิน แพะและแกะ 1 ตัวจะกินต้นข้าวโพดสดสับและหมัก 3 กิโลกรัม ต่อวัน ก็จะได้รับทั้งโปรตีนสูง วิตามินและแร่ธาตุที่พอเพียง ทำให้แพะและแกะเจริญเติบโตแข็งแรง

ต้นข้าวโพดสับและหมักแล้วเทลงไปในรางให้แพะกิน ทำให้โตไว แข็งแรง

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดต้นสดนำมาสับและหมัก เมื่อให้แพะและแกะกินจะทำให้เติบโตแข็งแรง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และนำต้นข้าวโพดต้นสดที่สับและหมักจัดใส่ถุง 25 กิโลกรัม ขายให้เพื่อนเกษตรกร 55-65 บาท ต่อถุง ทำให้แต่ละปีมีรายได้เป็นเงินกว่าแสนบาท เพื่อก้าวสู่การยังชีพด้วยวิถีเศรษฐกิจที่พอเพียงและมั่นคง

ต้นสดข้าวโพดสับและหมัก แพะหรือแกะจะกิน 3 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณองอาจ เพชรขุนทด เลขที่ 346 หมู่ที่ 10 บ้านวังตาอินทร์ ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี โทร. (089) 920-5309 หรือที่ คุณสะอาด ศรีทอง สำนักงานเกษตรอำเภอโคกเจริญ โทร. (092) 247-4404 ก็ได้ครับ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2563