เกษตรกรไทย ในยุคโควิด-19

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอในช่วงนี้ เท่าที่ติดตามข่าวได้เห็นความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากทุกมุมโลก แต่กับบ้านเมืองเรา นอกจากปัญหาไข่ขาดตลาดในช่วงแรกก็ไม่เจอปัญหาในเรื่องอาหารการกินมากนัก ได้เห็นการแจกข้าวสารอาหารแห้งจากผู้ใจบุญอยู่มากมาย นั่นเป็นคำตอบหนึ่งว่าบ้านเมืองเรายังอุดมสมบูรณ์ดี เรายังสู้กับวิกฤติร้ายนี้ไปได้ด้วยดี นอกจากปัญหาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ยังมีคนได้-ไม่ได้แล้ว แทบจะไม่เห็นข่าวชาวบ้านแย่งซื้ออาหารกันสักนิด ไม่เหมือนภาคพื้นอื่นๆ ในโลกใบนี้

ในช่วงแรกที่เดินสายอบรม

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็น กลับเป็นการมีผลผลิตในปริมาณที่ล้นเกินในบางพื้นที่ และการบริหารจัดการในเรื่องขนส่งที่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก ผลไม้หลายชนิดที่เคยส่งออกได้ก็เจอปัญหา ต้องหาทางระบายภายในประเทศในแบบขายขาดทุนก็ต้องยอม เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุด นี่อาจเป็นปีแรกที่ผมได้กินลำไยกิโลละ 20-25 บาท มะม่วงอกร่องกิโลละ 10 บาท หรือแตงโมกิโลละ 3 บาท หรือบางพื้นที่ประกาศให้ไปเก็บกินฟรีๆ ก็ยังมีให้เห็น แต่ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่แปรรูปผลผลิตออกมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงกวน กล้วยตาก กล้วยอบบดผง หรือกระทั่งอาหารปรุงสำเร็จต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาจำหน่ายกัน

รวมกลุ่มแปรรูป

ผมรู้จักกับ พี่เอ๋ สุรัตน์ เทียมเมฆา โทร. (090) 562-9446, (094) 464-6149 แห่งสวนมาลีมาหลายปี เกษตรกรคนเก่งแห่ง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เดินตามรอยบรรพบุรุษในการทำอาชีพเกษตรกรรม และน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับประชาชนทุกคนมาปฏิบัติ จากแต่เดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมานาน ใส่ปุ๋ย ฉีดยา วนเวียนอยู่เช่นนั้น จนต้องถามว่า ตัวเองซึมซับเอาอาชีพเกษตรมาจากรุ่นสู่รุ่น แล้วยังจะเดินไปในแบบเดิมอีกหรือ

“จุดพลิกผันของพี่เกิดจากเมื่อปี 2550 พี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าม่วง จากนั้นทางสหกรณ์ก็ส่งไปอบรม จนได้มาเป็นผู้นำสหกรณ์”

ป้ายนำเสนอผลิตภัณฑ์

“โห! ถือว่าพัฒนามากเลยนะพี่”

“ก่อนนั้นพี่ก็ไม่คิดอะไรมากหรอก ทำเกษตรตามแบบพ่อแม่สอนกันมา จนได้ไปอบรมที่ศูนย์ 15 หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นชีวิตพี่ก็เปลี่ยนไปจนถึงทุกวันนี้”

“ขนาดนั้นเลยหรือพี่”

กระเจี๊ยบรอแปรรูป

“ใช่ ที่นั่นมีศาสตร์ของพระราชาให้เราได้เรียนรู้ พี่สนใจหลักของเศรษฐกิจพอเพียงมาก”

“กลับมาทำเลยไหม”
“ลุยเลย จากที่เคยทำเชิงเดี่ยวก็ปรับใหม่หมด เริ่มจากการปรับปรุงดิน ปรับพื้นที่ แยกประเภทพืชที่ปลูก วางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปลูกพืชผสมผสานให้เก็บผลผลิตได้หลายระยะ”
“แบบไหนพี่”

แปลงปลูกกระชายผสมผสาน

“ดูแปลงนี้ 10 ไร่ พี่ปลูกกระชายลงไป ซึ่งกระชายจะใช้เวลา 8 เดือนขึ้นไปจึงจะเก็บเกี่ยวได้ เราก็แซมพืชที่เก็บผลผลิตในระยะสั้นกว่า พี่ก็เลยลงเผือกหอมอายุ 5 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ ยังมีพืชอายุสั้นที่ปลูกลงไปอีกคือผักชี 45-50 วันเราก็เก็บขายมีรายได้แล้ว การทำงานเราก็ง่าย จัดช่วงจังหวะเวลาเก็บเกี่ยวพืชผลแต่ละชนิดได้ไม่ซ้ำกัน”

อบผลผลิต

ด้วยความที่ครอบครัวมีอาชีพเกษตรกรรม ในพื้นที่ของพี่เอ๋ จึงมีพืชผลอีกหลายชนิดทั้ง มะม่วง มะนาว มะกรูด ขนุน มะขามฝักใหญ่ กล้วยน้ำว้า กล้อยหอมทอง ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็เก็บขายสด โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ แต่มีบางครั้งที่ผลผลิตในท้องตลาดมีมาก ราคาก็ตก พ่อค้าแม่ค้าก็กดราคารับซื้อ ทำให้การขายแต่ละครั้งแทบไม่พอกับค่าแรงในการเก็บผลผลิต

