สุดยอดนวัตกรรมพืชไร่พืชสวนแห่งเอเชีย ตื่นตากับเทคโนโลยีเกษตรจากยุโรปสู่เอเชีย

ระหว่าง วันที่ 15-17 มีนาคม 2560 นับเป็นสัปดาห์ธุรกิจของคนในวงการเกษตรและปศุสัตว์อย่างแท้จริง เพราะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่จะจัดงานแสดงสินค้าเกษตร 3 งาน ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ “งาน วิฟ เอเชีย (VIV Asia)” เป็นงานนิทรรศการระดับเอเชียที่วงการปศุสัตว์ทั่วโลกต่างรู้จักและให้ความสำคัญในการมาเยี่ยมชมงานเพิ่มขึ้นทุกปี   “งานฮอร์ติ เอเชีย 2017” (Horti ASIA 2017) จัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ และพรรณไม้ ระดับนานาชาติ และ “งานอะกริเทคนิก้า เอเชีย” ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของโลก จัดโดยสมาคมเกษตรแห่งเยอรมนี ที่รวบรวมนวัตกรรมชั้นนำจากทวีปยุโรปและเอเชียมาจัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย ณ ไบเทค กรุงเทพฯ มียอดผู้เข้าชมงานทะลุ 8,168 คน จาก 76 ประเทศ ทั่วโลก            

 

ตื่นตากับเทคโนโลยีเกษตรจากยุโรปสู่เอเชีย

การจัดงาน “ฮอร์ติ เอเชีย 2017” ในปีนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จสูงกว่าเดิม เพราะมียอดผู้เข้าชมงานที่เป็นชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่า 32% เมื่อเทียบกับ ปี 2015 เพราะมีบริษัทชั้นนำจากทวีปยุโรปตัดสินใจเข้ามาเปิดตัวธุรกิจและนำเสนอนวัตกรรมที่เหมาะกับพืชเมืองร้อน เช่น นวัตกรรมการปลูกผักในโรงเรือนปิด, ผักกรีนโอ๊คสายพันธุ์ใหม่, หัวหอมแดงสำหรับพืชเขตร้อน ที่ให้ผลผลิตรวดเร็วกว่าปกติ, ระบบน้ำจากประเทศอิสราเอล

หากใครได้มีโอกาสเดินชมงานคงจะตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมใหม่ทางการเกษตรอย่างครบวงจรที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เช่น การปรับปรุงพันธุ์และเมล็ดพันธุ์พืช, เทคโนโลยีการเพาะปลูก, การเก็บรักษา, ระบบความเย็น, บรรจุภัณฑ์, การประมวลผล น้ำหนัก และการตีฉลาก, เทคโนโลยีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์, การให้คำที่ปรึกษาด้านโลจิสติกและการขนส่ง, เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร และเทคโนโลยีเรือนกระจก

พิธีเปิดงาน วิฟ เอเชีย (VIV Asia 2017)

การจัด “งานอะกริเทคนิก้า เอเชีย 2017” แม้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย แต่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักธุรกิจชั้นนำนานาประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย มีผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 89 บริษัท จาก 20 ประเทศ ภายในงานจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรและรถแทรกเตอร์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน เพาะปลูก หยอดเมล็ดพันธุ์ ระบบน้ำ การเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนการเก็บรักษา ขนส่ง และการผลิตพลังงานชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง มันฝรั่ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ พาวิลเลี่ยนจากประเทศไต้หวันและจีนที่ขนกว่า 10 บริษัท มานำเสนอนวัตกรรมภายในงาน ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ชมงานมากเป็นพิเศษ คาดว่า 3 วัน ของการจัดงาน ทั้งฮอร์ติ เอเชีย และ อะกริเทคนิก้า เอเชีย 2017 จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยราวหมื่นล้านบาท

น.สพ. ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เยี่ยมชมบู๊ธกรมส่งเสริมการเกษตร

