วศ. พัฒนาชุดสมาร์ทคิทเพิ่มความแม่นยำให้เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด จัดทำต้นแบบนำร่องให้ผู้ประกอบการ

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เปิดเผยว่า ด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก และหนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด คือ การตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเบื้องต้นสังเกตจากผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 37.5 องศา และปัจจุบันจุดคัดกรองทั่วไปจะนิยมใช้เครื่องวัดอุณหภูมิชนิดไม่สัมผัส (อินฟาเรด) หรือ Non-Contact Thermometer :IRT เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย แต่อาจมีความผิดพลาดของผลการวัดจากเครื่องวัดดังกล่าว และส่งผลต่อการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดได้ หากเครื่องวัดอุณหภูมิไม่มีประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนาออกแบบ ชุดสมาร์ทคิท หรือชุดถ่ายโอนมาตรฐาน (transfer standard) เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดไม่สัมผัส เพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีความมั่นใจว่าผลการวัดนั้นถูกต้องและน่าเชื่อถือ เป็นการเสริมประสิทธิภาพให้จุดคัดกรองตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายวันชัย ชินชูศักดิ์ นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ วศ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชุดคิท หรือสมาร์ทคิท ดังกล่าว มีหลักการทำงานโดยเมื่อกระแสไฟฟ้าถูกส่งผ่านวงจรของสารกึ่งตัวนำความร้อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นที่จุดรอยต่อด้านหนึ่งและจะถูกดูดกลืนอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า Peltier Effect ปัจจุบัน เพลเทียร์มีการพัฒนามากขึ้นเมื่อป้อนแรงดันไฟฟ้าให้แผ่น Peltier หรือแผ่นร้อนเย็น ก็จะเป็นอุปกรณ์กำเนิดอุณหภูมิร้อนและเย็น

สถานภาพ ณ ปัจจุบันของสมาร์ทคิท ขณะนี้ได้ยื่นขอใบรับรองการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งน่าจะใช้เวลาในการรับรองไม่เกิน 6 เดือน โดย วศ. ได้จัดทำเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการต่อไป