33 ปี นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นวัตกรรมใหม่ เพื่อเกษตรไทย ยุค 5G INNOVATION FOR NEW NORMAL “มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสินค้าทางการเกษตร” (ตอนจบ)

จากปักษ์ที่แล้วได้เล่าถึงเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ของการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ของบริษัท เจียไต๋ จำกัด ที่ได้มีการพัฒนาและวิจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างเต็มรูปแบบ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ BIOTEC ที่เป็นต้นแบบการผลิตพืชในอนาคตที่สามารถสร้างอาหารได้อย่างมั่นคงในการปลูกพืชที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้เราทราบได้ว่ายุคนี้การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้มีวิทยาการใหม่ๆ แล้ว ยังสามารถช่วยงานด้านการเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

คุณอรนุช ทัพพสารดำรง

ในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีในช่วงท้ายของการพูดคุยในเรื่องของนวัตกรรมสร้างอนาคต โดยมีการสร้างผลิตผลทางการเกษตรให้มีความทันสมัยและสามารถเกิดรายได้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการทำเกษตรปลายน้ำที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาสร้างเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

คุณอรนุช ทัพพสารดำรง รองกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร ศูนย์วิจัย-พัฒนา ซีพีเอฟ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีพืชผลทางการเกษตรค่อนข้างที่จะหลากหลายและปริมาณมาก การจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาสร้างเป็นอาหารก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรเช่นกัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี รสชาติและความนิยมของผู้บริโภคมีความแตกต่างกันไปแต่ละยุคสมัย ดังนั้น การผลิตสินค้าแปรรูปต่างๆ ต้องปรับสูตรและสร้างให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งซีพีเอฟมีการผลิตอาหารที่แตกต่างกันไปของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น การผลิตอาหารกล่อง การผลิตไส้กรอก และอาหารกล่องต่างๆ เพื่อสร้างอาหารสู่ตลาดได้อย่างมีคุณภาพ

คุณวุฒิชัย ชะนะมา

“การผลิตของเราต้องเน้นในเรื่องของการฟังเสียงผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะฉะนั้น การผลิตอาหารกล่องของเราที่มีขาย ส่วนมากเราต้องทำตามความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้น เราจะมีเครื่องทดสอบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพต่างๆ อย่างเช่น ความนุ่มของไก่เราก็จะมีเครื่องวัดอยู่เสมอ จึงทำให้เมื่อลูกค้ารับประทานกี่ครั้งก็ยังคงความอร่อยเหมือนเดิม ดังนั้น การฟังเสียงลูกค้าเป็นหลักจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าผลิตมาแล้วลูกค้าไม่ชอบ การผลิตนั้นก็เกิดความเสียหาย ดังนั้น การทำอาหารกล่องที่ขายของเราจะต้องมีการพัฒนาและมีการทำวิจัยอยู่เสมอ” คุณอรนุช กล่าว

ดังนั้น การผลิตอาหารกล่องต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก พร้อมกับมีการพัฒนาการสร้างสูตรใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็จะช่วยให้สินค้าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และปัจจุบันมีการใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้การผลิตเองก็มีการปรับเปลี่ยนก็เป็นการผลิตไปตามความต้องการของตลาด เป็นการสร้างอาหารบนพื้นฐานความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

คุณวีรพงศ์ สุโอสถ

ด้าน คุณวุฒิชัย ชะนะมา เจ้าของผลิตภัณฑ์ “บานาน่า โซไซตี้” เมืองสองแคว เล่าว่า การทำกล้วยตากที่มีความทันสมัยนั้น ในช่วงเริ่มแรกเป็นเพียงอุตสาหกรรมใต้ถุนบ้านเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้มาทำเองอย่างเต็มตัวจึงได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยทำกล้วยตากที่เป็นธุรกิจของครอบครัว จึงทำให้เกิดการเรียนรู้และได้เห็นการทำกล้วยตากอยู่เสมอในช่วงวัยเด็ก เมื่อสามารถมาจับทางการผลิตเองได้จึงได้เห็นว่ากล้วยตากที่ทำกันอยู่เดิมมีทั้งตากแบบธรรมดาและอบน้ำผึ้ง ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ทำให้เกิดแนวความคิดที่อยากจะทำให้เป็นสินค้าที่พัฒนาขึ้น พร้อมกับการนำงานวิจัยต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนา ทำให้กล้วยตากมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นสินค้าน่าซื้อที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

