ดันส่งออกอาหารสำเร็จ พุ่ง 2.1 แสนล. เอกชนเชื่อน้ำมันขาขึ้นหนุนแรงซื้อ จับตานโยบายอเมริกากระทบการค้า

สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป คาดการณ์ส่งออกทั้งปีขยายตัว 5% มูลค่าแตะ 2.1 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมินไตรมาสแรกลดลง เชื่อราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุด แนวโน้มขาขึ้นหนุนกำลังซื้อประเทศผู้ผลิต จับตานโยบายการค้าอเมริกากระทบเป้าหมาย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า สมาคมได้หารือกับสมาชิกเพื่อทบทวนและดูทิศทางการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ โดยยังคงคาดการณ์ว่า ในปี 2560 การส่งออกอาหารสำเร็จรูปของไทยในแง่ปริมาณจะยังขยายตัวเฉลี่ยได้ 5% จากปี 2559 หรือมีปริมาณส่งออกถึง 3 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าคาดหวังว่าจะขยายตัวได้ 5% หรือมีมูลค่า 2.1 แสนล้านบาทเช่นกัน ซึ่งจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไปนักเมื่อเทียบกับภูมิภาค และอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2560 ของกลุ่มอาหารสำเร็จรูปหดตัวเล็กน้อยที่ 2+3% เนื่องจากการส่งออกอาหารทะเลลดลงไปมาก หดตัว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เพียงเกิดขึ้นในปีนี้ แต่เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว จากปัญหาการทำประมงและขาดวัตถุดิบที่จะแปรรูปส่งออก ขณะที่การส่งออกกลุ่มผักผลไม้กระป๋อง หดตัว 3% กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานหดตัว 1-3% อย่างไรก็ตาม มีสับปะรดกระป๋องช่วยทำให้ภาพรวมยังไม่หดตัวมากนัก ที่ส่งออกบางกลุ่มหดตัวเพราะภาพรวมตลาดโลกโดยรวมยังไม่ค่อยดีนัก เศรษฐกิจไม่ค่อยฟื้นตัว ถึงขนาดมีคำสั่งซื้อเข้ามาในปริมาณที่ทำให้ขยายตัว

“อย่างไรก็ตามยังมอบว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และส่งออกจะยังขยายตัว เพราะมีโอกาสที่ไตรมาส 2 นี้จะขยายตัวได้ จากปีนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มขาขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปีที่ผ่านมา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีกำลังซื้อดีขึ้นมาทดแทนตลาดอื่นๆ ขณะนี้ตลาดเอเชียรวมถึงอาเซียนยังดี ตลาดสหรัฐก็อยู่ตัว ตลาดตะวันออกกลางก็อยู่ตัว ตลาดออสเตรเลียไม่แย่ แต่ตลาดสหภาพยุโรปไม่ค่อยดีนักประกอบกับผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปได้ปรับตัวมาตลอด ด้วยการกระจายส่งออกไปยังตลาดหลักในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ลดการกระจุกตัว และหาตลาดใหม่ทดแทน เช่น ตลาดแอฟริกา ตลาดอาเซียน เป็นต้น ซึ่งจะดึงให้ส่งออกภาพรวมยังไปได้ โดยหวังว่าปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 35 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันเฉลี่ย 40-60 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับการติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ก็ยังติดตามและประเมินอยู่ว่าจะกระทบกับการส่งออกอาหารสำเร็จรูปมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ 10% พอๆ กับกลุ่มตลาดอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ผู้ประกอบการจึงพยายามกระจายตลาดและหาตลาดอื่นทดแทนลดความเสี่ยง สำหรับการส่งออกอาหารสำเร็จรูป ปี 2559 มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 5% ส่วนปริมาณประมาณ 2.85 ล้านตัน เติบโต 4% แบ่งเป็นกลุ่มหลัก ดังนี้ คือ กลุ่มทูน่าและอาหารทะเล มีสัดส่วน 45% กลุ่มผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 20% ถัดมากลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและซอสปรุงรส 15% และอื่นๆ เช่น ข้าวโพดหวาน

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน