ผู้คนคึกคัก แห่เที่ยวชมงาน “ต่อยอด ชีวิตวิถีใหม่ ไปกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ”

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “ต่อยอด ชีวิตวิถีใหม่ ไปกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ” ว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสถานที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันสำคัญ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งสถานที่นี้ขึ้นเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเป็นแห่งแรก

โดยได้ทรงวางแนวทางให้เป็นสถานที่ศึกษาและแสดงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ที่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปสามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสม

“ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าทรงให้ความสำคัญกับงานพัฒนา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น และพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 4,800 โครงการ ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์และคงอยู่เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรอย่างมั่นคงถาวร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศของเราให้พัฒนาได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป” นายพลากร กล่าว

ด้าน นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวว่า สำนักงาน กปร. จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พร้อมใจกันจัดงานนิทรรศการวันสถาปนาศูนย์ศึกษาฯ ขึ้น เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเป็นแห่งแรก จากทั้งหมด 6 ศูนย์ ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ให้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยทดลอง และหารูปแบบการประกอบอาชีพด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิสังคม เพื่อช่วยให้ราษฎรมีรูปแบบการประกอบอาชีพที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้เทคโนโลยีเรียบง่ายที่หาได้ในชุมชน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้ดำเนินการจวบจนปัจจุบันครบรอบวาระปีที่ 41 โดยขยายผลองค์ความรู้ และแสดงรูปแบบแห่งความสำเร็จไปสู่เกษตรกรและประชาชน ในลักษณะพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 12 สิงหาคม 2563 ด้วยพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในทุกพื้นที่เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า อันเป็นภาพที่ประทับไว้ในใจของพสกนิกรชาวไทยไม่ลืมเลือน

“เพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้มั่นคงถาวร และสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนสืบต่อไป สำนักงาน กปร. จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานครั้งนี้ขึ้น” นายดนุชา กล่าว

งานนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-12 สิงหาคม 2563 มีการนำผลสัมฤทธิ์จากการขยายผลองค์ความรู้จากกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของหน่วยงานภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จำนวน 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน งานเพาะชำกล้าไม้ งานสวนรุกขชาติ งานวิชาการเกษตร งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร งานส่งเสริมสหกรณ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา งานประมง งานชลประทาน งานส่งเสริมการเกษตร งานสวนพฤกษศาสตร์ งานพัฒนาชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ ในการศึกษา ทดลอง วิจัย และขยายผลการพัฒนาผ่านองค์ความรู้ที่พิสูจน์มาแล้วถึง 41 ปี

ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานพัฒนาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปสู่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และผู้สนใจทั่วประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัวตามวิถีชีวิตใหม่ในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพนำผลสำเร็จไปขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ฯ จำนวน 43 หมู่บ้าน 12,403 ครัวเรือน โดยเกษตรกรมีรายได้และมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน

ภายในงานมีประชาชนทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาเที่ยวชมอย่างคึกคัก และส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับความสำเร็จของเกษตรกรขยายผลที่ได้เดินทางมาเป็นผู้ให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่า การน้อมนำแนวพระราชดำริในด้านต่าง ๆ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพนั้นทำให้เกษตรกรมีกินมีใช้มีเก็บไม่ขัดสนไม่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมจะอยู่ในสภาพอย่างไร

ปัจจุบันสังคมโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก เพื่อการเฝ้าระวังต่อสุขภาพ ลดการเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดถึงการติดต่อระหว่างกันก็ตาม ราษฎรเหล่านี้ก็ยังมีกินมีใช้อย่างสมบูรณ์  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงวางรากฐานแนวทางในการใช้ชีวิตและดำรงชีพไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้อย่างมั่นคงเสมอมา