ปุ๋ยพืชสด ทำได้ง่าย ต้นทุนถูก ปรับปรุงบำรุงดิน ให้มีผลผลิตต่อไร่สูง

ทุกวันนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ในทิศทางขาลง หากเกษตรกรคนใดต้องการลดต้นทุนการผลิต ขอแนะนำวิธีที่ทำได้ง่ายและต้นทุนถูก คือ ปลูกปุ๋ยพืชสด ที่สามารถตอบโจทย์ 3 ข้อ ที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด คือ ช่วยให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยปรับปรุงบำรุงดินไปพร้อมๆ กัน 

ต้นถั่วพร้า

รู้จัก “ปุ๋ยพืชสด” กันรึยัง?

ปุ๋ยพืชสด คือปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง ย่อยสลายง่าย โดยใช้วิธีการไถกลบ ต้น ใบ และส่วนต่างๆ ของพืชที่ยังสดอยู่ลงในดิน เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ระยะเวลาที่พืชปุ๋ยสดจะให้คุณประโยชน์สูงสุด คือช่วงระยะออกดอก เพราะเป็นช่วงที่พืชมีธาตุอาหารสูงสุด โดยจะตัดส่วนเหนือดินไถลบลงดินแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชหลักที่จะปลูกตามมา

พืชปุ๋ยสดที่คนส่วนใหญ่รู้จักและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ พืชตระกูลถั่ว เพราะหาเมล็ดพันธุ์ปลูกได้ง่าย เมื่อนำไปจำหน่ายก็ได้ราคาดี พืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ โสนแอฟริกัน โสนอินเดีย ปอเทือง อัญชัน ไมยราบไร้หนาม พืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม เป็นต้น

ปลูกถั่วพร้า

การปลูกปุ๋ยพืชสด จะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช (Function of Organic Matter in Soil) อาทิ เป็นแหล่งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส สำหรับการเจริญเติบโตของพืช มีผลอย่างมากต่อการทำงานของจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ช่วยเสริมโครงสร้างดินให้ดีขึ้น เพิ่มอากาศ กักเก็บความชื้น เพิ่มประจุความสามารถของดินในการแลกเปลี่ยนเกลือ แร่ธาตุ และการปรับสมดุล กรด-ด่าง ในดินได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด

ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสดมีมากมาย เช่น เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้แก่พืช กรดที่เกิดจากการผุพังของพืชสดจะช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืชได้มากยิ่งขึ้น บำรุงและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยพืชปุ๋ยสดจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยที่ตกค้างจากการใส่แปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพืชหลัก เป็นการป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารไม่ให้ถูกชะล้างไป พืชตระกูลถั่วที่มีระบบรากลึกก็สามารถดูดดึงธาตุอาหารที่อยู่ในดินชั้นล่างขึ้นมาในลำต้น กิ่ง ก้าน และใบได้ เมื่อไถกลบพืชปุ๋ยสด และสลายตัวแล้วธาตุอาหารเหล่านั้นก็จะตกอยู่ในดินชั้นบน อันจะเป็นประโยชน์แก่พืชเศรษฐกิจหลักต่อไป

นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยพืชสดจะช่วยทำให้ดินร่วนซุย สะดวกในการเตรียมดินและไถพรวน อุ้มน้ำได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการรักษาความชุ่มชื้นในดินอีกทางหนึ่ง ช่วยควบคุมวัชพืชบางชนิดได้เป็นอย่างดี ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้บางส่วน ช่วยลดอัตราการสูญเสียดิน อันเกิดจากการชะล้าง และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตของพืชให้สูงขึ้นด้วย

“ปุ๋ยพืชสด” ดีกว่า “ปุ๋ยเคมี” อย่างไร?

