“ภูมภัค รัสติก” โฮมสเตย์ & คาเฟ่ชนบท เมื่อนักออกแบบพาครอบครัวกลับบ้าน เปลี่ยนท้องนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้งครับ ท่านผู้อ่านมีฝันไหมครับ แน่นอนทุกท่านต้องมีฝัน หรือบางท่านอาจจะบอกว่าเคยมีฝัน คำถามถัดไปคือ ฝันของท่านไปได้ไกลขนาดไหน ผมเองก็มีฝัน ทั้งฝันเล็ก ฝันใหญ่ หลายฝันก็ล้มคว่ำไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม บางฝันนั้นผมฝันมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนตอนนี้กลายเป็นคนตกรุ่นตกยุค ของในยุคสมัย ‘Media Disruption’ ฝันนั้นของผมก็ยังไม่เคยกลายเป็นจริง แต่ฉบับนี้ผมขอนำท่านไปพบกับคนที่เปลี่ยนฝันให้เป็นจริงด้วย 2 มือ ที่คิดแล้วทำ จนฝันนั้นมีรูปมีร่างให้เห็น และเป็นที่พูดถึงกันในวงของคนรักชนบท รักการพักผ่อนแบบง่ายๆ สงบ เงียบ ตามผมไปดูกันเลยครับ

คุณอาคม นาคะ คุณวีณา บุญเฉลย และ น้องภูม กับ น้องภัค เจ้าของภูมภัค รัสติก

ภูมภัค รัสติก Poompak Rustic

พาท่านมาที่ ภูมภัค รัสติก Poompak Rustic โฮมสเตย์ & คาเฟ่ชนบท 5/7 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพบกับ คุณอาคม นาคะ และ คุณวีณา บุญเฉลย เจ้าของภูมภัค  รัสติก แห่งนี้ คุณอาคมเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “ผมเป็นคนหนองขาว กาญจนบุรีนี่แหละ แต่ได้ไปเรียนปริญญาที่กรุงเทพฯ จบสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียนจบมาก็อยากจะทำงานตามที่เราเรียน จึงเปิดร้านทำงานดีไซน์ ชื่อร้าน เทสต์ดีไซน์ (Taste Design Studio) รับงานออกแบบทุกชนิด จนเป็นที่รู้จักพอสมควร แต่ตัวผมเองกลับคิดถึงท้องไร่ท้องนา คิดถึงบ้านเราที่เป็นชนบท คิดถึงบรรยากาศสมัยเด็กๆ ที่เคยมองหาเครื่องบินบนท้องฟ้า ฝากความคิดถึงไปให้พ่อที่ไปทำงานอยู่ประเทศซาอุฯ ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในความรู้สึกและความทรงจำของเรา เราอยากให้ลูกของเราทั้ง 2 คน ได้สัมผัสบรรยากาศท้องไร่ท้องนา อยากให้ลูกมีความสุขกับธรรมชาติอย่างนั้นบ้าง” จึงพยายามมองหาหนทางปรับรูปแบบชีวิตของเรามาตลอดหลายปี

ภูมภัค รัสติก โฮมสเตย์ & คาเฟ่ชนบท

ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ปรับ

คุณอาคม เล่าต่อไปว่า “พื้นที่ตรงนี้ดั้งเดิมเป็นแปลงนา 2 แปลง ผสมกับพื้นที่ดอน ช่วงแรกที่มาทำ ต้องการทำบ้านของตัวเอง ก็คิดง่ายๆ ว่า ผมมีลูก 2 คน เลยทำบ้านสองหลังในพื้นที่แปลงนา มีการขุดร่องน้ำชักน้ำจากชลประทานเข้ามา ตั้งชื่อบ้านทั้งสองหลังชื่อ ‘ภูมดิน’ กับ ‘ภัคนา’ ตามชื่อของลูก ซึ่งบ้านทั้งสองหลังผมออกแบบตกแต่งเอง โดยเน้นออกแบบแบบเรียบง่าย ใช้โครงสร้างเป็นไม้เก่าที่เก็บสะสมไว้ผสมกับปูน ทั้งสองหลังใช้แรงบันดาลใจจากสมัยอดีตตั้งแต่ยังเป็นเด็กที่เห็นบ้านในชนบทจะสร้างแบบโปร่งๆ เรียบง่าย ผมเน้นสีขาวและสีน้ำตาลจากไม้ ภายในบ้านโชว์โครงสร้างที่เป็นไม้เก่า รายละเอียดต่างๆ ผมทำเป็นแบบโบราณ เช่น การเดินสายไฟแบบโบราณที่เรียกว่าเดินสายไฟตีกิ๊ฟต์ ตัวบ้านทำให้โปร่งโล่ง มีลมพัดผ่านตลอดเวลา ตั้งใจทำออกมาให้เรียบง่ายแต่ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นแนวรัสติกที่ผมศึกษามาจากหนังสือต่างๆ” จากบ้านที่คิดจะสร้างไว้อยู่เอง กลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่น่ารัก ก็เพราะโซเชียล “พอผมทำบ้านเสร็จแล้วก็โพสต์รูปบ้าน รูปแปลงนา ของเราลงใน Facebook บ่อยๆ จนมีคนสนใจขอเข้ามาดู จนถึงขอเข้ามาพัก มีเพื่อนๆ ติดต่อมา เพราะสวยงาม สงบ เย็นสบายดี จนกลายมาเป็นโฮมสเตย์อย่างทุกวันนี้ครับ” คุณอาคม เล่า

