ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน หารือกับประเทศกัมพูชาเรื่องการผันน้ำจากกัมพูชาเข้าประเทศไทย หลังจากพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เจรจาไว้เบื้องต้นแล้ว และให้สอบถามเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยว่าการจะผันน้ำจากกัมพูชามายังฝั่งไทย ต้องวางระบบอย่างไร รวมถึงแผนใช้น้ำของกรมชลประทานที่สำรองไว้เพื่อนำใช้ในการทำการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หรือไม่อย่างไร
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯกำลังเตรียมรายละเอียดของโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงนัม ประเทศกัมพูชา เข้ามาใช้ในฝั่งไทย เข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเดินหน้าโครงการนำน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาสำรองใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย เพราะกรมชลประทานประเมินว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทยจะเติบโตมากขึ้น จำเป็นต้องมีน้ำสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน
“โครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงนัม เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ที่กระทรวงพลังงานไปเจรจาซื้อน้ำมาผลิตไฟฟ้า และเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกัมพูชากับไทย ทางกรมชลประทานเล็งเห็นน้ำที่เหลือจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า หากปล่อยทิ้งก็สูญเปล่า แต่หากเจรจาต่อรองเพื่อผันเข้ามาทางจันทบุรี มาเข้าเขื่อนประแสร์ไว้ใช้ในภาคตะวันออก หากไม่เตรียมสำรองอาจเกิดวิกฤตขาดน้ำได้ ภายในประเทศได้เตรียมสร้างอ่างเก็บไว้ 4 อ่างที่วังโตนด จังหวัดจันทบุรี เก็บน้ำได้ประมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพียงพอใช้ใน 4-5 ปีข้างหน้า ”
นายสมเกียรติ กล่าวว่า แม้เป็นการสำรองน้ำเพื่อรองรับความต้องการใน 5-10 ปีข้างหน้า แต่ต้องเริ่มเจรจาว่าน้ำที่จะเอามาใช้ในฝั่งไทย เป็นน้ำเหลือจากการสร้างพลังงานไฟฟ้าที่กัมพูชา หากกัมพูชาขายแพง ไทยคงต้องหาวิธีอื่น หากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะไทยยังมีแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศที่มีประสิทธิภาพพอสมควร เพราะโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสตึงนัม ไม่ได้มีเพียงค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำ ยังมีเรื่องการวางระบบจากกัมพูชาเข้ามาไทยที่จันทบุรี และวางท่อต่อไปอ่างเก็บน้ำซึ่งยังไม่สรุปเรื่องระยะทางต้องหารือในกนช.ก่อน รวมถึงต้องศึกษาการพัฒนาน้ำจากลุ่มน้ำแหล่งอื่นๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาใช้และสำรองในเวลาที่จำเป็น