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายของปุ๋ยพืชสดต่ำกว่าปุ๋ยเคมีอย่างมหาศาล เพราะปุ๋ยพืชสดสามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องง้อพ่อค้าในช่วงสถานการณ์ปุ๋ยแพง รวมถึงเมล็ดพันธุ์ก็สามารถขอรับฟรีได้ ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จะมีก็เพียงการไถเตรียมแปลงที่เกษตรกรต้องลงทุนเองเท่านั้น

ส่วนทางด้านปฏิกิริยาต่อดินนั้น พบว่า การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน จะทำให้ดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปอย่างรวดเร็ว ดินจะแข็ง ไม่ร่วนซุย ดูดซับน้ำและแร่ธาตุอาหารพืชได้น้อยลง ส่งผลทำให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดี…ท่านทั้งหลายคงไม่แปลกใจที่หลังจากใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานาน หน้าดินจะแข็งและเกิดภาวะดินไม่กินปุ๋ย ทำให้ต้องใส่ปุ๋ยในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

หากพิจารณาในภาพรวมทางด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวเงิน แรงงาน และเวลา ในการผลิตปุ๋ยพืชสดยิ่งชนะปุ๋ยเคมีขาดลอย แม้กระทั่งปุ๋ยคอกยังสู้ไม่ได้ โดยเฉพาะในแปลง/ไร่นา ที่มีขนาดใหญ่ เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียวจะสูญเงินไปมาก เพราะทุกวันนี้ปุ๋ยคอกเริ่มหาซื้อได้ยาก ราคาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ หากจะใช้ปุ๋ยคอกจริงๆ ก็ต้องใช้เป็นตันๆ ถึงจะเห็นผลดี ไหนจะต้องหาแรงงานในการช่วยหว่าน นึกแล้วลำบากแทน ไฉนเลยจะสู้ปุ๋ยพืชสด-พระเอกตัวจริงได้…

พืชปุ๋ยสด ชนิดไหนดีที่สุด?

คำถามนี้ตอบได้ยาก เพราะแต่ละชนิดดีใกล้เคียงกัน…เกษตรกรคงต้องเลือกชนิดที่เหมาะกับตนเองมากที่สุดจะดีกว่า แต่ด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันของพืชปุ๋ยสด ก่อนตัดสินใจปลูก…เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลคุณสมบัติของพืชปุ๋ยสดแต่ละชนิดให้เหมาะกับลักษณะพื้นที่ สภาพดิน และฤดูกาลปลูกเสียก่อน รวมทั้งคำนึงถึงแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ จำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก วันออกดอก และวันไถกลบด้วย

สำหรับคุณสมบัติของพืชปุ๋ยสดแต่ละชนิด พิจารณาได้จากชนิดของพืชปุ๋ยสด ลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะสม ฤดูปลูกที่เหมาะสม จำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก วันออกดอก (วัน) วันไถกลบ (วัน) เพื่อการไถกลบ เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ หว่านไถกลบ กิโลกรัม/ไร่ ปลูกขยายพันธุ์ กิโลกรัม/ไร่

ปอเทือง ชอบที่ดอนที่มีการระบายน้ำดี ปลูกก่อนหรือปลายฤดูฝน กลางหรือปลายฤดูฝน

โสนอินเดีย ชอบดินเหนียว ทนเค็ม ปลูกก่อนฤดูฝน

โสนแอฟริกัน ชอบดินที่ดอนและลุ่ม ทนเค็ม ปลูกก่อนฤดูฝน

ถั่วพุ่ม ชอบที่ดอน ทนแล้ง ปลูกก่อนหรือปลายฤดูฝน

ถั่วพร้า ปุ๋ยพืชสด

ถั่วพร้า ชอบดินเหนียวและดินกรด ทนแล้ง ปลูกก่อนฤดูฝน หรือปลายฤดูฝน

ถั่วเขียว ชอบดินที่ดอน ทนแล้ง ปลูกก่อนฤดูฝน หรือปลายฤดูฝน

หากเกษตรกรท่านใดสนใจ อยากลองผลิต “ปุ๋ยพืชสด” : สุดยอดเมนูเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดิน ดินที่เกษตรกรไทยไม่ควรมองข้าม สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศได้ เพราะคุณประโยชน์ที่ได้ นอกจากเพิ่มความสมบูรณ์ให้ดินแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลดลง เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเหมือนเคย รวมทั้งมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้แก่สถานีพัฒนาที่ดิน เพื่อนำไปขยายผลแก่เกษตรกรที่สนใจ นำไปปลูกเพื่อปรับปรุงดินต่อไป…

ขอบคุณ ข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์