บรรยากาศสบายๆ ที่ห้องพักของภูมภัค รัสติก

ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมทำนา ทำกับข้าวกินเอง

เมื่อเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้คนเข้ามาพักแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบ ตื่นเต้น เพราะได้มีส่วนร่วม “ผมตั้งใจให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม ได้ลงมือทำตั้งแต่ทำกับข้าว เราให้ลูกค้าไปขุดข่า ตัดตะไคร้ ขุดกระชาย เพื่อมาทำกับข้าวเอง เรามีผักสวนครัวเอาไว้ให้ลูกค้าเก็บเอง ลูกค้าจะได้ก่อไฟในเตาถ่านทำกับข้าว ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ หวนนึกถึงภาพอดีตคืนมา แต่หากลูกค้าต้องการอาหารพื้นบ้าน เราก็ทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นกับข้าวพื้นบ้านต่างๆ เช่น น้ำพริกมะขาม ปูนา แกงส้มหัวตาล อาหารพื้นถิ่นเราก็สามารถทำให้รับประทานกันได้ ในส่วนของแปลงนาข้าวก็ยังทำนาแบบนาโยน ปลูกข้าวหอมมะลิเอาไว้กินเอง และเอาไว้ให้ลูกค้าที่เข้าพักมากินด้วย” เรื่องกิจกรรมการปลูกข้าวน่าจะเป็นที่สนใจของคนที่เข้ามาพัก “ผมมองว่าในอนาคตจะให้ลูกค้าที่เข้ามาพักกับเราได้ร่วมปลูกข้าวด้วยตัวเอง พอได้ผลผลิตผมจะแพ็กข้าวถุงเล็กๆ ส่งตามไปให้ลูกค้าได้ภูมิใจกับฝีมือปลูกข้าวของตัวเองอีกด้วย” คุณอาคม เล่า

ทำนาแบบนาโยน ในภูมภัค รัสติก โฮมสเตย์ & คาเฟ่ชนบท

จากความสงสัย กลายเป็นเสียงชื่นชม

คุณอาคม เล่าต่อว่า “กว่าจะมีวันนี้ ที่ ‘ภูมภัค รัสติก’ เริ่มเป็นที่รู้จัก เราผ่านการตั้งคำถาม ผ่านสายตาที่มองมาอย่างสงสัยว่า พวกเราทำอะไรกัน อย่างเช่น ในส่วนของคลองไส้ไก่ที่ขุดเพื่อดึงน้ำชลประทานเข้ามาในพื้นที่ ตอนทำแรกๆ ชาวบ้านก็สงสัยว่า ทำไมต้องขุดคลองให้คดเคี้ยว ทำไมไม่ขุดตรงๆ เราก็ได้แต่ยิ้ม แต่เมื่อมาเป็นรีสอร์ตเป็นโฮมสเตย์ ชาวบ้านก็เข้าใจว่าเราไม่ต้องการใช้น้ำอย่างเดียว แต่เราต้องการความสวยงามให้เกิดในพื้นที่ของเรา หลายคนที่เป็นเพื่อนกันอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน บอกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ เพราะถนนหนทางเข้ามายัง ‘ภูมภัค รัสติก’ ค่อนข้างไกลและเดินทางลำบาก มาถึงพื้นที่รอบๆ ก็ไม่เห็นมีอะไรให้ดู นอกจากนาข้าว แต่เมื่อเปิดมาแล้ว เราทำให้สวยงาม เราทำให้บรรยากาศสงบ สบายๆ และมีลูกค้าจองเกือบตลอดเวลา ทำให้หลายคนที่เคยคิดว่าไม่น่าจะไปรอด เปลี่ยนความคิดอยากกลับบ้าน อยากจะหันมาทำตาม คือการกลับมาอยู่บ้าน กลับมาทำธุรกิจเล็กๆ เลี้ยงตัวเอง ตรงนี้เป็นความภูมิใจว่า เราก็ทำได้”

