สมาคมหมู เผยโควิด – ASF กระทบหมูขาดแคลนทั่วโลก ชี้เป็นโอกาสดันกระทบหมูขาดแคลนทั่วโลก

Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มองสถานการณ์โควิดสหรัฐฯน่าห่วง สั่งปิดโรงฆ่าสัตว์-โรงงานแปรรูป 97 แห่ง พร้อมระงับการส่งออกสินค้าบางส่วน กระทบปริมาณอาหารโลก ขณะ ASF กระทบอุตสาหกรรมหมูทั้งภูมิภาคหลายประเทศขาดแคลนหนัก ส่งผลราคาพุ่ง      ชี้หมูไทยปลอดโรค-ตลาดต้องการ เป็นโอกาสส่งออก

น.สพ. วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหมูทั่วโลกในปัจจุบันว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและอาจลุกลามไปถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อที่เป็นพนักงานของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และอาหารมากกว่า 11,000 คน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐฯ หลายบริษัทต้องปิดโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปหลายแห่ง

“สหรัฐฯต้องปิดโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปมากถึง 97 แห่ง ทั้งโรงชำแหละหมู 25 แห่ง โรงชำแหละไก่ 34 แห่ง โรงชำแหละวัว 38 แห่ง ปริมาณเนื้อสัตว์ที่หายไปกระทบกับปริมาณอาหารในสหรัฐฯ ส่งผลถึงระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่สูงขึ้น และในการที่สหรัฐฯเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์เบอร์ต้นๆ ของโลก จึงจำเป็นต้องระงับการส่งออกสินค้าบางส่วน เพื่อรักษาปริมาณอาหารในประเทศไม่ให้ขาดแคลน ย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” น.สพ. วิวัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกันในภูมิภาคเอเชียยังเกิดปัญหาโรค ASF ในหมู ที่ส่งผลต่อปริมาณเนื้อหมูในภูมิภาค ยกตัวอย่าง เวียดนาม ที่เป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อหมูอันดับ 6 ของโลก แต่การระบาดของ ASF ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนหมูอย่างหนัก ราคาเนื้อหมูพุ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี ทางการเวียดนามต้องเพิ่มการนำเข้าเนื้อหมูเพื่อบรรเทาปัญหา เฉพาะ 4 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 300% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยก่อนหน้านี้เวียดนามนำเข้าหมูจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อสหรัฐฯไม่สามารถส่งออกหมูมาได้ จึงต้องนำเข้าจากประเทศอื่นในราคาที่สูงขึ้น

“วันนี้น่ายินดีที่ไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก จากการจัดอันดับ 184 ประเทศ และไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF ทำให้ราคาหมูไทยถูกที่สุดในภูมิภาค เพราะไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลน และหมูไทยยังกลายเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูและภาคปศุสัตว์ไทย จากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมฯ ที่ต้องประสานความร่วมมือผลักดันอุตสาหกรรมหมูสู่ตลาดโลก” น.สพ. วิวัฒน์กล่าว