แก้วมังกร 40 ไร่ ที่หนองย่างเสือ สระบุรี ปีที่ 3 ให้ผลเต็มที่ โกยรายได้ 2-3 ล้าน/ปี

“แก้วมังกร” อยู่ในวงศ์ Cactaceae เช่นเดียวกับตะบองเพชร มีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศแถบอเมริกากลาง เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน มีบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูกในประเทศเวียดนาม ปลูกแพร่หลายไปตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกจากเมืองญาตรังไปจนถึงไซ่ง่อนก่อนจึงแพร่หลายมาปลูกในประเทศไทย

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แก้วมังกรที่ขายในเมืองไทยมีราคาแพงมากถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่คนมีสตางค์ก็ยังนิยมซื้อกิน เนื่องจากเป็นของใหม่โก้เก๋ แต่จริงแล้วรสชาติของแก้วมังกรไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสสมกับราคา

แก้วมังกรปลูกขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ราคาของแก้วมังกรในเวลาต่อมามีราคาตกต่ำลง เนื่องจากสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคผลไม้ที่มีรสหวานจัด อย่างเช่น ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง ฯลฯ แก้วมังกรซึ่งมีรสหวานน้อย รสชาติไม่จัดจ้าน จึงเป็นผลไม้ทางเลือกเพื่อสุขภาพไปในที่สุด

แก้วมังกร ดีต่อสุขภาพ

หลายคนชื่นชมการบริโภคแก้วมังกรเพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำเยอะเช่นเดียวกับแตงโม ช่วยดับกระหายคลายร้อน ดับกระหายได้ดี แก้วมังกรช่วยควบคุมระบบน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาโรคโลหิตจาง เพิ่มธาตุเหล็กและช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง นอกจากนี้ แก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง มีสารไลโคปีนอยู่เป็นจำนวนมาก มีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

แก้วมังกร เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะที่เป็นผลไม้สำหรับลดน้ำหนัก กินแล้วอิ่มนานไม่หิวบ่อย และวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อผิว ทำให้ผิวพรรณสดชื่นเปล่งปลั่ง เมล็ดของแก้วมังกรสามารถดูดซับสารพิษที่ค้างอยู่ในร่างกายได้อีกด้วย สรรพคุณมากมายอย่างนี้ สาวๆ ถึงอยากกินแก้วมังกร

อาชีพปลูกแก้วมังกร

พื้นที่ตำบลหนองย่างเสือของอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี และตำบลหนองอีเหลอ อำเภอปากช่อง นครราชสีมา ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน ชาวบ้านนิยมปลูกแก้วมังกร เพราะเป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วมแล้วยังมีสภาพดินลูกรัง เหมาะสำหรับปลูกแก้วมังกรอีกด้วย

ป้าศรี หรือ คุณบุญศรี จันทบุญ ยึดอาชีพปลูกแก้วมังกรมานานหลายปีแล้ว ป้าศรี เล่าว่า “เริ่มปลูกแก้วมังกรตั้งแต่ ปี 2549 เป็นต้นมา ครั้งแรกปลูกแก้วมังกรไว้กินเอง 70 ต้น เพราะเป็นคนชอบกินแก้วมังกร ต่อมาเห็นว่าปลูกเลี้ยงได้ง่าย จึงขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ โดยเอากิ่งจากน้องเขยมาปลูก ประมาณ 40 ไร่ ลงทุนไปเกือบ 2 ล้านบาท ปีที่สามเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ มีรายได้ปีละประมาณ 2-3 ล้านบาท โดยยังไม่หักค่าใช้จ่าย

การปลูก

แก้วมังกร เป็นพืชที่พันขึ้นกับหลัก หลักแก้วมังกรไม่ควรสูงมาก เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยปกติ เกษตรกรจะใช้หลักปูนที่คงทนแข็งแรง เพราะแก้วมังกรมีอายุการปลูกหลายปีและมีน้ำหนักกิ่งมาก จึงต้องใช้เสาปูนหน้าสี่ รองรับน้ำหนัก ความยาวของเสาปูน 2 เมตร ก็เพียงพอ ฝังลงไปในพื้น 50 เซนติเมตร เหลือความยาวของเสา 1.5 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด

ในอดีตเกษตรกรที่ปลูกแก้วมังกร โดยใช้เสาไม้หรือเสารั้วปูนหน้าสาม แต่มีปัญหาหักโค่นได้ง่ายเมื่อแก้วมังกรมีอายุหลายปีและจำนวนกิ่งมาก ด้านบนของเสาปูน จะเจาะรูทะลุด้านซ้ายขวา จำนวน 1 รู และด้านหน้า-หลัง จำนวน 1 รู รูทั้งสองจะอยู่ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว เพื่อสอดเหล็ก เหล็กขนาด 4 หุน เป็นเหล็กปล้องอ้อยเพื่อเสริมความแข็งแรง และใช้ล้อยางจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือเป็นยางรถยนต์ที่ตัดมาเฉพาะขอบ ความยาวของเหล็ก 2 เส้น ที่ตัดเส้นละประมาณ 60 เซนติเมตร รองรับล้อพอดีจึงใช้ลวดผูกเหล็กผูกยึดกับล้อ