เมื่ออยู่เช่นนี้ก็ทำได้เท่านี้ จึงทำให้พี่เอ๋ต้องกลับไปนั่งอบรมอีกครั้ง ที่ศูนย์ส่งเสริมภาค 8 มีการอบรมเรื่องการแปรรูปผลผลิต ทำให้พี่เอ๋เริ่มกลับมาแปรรูปจากวัตถุดิบที่มีทั้งแป้งกล้วย กระเจี๊ยบผง กระชายผง มะขามแช่อิ่ม มะม่วงแช่อิ่ม ทั้งหมดนี้ได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานและความชื้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในแบรนด์ สวนมาลี

มะนาวเส้นแปรรูป

“พี่เอ๋ทำครบวงจรเลยนะเนี่ย”
“ไปไม่ไหวไง เราขายแบบสดๆ ให้เขาไปก็โดนกดราคา สู้เราแปรรูปเอง ขายเองยังได้กำไรมากกว่า และที่สำคัญ พี่ยังรวมกลุ่มสมาชิกเป็นวิสาหกิจชุมชน ร่วมกันแปรรูปผลผลิตให้ได้หลากหลาย โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลืออย่างดี”

“ผงกล้วย แปลกดีนะพี่ เอามาทำอะไร”
“แป้งกล้วยนี่พี่ทำจากกล้วยดิบ เอามาชงกินได้เลยนะ รักษากรดไหลย้อนได้ดีเลย บางคนเอาไปทำขนมได้ด้วย”
“แล้วเส้นๆ นี่อะไรพี่”
“มะม่วงเส้นเชื่อม สูตรนี้เกิดขึ้นมาในยุคโควิดเลยนะ เพราะขายผลผลิตไม่ได้ พี่ก็เลยจับมาแปรรูป ทำไปทำมาก็เลยกลายเป็นแบบที่เห็นนี่แหละ”
“ทำยากไหมพี่ บอกสูตรได้ไหม”

ผลิตภัณฑ์จากสวนมาลี

“ก็ยากอยู่นะ แต่พี่จะบอกสูตรให้ เอาผลดิบมะม่วงมาแปรรูป พี่มีมะม่วง R2E2 ซึ่งมีผลใหญ่ เนื้อหนาและแน่น ชั่งมะม่วง 7 กิโล น้ำตาล 1 กิโล แบะแซ ครึ่งกิโล คิดราคาดูนะมะม่วงกิโลละ 20 บาท = 140 บาท น้ำตาล 22 บาท แบะแซ 18 บาท = 180 บาท เป็นต้นทุนวัตถุดิบ เมื่อเชื่อมแล้ว จะได้เนื้อมะม่วงเส้นเชื่อม 5 กิโล ขายกิโลละ 200 บาทไม่รวมค่าส่งก็จะขายได้ 1,000 บาท หักต้นทุนวัตถุดิบ 180 บาทบวกค่าแรงตัวเอง 200 บาท ค่าแก๊ส 100 บาทก็ยังมีกำไรประมาณ 500 กว่าบาท”

“โห! รายได้ไม่เลวเลยนะพี่”

โชว์ป้ายสักนิด

“ก็ทำเกือบทั้งวันนะ แต่คิดยังไงก็คุ้ม การแปรรูปทำให้เราเก็บไว้ได้นานขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้มะม่วงสุก กินไม่ทันก็กวน ตอนนี้ใครๆ ก็ทำมะม่วงกวนกันเต็มไปหมด พี่ก็เลยหันมาทำตั้งแต่มะม่วงยังไม่สุก ทำไปเรื่อยขายไปเรื่อย”

แปรรูปว่านหางจระเข้-น้ำเชื่อม

“ตลาดล่ะพี่”
“อยู่ที่ปากและนิ้วเรานี่แหละจ้ะ ประกาศบอกไป หรือพิมพ์แจ้งไปตามโซเชียลที่เราเล่นอยู่ เฟซบ้าง ไลน์บ้าง ทำไปทำมา ขายดีจนทำไม่ทันเลยนะ คนกินก็ชอบ เราเองก็ชื่นใจ”
“ครบสูตรเลยพี่ ปลูกได้ ขายเป็น เน้นสตอรี่ มีดีที่แปรรูป โควิดได้รับผลกระทบไหม”

เส้นมะม่วงเตรียมแปรรูป

“ไม่เหลือสิทิดเอ๊ย! ของก็ขายยาก ส่งไปปลายทางก็เสียหายหลายครั้ง เราก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม ทั้งแอลกอฮอล์ทั้งหน้ากาก ดีที่ว่าเราเป็นเกษตรกร ปลูกผัก ผลไม้ไว้เอง ปลาก็หากินได้ไม่ยากเรื่องนี้ก็เลยไม่กระทบมากนัก เชื่อพี่นะ การเกษตรนี่แหละที่จะเป็นกองกำลังที่สำคัญของบ้านเมืองเราต่อไป คนต้องกินต้องอยู่ทุกวัน ดูบ้านเมืองอื่นเขาแย่งอาหารกันแล้วพี่ยิ่งเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว ศาสตร์พระราชานี่แหละที่จะพาเรารอดกัน พอเพียง ท่องเอาไว้นะ”
…………………………………………………………………………………………………………………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่