“เรามีการสร้างการอบพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้กล้วยตากของเราไม่ต้องตากแดดตากลมเหมือนสมัยก่อน ต่อมาจึงมีการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า ชื่อแบรนด์ บานาน่า โซไซตี้ และมีการพัฒนาห่อและบรรจุ และสร้างเป็นรสชาติต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนจากสินค้าโอท็อป มีความอินเตอร์มากขึ้น มีการสร้างแบรนด์ที่ติดตา ทำให้มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าอย่างที่เห็นในทุกวันนี้” คุณวุฒิชัย กล่าว

ผลิตภัณฑ์ “บานาน่า โซไซตี้”

คุณวุฒิชัย กล่าวเสริมว่า เมื่อมีความตั้งใจและต้องการทำผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่า ตัวสินค้าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในการขายตัวเอง เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์บานาน่า โซไซตี้ มีราคากล่องละ 100 บาท แต่ลูกค้าก็กล้าที่จะหยิบซื้อเพราะสินค้ามีความพิเศษ ทำให้เราเกิดกำลังใจว่ากล้วยตากที่ธรรมดาๆ ที่เราสร้างเป็นแบบใหม่ ภายใต้งานวิจัยและพัฒนาอยู่เสมอ จึงทำให้กล้วยตากของเราทุกวันนี้สามารถเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและพัฒนาความแปลก จะเป็นในเรื่องของการชุบช็อกโกแลต และผลตอบรับจากลูกค้าทำให้สินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงทำให้บานาน่า โซไซตี้ เป็นสินค้าอร่อยถูกปากและรับประทานได้สนุกกับทุกเพศทุกวัยในเวลานี้

ด้าน คุณวีรพงศ์ สุโอสถ เจ้าของฟาร์มลุงแดง เมล่อน & ผักสลัด จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ครอบครัวทำการเกษตรมาอย่างยาวนานจนสามารถส่งเขาและพี่สาวเรียนจบในระดับปริญญาตรี ในช่วงแรกได้ไปทำงานในบริษัทอื่นๆ ก่อน ยังไม่ได้มีแนวความคิดที่อยากจะมาทำงานทางด้านการเกษตรมากนัก ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสมาตรวจสอบการทำเกษตรของคุณพ่อคุณแม่อย่างจริงจัง จึงเริ่มเห็นว่าผลผลิตที่จะจำหน่ายนั้นถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางบ้าง บวกกับการขาดแคลนแรงงานเป็นระยะ จึงได้คุยกับครอบครัวที่จะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบใหม่ให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้เอง ทำให้เริ่มมาสนใจในเรื่องของการปลูกเมล่อน เพราะสามารถทำตลาดเองได้และที่สำคัญในเรื่องของแรงงานการผลิตใช้คนจำนวนไม่มาก

“ช่วงที่ทำแรกๆ ต้องบอกก่อนว่ามีการสะดุดมาก เพราะเรายังไม่มีองค์ความรู้ในการปลูกมากนัก เราไปเน้นปลูกที่กลางแจ้ง ต่อมาได้ไปศึกษาการปลูกพืชในโรงเรือน ก็เลยนำมาพัฒนาในการปลูกเมล่อนในสวน ทำให้เป็นที่มาของการปลูกเมล่อนในโรงเรือน พอความชำนาญเริ่มมีเรื่อยๆ จึงทำให้สามารถพัฒนาการปลูกแบบเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปุ๋ยและน้ำ ทำให้เรามีการใช้น้ำน้อยลง เพราะการปลูกเมล่อนให้น้ำเป็นระบบหยด รวมไปถึงการปลูกในโรงเรือนไม่ต้องมีการใช้สารเคมีป้องกันโรคและแมลง ดังนั้น ระบบโรงเรือนเราสามารถควบคุมการปลูกได้ ทำให้มีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ” คุณวีรพงศ์ บอก

ฉะนั้น คุณวีรพงศ์ บอกว่า การปลูกเมล่อนหรือพืชอื่นๆ ยิ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยเรียนหรือรู้หลักการทำเกษตรมาก่อนเหมือนเช่นตัวเขา การจะทำเกษตรให้ประสบผลสำเร็จจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย อย่างเช่นตัวเขาที่นำระบบต่างๆ เข้ามาใช้และรายงานผลทางโทรศัพท์ จึงทำให้เขาได้เรียนรู้และทำการปลูกเมล่อนได้ประสบผลสำเร็จและยังคงพัฒนาการผลิตต่อไปควบคู่กับการสร้างสินค้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ

เมื่อโลกมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ตลาดโลกมีความต้องการที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 5G จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นหากมีการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้การผลิตสินค้าเกษตรในบ้านเราเป็นสินค้าที่ได้คุณภาพและมีความต้องการอยู่เสมอ ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป