สศท.2 ชูแนวทางพัฒนาสินค้าเกษตร GI ทุเรียนหลงลับแล อุตรดิตถ์ ยกระดับสินค้าสู่ตลาดโลก

คุณประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศท.2 พิษณุโลก) เปิดเผยว่า ทุเรียนหลงลับแลของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ทุเรียนหลงลับแลของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีศักยภาพและโอกาสทางการตลาดสูง

โดยทุเรียนหลงลับแลมีลักษณะเด่นคือ มีผลทรงกลมหรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งละเอียดเหนียว มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก จุดกำเนิดของทุเรียนหลงลับแล อุตรดิตถ์ มาจากทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีความพิเศษแตกต่างจากทุเรียนพื้นเมืองทั่วไป คือเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดี เมล็ดลีบ ซึ่งภายหลังจากส่งเข้าประกวดทุเรียนและได้รับรางวัลยอดเยี่ยม เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกและขยายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากยิ่งขึ้น

คุณประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) ศึกษาแนวทางการพัฒนาทุเรียนหลงลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนหลงลับแลที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จำนวน 2,612 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 1,400 ตัน แหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอเมือง อำเภอลับแล และอำเภอท่าปลา เนื่องจากสภาพดินระบายน้ำได้ดี มีอินทรียวัตถุตามไหล่เขา และเป็นพื้นที่ลาดเอียง มีสภาพอากาศที่เหมาะสม ส่งผลให้มีการสะสมพลังงานในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตมาก ซึ่งเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทุเรียนหลงลับแลเป็นอย่างมาก

สำหรับต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 46,306 บาท ต่อไร่ (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 6-7 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 25-30 ปี) นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี  โดยเกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวเมื่อผลทุเรียนแก่จัด ซึ่งนับตั้งแต่วันดอกบานไปประมาณ 105-110 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,253 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 324,466 บาท ต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 278,160 บาท ต่อไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ (เกรดคละ) เฉลี่ย 259 บาท ต่อกิโลกรัม

หากมองถึงสถานการณ์ตลาดพบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เกษตรกรจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการรับซื้อ (ล้ง) ในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีเพียงบางส่วนที่จำหน่ายให้แก่พ่อค้ารับซื้อทั่วไปจากต่างจังหวัด เพื่อนำไปจำหน่ายผ่านหน้าร้าน ส่วนอีกร้อยละ 40 จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ facebook ให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยจัดส่งสินค้าผ่านหลายช่องทาง เช่น ไปรษณีย์ไทย Kerry Express เป็นต้น ปัจจุบันทุเรียนหลงลับแลพึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก สำหรับทิศทางตลาด ในอนาคตคาดว่า จะมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก เนื่องจากปัจจุบันปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับทุเรียนหลงลับแล GI ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จะเน้น 4 แนวทาง ได้แก่

Advertisement

แนวทางกลยุทธ์เชิงรุก โดยเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรสินค้า GI ผู้ประกอบการธุรกิจห้องเย็นเพื่อเก็บสต๊อกสินค้าจากเครือข่ายภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และส่งเสริมการตลาด

 

Advertisement

แนวทางกลยุทธ์เชิงแก้ไข สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เช่น ระบบส่งน้ำ ระบบประปาบนพื้นที่สูง การพัฒนากระบวนการผลิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสร้างมูลค่าเพิ่มสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และพัฒนานวัตกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตบนพื้นที่สูง

แนวทางกลยุทธ์เชิงป้องกัน สร้างองค์กรภาคีเครือข่าย สนับสนุนองค์ความรู้การพัฒนาสินค้า GI และ Stakeholders เพื่อพัฒนาระบบตลาด ส่งเสริมการสร้างชุมชนสินค้า GI ต้นแบบ และ

แนวทางกลยุทธ์เชิงรับ กำหนดมาตรฐานการพัฒนาคุณภาพเพื่อรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์สินค้า GI พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาทุเรียนหลงลับแล GI ดังกล่าว สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพทุเรียนหลงลับแล GI ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ในระยะยาว หากท่านสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. (055) 322-650 และ (055) 322-658 หรือ อีเมล zone2@oae.go.th