การดูแลรักษาแก้วมังกร

พื้นที่ 1 ไร่ ฝังเสาได้ประมาณ 200 ต้น สามารถปลูกต้นแก้วมังกรได้ 800 ต้น ระยะห่างของหลัก บางสวนใช้ 2.5×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร แล้วแต่ชอบ พื้นที่ขนาดกว้างสามารถใช้เครื่องจักรทำงานได้สะดวก หลังจากฝังหลักเรียบร้อยแล้ว นำต้นแก้วมังกรมาปลูก ต้นที่ปลูกยิ่งมีขนาดยาวใกล้หัวเสามากเท่าไรยิ่งดี เพราะจะให้ผลผลิตได้เร็ว

จำนวนต้นที่ปลูกต่อหลัก จะใช้จำนวน 4 ต้น โดยปลูกทุกด้านของเสาทั้ง 4 ด้าน การปลูกแก้วมังกรจะใช้เชือกมัดต้นให้ติดกับเสา ส่วนโคนฝังลงไปแค่เล็กน้อยก็เพียงพอ เมื่อต้นแก้วมังกรสูงขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้เชือกมัดและคอยจัดให้ยอดแก้วมังกรสอดเข้าไปในวงล้อและพาดห้อยออกมา การปลูกในต้นฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องรดน้ำเลย นอกจากเกิดฝนทิ้งช่วงไปนานๆ แก้วมังกรเป็นพืชทะเลทราย ไม่ชอบน้ำแฉะ เพราะเสี่ยงเกิดโรคเน่าโคนได้ง่าย

ป้าศรี เล่าประสบการณ์การปลูกแก้วมังกรว่า “แก้วมังกร เป็นพืชที่ชอบอยู่ในที่โล่ง ต้องทำโคนให้เตียนสะอาดอยู่ตลอดเวลา รากแก้วมังกรบริเวณโคนไม่ลึกสานต่อกันหมด รอบโคนจะใช้คนถากหญ้าออก ส่วนทางเดินจะใช้รถไถ เมื่อหญ้าที่ถากแห้งค่อยนำมาใส่โคนต้นเป็นปุ๋ย

ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 1 หลัก ใช้ปุ๋ยขี้วัวครึ่งถุง สามารถใส่ติดโคนได้เลย หากเป็นปุ๋ยขี้ไก่ควรใส่ห่างโคน เพราะเสี่ยงทำโคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 เพื่อบำรุงทุกส่วน แก้วมังกรไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเร่งอย่างอื่น ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอก็เพียงพอ เพราะแก้วมังกรเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเยอะอยู่แล้ว จะใส่ปุ๋ยเคมี ช่วงติดผล ปีละ 2-3 ครั้ง หากติดลูกมากให้ใส่ปุ๋ยมากหน่อย ปริมาณปุ๋ยใช้ 2-3 ขีด ต่อ 1 หลัก

เริ่มติดดอก

ดอกแก้วมังกรจะบานตอนกลางคืน ประมาณ 2-3 วัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 20 กว่าวันแก้วมังกรก็จะสามารถเก็บผลได้ ช่วงที่อากาศร้อนแดดจัดแก้วมังกรจะสุกเร็ว ช่วงไหนแดดน้อยอากาศไม่ร้อนแก้วมังกรจะสุกช้ากว่าปกติ

แก้วมังกรจะให้ผลผลิตทยอยออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนจนถึงปลายเดือนกันยายน เป็นเวลาถึง 5 เดือน เป็นเวลาที่ให้ผลผลิตนานมาก หากนับเป็นรุ่น ได้เกือบ 10 รุ่น ต่อปี แต่ละรุ่นมากน้อยต่างกัน โดยปกติจะสลับกัน รุ่นแรกมาก รุ่นสองก็น้อย รุ่นสามมาก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผลผลิตของต้นที่สมบูรณ์จะอยู่ระหว่าง 40-50 กิโลกรัม ต่อฤดูการผลิต แก้วมังกรควรเก็บผลผลิตเมื่อสุกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเก็บต่อได้อีกหลายวันกว่าจะถึงผู้บริโภค ถ้าเก็บก่อนรสชาติจะไม่อร่อย

การตัดแต่งกิ่ง

ต้นแก้วมังกรหยุดให้ผลผลิตประมาณเดือนกันยายน เดือนตุลาคมสามารถตัดแต่งกิ่งได้แล้ว กิ่งที่ตัดแต่ง ควรเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตในปีนี้ เพราะกิ่งของแก้วมังกรจะให้ผลผลิตแค่ครั้งเดียวจึงจำเป็นต้องตัดกิ่งออก หลังหมดฝน เป็นฤดูที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งให้ชิดโคนกิ่ง เพื่อไม่ให้มีรอยแผลขนาดใหญ่ การตัดกลางกิ่งอาจเกิดเชื้อราที่รอยแผลได้ หรือหลังจากการตัดแต่งกิ่งจะฉีดยากันราเพื่อป้องกันโรคจะเป็นการดี ในช่วงที่มีผลผลิตการฉีดยากันราเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีลูกลายเกิดขึ้นมาก

ราคาของแก้วมังกรจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่จำนวนของผลผลิตที่ออกสู่ตลาด แก้วมังกรของที่นี่มักจะออกดอกพร้อมๆ กัน จึงทำให้วันเก็บเกี่ยวเป็นวันเดียวกัน ถ้าผลผลิตออกมาเยอะมากจะทำให้มีราคาค่อนข้างต่ำ ราคาโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรก็ยังพอมีกำไร ถ้าสวนไหนมีผลผลิตไม่ตรงกับสวนอื่นก็จะได้ราคาดี การปลูกพืชเพื่อจำหน่ายเกษตรกรควรคิดเรื่องตลาดเป็นหลัก ไม่ควรปลูกกันตามกระแส เพราะจะทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนกลายเป็นขาดทุนไป

 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564