กรมส่งเสริมการเกษตร วอนชาวไร่มัน เริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ใช้พันธุ์ทนโรคใบด่าง KU 50 ระยอง 72 ห้วยบง 60 เลิกปลูกพันธุ์อ่อนแอ

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักโรคใบด่างมันสำปะหลัง รวมถึงวิธีป้องกันและกำจัด ควบคู่ทั้งการสำรวจแปลงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำลายต้นที่เป็นโรคอย่างถูกวิธี กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะนำโรค รวมไปถึงสั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจแหล่งปลูกและส่งเสริมใช้พันธุ์ที่ทนต่อโรค เช่น เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 72 ห้วยบง 60 และเลิกปลูกพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น พันธุ์ 89

ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยทดสอบพันธุ์ที่ทนต่อโรคดังกล่าวแล้ว ได้ผลดี ควบคู่กับการแนะนำแหล่งขายท่อนพันธุ์ปลอดโรค รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้เทคนิคขยายพันธุ์แบบเร่งรัด x20 เพื่อให้ได้ต้นกล้ามันสำปะหลังจำนวนมากในระยะเวลาสั้น

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อเตรียมการผลิตในฤดูกาลต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรขอให้เกษตรกร ใช้พันธุ์ที่ทนต่อโรค เช่น เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 72 ห้วยบง 60 และเลิกปลูกพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น พันธุ์ 89 ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยทดสอบพันธุ์ที่ทนต่อโรคดังกล่าวแล้วได้ผลดี รวมถึงไม่ใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคปลูกซ้ำ หรือ นำมาขายโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไม่สามารถหยุดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังได้

นอกจากนี้  ได้รวบรวมแหล่งขายท่อนพันธุ์ปลอดโรค รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้เทคนิคขยายพันธุ์แบบเร่งรัด x20 เพื่อให้ได้ต้นกล้ามันสำปะหลังจำนวนมากในระยะเวลาสั้น เพื่อให้มีท่อนพันธุ์ที่เพียงพอในฤดูกาลผลิตต่อไป เกษตรกรที่สนใจแหล่งขายท่อนพันธุ์ สามารถเข้าดูแหล่งจำหน่ายท่อนพันธุ์ปลอดโรค ได้ที่ http://ssmap.doae.go.th เลือก แหล่งท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด 2563 จะแสดงข้อมูล ชื่อเกษตรกร เบอร์โทรศัพท์ พันธุ์ที่จำหน่าย ปริมาณที่มีจำหน่าย ช่วงเวลาที่เริ่มจำหน่าย

“ย้ำเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง  ให้หมั่นสำรวจแปลง หากพบอาการที่ต้องสงสัยให้ทำลายทันที และไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคซ้ำหรือนำมาขาย รวมถึงไม่ซื้อท่อนพันธุ์ที่ไม่ทราบแหล่งปลูกเด็ดขาด หากพบหรือสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านทันที” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันพบการระบาดใน 27 จังหวัด ของประเทศไทย