จีนบุกยึดตลาด “แก้วมังกร” ผู้ค้าเวียดนามจำยอมเป็นลิ่วล้อ

“เวียดนาม” จัดเป็นหนึ่งในประเทศที่เลื่องลือในเรื่องแก้วมังกรที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในจังหวัดบิ่ญถ่วน ที่มีพื้นที่เพาะปลูกแก้วมังกรมากที่สุดในประเทศถึง 22,000 เฮกตาร์ ผลผลิตแก้วมังกร 80-85% ถูกส่งออกไปขายต่างชาติ และบริโภคภายในประเทศเพียง 15-20% เท่านั้น

ตลาดส่งออกหลักคือ จีน เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า แก้วมังกรเป็นหนึ่งในผลไม้มงคล ด้วยลักษณะภายนอกสีแดงสด และมีเปลือกคล้ายเกล็ดมังกร นอกจากนี้เวียดนามยังส่งออกไปเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐ และแคนาดา โดยแต่ละปีส่งออกแก้วมังกรเฉลี่ยที่ 35,000 ตันต่อปี

ด้วยศักยภาพในการเพาะปลูกของเวียดนาม ทำให้นักธุรกิจจีนเข้ามากว้านซื้อผลไม้จากเจ้าของสวน ปัจจุบันพบว่านักธุรกิจจีนเข้ามาควบคุมจัดการทั้งราคาและซัพพลายกิจการผลไม้ในท้องถิ่น ต่วยแจ๋ 

สื่อท้องถิ่นเวียดนามรายงานเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักธุรกิจชาวจีนจำนวน 12 คน ถูกจับกุมด้วยข้อหาดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะธุรกิจการซื้อขายแก้วมังกร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวจีนจำนวนมากยังคงเข้าควบคุมตลาดผลไม้เช่นเคย โดยเจ้าหน้าที่บริหารท้องถิ่นในเขตฮามถ่วนนาม 

มองว่า “เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าชาวจีนอยู่เบื้องหลังการจดทะเบียนธุรกิจที่ทำโดยคนเวียดนามหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายถูกล่อด้วยผลกำไร และอนุญาตให้จีนเข้ามาครอบงำกิจการได้สำเร็จ”

จากการลงพื้นที่ในเมืองฮามถ่วนนามของสื่อท้องถิ่นเวียดนาม เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยขอให้จัดส่งแก้วมังกรไปยังเมืองดานัง แต่คนท้องถิ่นปฏิเสธและยืนยันเพียงว่า “แก้วมังกรเหล่านี้จะจัดส่งไปยังประเทศจีนเท่านั้น”

เช่นเดียวกับตลาดแก้วมังกร 2 แห่งที่อยู่ในละแวกใกล้ ๆ กันคือ ตลาดตามฮวา และซวนดินห์ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้ขายผลไม้ให้ตลาดเวียดนาม แต่กลับส่งออกผลไม้ไปตลาดจีนเป็นการเฉพาะ ซึ่งตลาดค้าผลไม้เหล่านี้ล้วนมีเบื้องหลังที่คล้ายกัน คือแรงงานเป็นชาวเวียดนาม แต่เจ้าของตัวจริงคือ พ่อลูกชาวจีน

ส่วนใหญ่ทั้งผู้ประกอบการท้องถิ่นและเจ้าของกิจการชาวจีน จะใช้วิธีติดต่อซื้อขายแก้วมังกรราคาต่ำจากเจ้าของสวนโดยตรง เหงียน ถิ ฟ้วก เกษตรกรที่เคยตกเป็นเหยื่อ เล่าว่า “พวกเขาจะมาติดต่อซื้อในตอนเช้าและเสนอซื้อในราคาหนึ่ง ก่อนจะกลับเข้ามาอีกครั้งพร้อมราคาใหม่ที่ต่ำกว่าครั้งแรก”

“ผู้ค้าที่มาติดต่อซื้อผลไม้จะใช้วิธีตำหนิสินค้า เพื่อบังคับให้เกษตรกรยอมจำนนขายในราคาที่ต่ำ หากเราปฏิเสธข้อเสนอนั้น พวกเขาจะกลับมาในวันรุ่งขึ้น พร้อมราคาซื้อที่ต่ำกว่าเดิม”

เกษตรกรรายหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราต้องการขายแก้วมังกรในราคา 7,000 ด่องต่อกิโลกรัม แต่พ่อค้าคนกลางกลับยื่นข้อเสนอที่ถูกกว่า เพียงกิโลกรัมละ 6,000 ด่อง พร้อมตำหนิว่าผลไม้มีคุณภาพต่ำ และถ้าไม่ยอมขายก็ต้องขนแก้วมังกรกลับสวนและทนดูผลไม้เน่าเสียไปเปล่า ๆ” 

ธาน หนึ่งในนายหน้ารับซื้อผลไม้คนเวียดนาม เผยว่า “คุณไม่สามารถขายให้กับผู้ประกอบการคนอื่นได้นอกจากชาวจีน” แม้ธานจะไม่เต็มใจที่จะทำงานให้กับคนจีนนัก แต่นายหน้ารับซื้อผลไม้ท้องถิ่นก็ไม่สามารถแข่งขันกับคนจีนได้

ไม่เพียงแต่ธาน แต่ยังหมายถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น และพ่อค้าขายส่งคนอื่น ๆ ที่ล้มเหลวและไม่สามารถแข่งขันกับนักธุรกิจที่เข้ามาได้ ทั้งยังต้องปิดกิจการของตัวเอง และหันไปทำงานให้กับคนจีนแทน

แม้สมาคมแก้วมังกรเวียดนามมีแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก เพื่อช่วยต่อยอดรายได้เกษตรกร แต่หากนโยบายช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุมความมั่นคงของกิจการคนท้องถิ่น อนาคตของเศรษฐกิจเวียดนามคงชวนให้หนักใจมากกว่า เพราะผู้กุมอำนาจทางการซื้อและผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงกลับไม่ใช่พลเมืองของตนเอง

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์