โชว์นวัตกรรมพืชสวนไทย

วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค และ ดีแอลจี อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ ในลักษณะพาวิลเลี่ยนนานาชาติ ได้แก่ พาวิลเลี่ยนจากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน ไต้หวัน ส่วนบู๊ธจากภาครัฐบาลของไทย จัดในนาม “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ได้นำเสนอผลงานของกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชมงานจากนานาประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้นำเสนอแนวคิด “การทำเกษตรแปลงใหญ่ ก้าวไกลสู่สากล” ยกตัวอย่าง “การทำส้มโอแปลงใหญ่ของตำบลบางนางลี่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม” ที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิก 137 ราย 137 แปลง บนเนื้อที่ 510 ไร่ ที่ใช้ปลูกส้มโอพันธุ์ “ขาวใหญ่” เป็นพันธุ์การค้า ส้มโอขาวใหญ่เป็นพืชท้องถิ่นแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ผลผลิตรวม 760 ตัน ต่อปี ปัจจุบันสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว จำนวน 64 ราย โดยมีผู้จัดการแปลงคือ นายประจิม เนียมสุวรรณ์ เกษตรอำเภออัมพวา และ นายอำนาจ สังขะกุล เกษตรกรเจ้าของแปลง

นิทรรศการมะพร้าว ของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร

ตำบลบางนางลี่ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองกระจายทั่วพื้นที่ ทำให้เหมาะสมแก่การทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สวนไม้ผล” เนื่องจากมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ อากาศเย็นสบาย ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ในขณะที่ฤดูร้อนก็ไม่ร้อน กว่า 20 ปีมาแล้วที่เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลบางนางลี่ ปลูกไม้ผล ปลูกมะพร้าว ร้อยละ 60 ปลูกส้มโอ ร้อยละ 32 ปลูกลิ้นจี่และอื่นๆ อีก ร้อยละ 8 และมีอุตสาหกรรมครัวเรือน เช่น ทำน้ำตาลมะพร้าว พื้นที่แห่งนี้เหมาะสมต่อการปลูกไม้ผล โดยปลูกในลักษณะร่องสวน ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากเป็นดินตะกอนปากแม่น้ำแม่กลอง เหมาะสำหรับปลูกส้มโอ คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด

เกษตรกรมุ่ง “ลดต้นทุนการผลิต” โดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี “มุ่งเพิ่มผลผลิต” โดยเน้นการตัดแต่งกิ่งไว้ตอ และลอกเลน “พัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิต” โดยผลิตสินค้าในระบบ GAP ห่อผลส้มโอด้วยกระดาษคาร์บอน เน้นผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตรงกับช่วงตรุษจีนและสารทจีน ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรยังวางแผนซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน รวบรวมและคัดแยกผลผลิตก่อนการจำหน่าย

บู๊ธสมาคมพืชผัก ผลไม้ ของพม่า

ทั้งนี้ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ “ส้มโอแปลงใหญ่ของตำบลบางนางลี่” สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 16% จากเดิมที่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 4,755 บาท เหลือแค่ ไร่ละ 4,000 บาท ขณะเดียวกันได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% จากเดิมที่เคยทำได้ 1.5 ตัน ต่อไร่ ปรับเพิ่มเป็น 1.8 ตัน ต่อไร่ ภายหลังปรับตัวเข้าสู่ระบบ GAP สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตเป็น 30 บาท ต่อกิโลกรัม และพัฒนาสินค้าเป็นเกรดพรีเมี่ยม 120-130 บาท ต่อผล (เฉลี่ยมูลค่าเพิ่ม 180 บาท ต่อผล) ทั้งนี้เพราะการวางแผนบริหารงานที่เป็นระบบ ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตลดลง 755 บาท ต่อไร่  ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% ราคาเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 60%

พาวิลเลี่ยนฮอลแลนด์

ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับชมรมมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิค (Asian and Pacific Coconut Community-APCC) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO/RAP) จัดประชุมวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมะพร้าวด้านสุขภาพและความงาม ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของนักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าว เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องกับน้ำมันมะพร้าวมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและสวนมะพร้าวของประเทศไทยในอนาคต