ห้องพักกลางทุ่งนา บรรยากาศชนบท

 คาเฟ่ชนบท ผลผลิตจากท้องทุ่ง

“ที่ผ่านมาเสียงตอบรับ ‘ภูมภัค รัสติก’ ดีมาก ลูกค้าชอบ หลายคนบอกว่า ไม่คิดว่าจะเจอโฮมสเตย์ลักษณะนี้ ทั้งสวยงาม สงบ มีความสุข ทำให้คิดถึงเรื่องในอดีต เราจึงมาคิดกันต่อว่า จะเปิดร้านกาแฟ โดยใช้ส่วนโรงครัวเดิมของเราเปิดเป็นร้านกาแฟ มีอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ไว้บริการลูกค้า เราจึงตัดสินใจเปิด ‘คาเฟ่ชนบท’ เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่หวังให้ลูกค้าที่เข้ามาได้สัมผัสกาแฟดีๆ ในบรรยากาศเป็นกันเอง นั่งจิบกาแฟ ฟังเสียงน้ำไหลในคลองไส้ไก่ของเรา” เมื่อมีธุรกิจบริการ มีอาหาร มีเครื่องดื่ม เกิดขึ้น วัตถุดิบก็เป็นสิ่งจำเป็น คุณอาคม บอกว่า เน้นวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านเป็นหลัก “เมื่อเราเปิดเป็นโฮมสเตย์ ชาวบ้านในพื้นที่ดีใจมาก เพราะชาวบ้านสามารถขายผลผลิตต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นปูนา ปลาช่อน ปลาต่างๆ ที่จับได้จากห้วยหนองคลองบึงในละแวกนี้ ผัก ผลไม้ต่างๆ ที่เขาปลูกไว้อยู่แล้วก็สามารถนำมาขายให้กับเราได้ ทำให้ชาวบ้าน เพื่อนบ้านใกล้เคียงชอบใจมาก เราเองก็ดีใจที่ได้มีส่วนช่วยเพื่อนบ้าน แม้ว่ามันจะยังไม่มากนัก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ช่วยเหลือพี่น้องผองเพื่อนในชุมชนเดียวกัน”

ข้าวอินทรีย์จากนาของภูมภัค รัสติก นำมาเสิร์ฟให้ลูกค้าได้ชิม

ข้อคิดให้คนมีฝัน ที่อยากกลับบ้านสานต่องานเกษตร

คุณอาคม มองว่า “จากการตอบรับที่ดี ทำให้เรามีกำลังใจ ในอนาคตผมอยากจะขยายห้องเพิ่มเติม แต่คงไม่เกิน 4 หลัง ตามระเบียบของโฮมสเตย์ และตามกำลังที่เรามี” ก่อนจากกันคุณอาคมฝากข้อคิดถึงผู้อ่านท่านที่เคารพว่า “สิ่งที่อยากจะฝากสำหรับคนรุ่นใหม่ ผมทำให้เห็นแล้วว่า การท่องเที่ยวกับการเกษตร การท่องเที่ยวในชนบทโดยวิธีเดิมๆ ยังไปรอด ผมเริ่มจากปลูกข้าว เรามีข้าวแม้จะแค่เพียง 2 ไร่ ก็พอให้ทั้งครอบครัวพ่อแม่ได้กิน พืชผักสวนครัวก็เลี้ยงตัวได้ การเกษตรแนวใหม่เพื่อการท่องเที่ยวก็สามารถไปรอดได้ ขอเพียงอย่างเดียวคือ เราต้องทำในรูปแบบที่ไม่เกินตัว ไม่เกินกำลัง ไม่ไปสร้างหนี้มาลงทุน และขอฝากไปถึงคนที่ชอบในแนวทางนี้ว่า เราคิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย แล้วจะรู้ว่าฝันของเราถูกผิดอย่างไร ถ้าเรายังมีแรงต้องรีบลงมือทำ ทำด้วยตัวเองยิ่งดี เมื่อทำแล้วก็อย่าท้อ พยายามให้เต็มที่ แล้วเราจะพบหนทางของเราครับ”

ใครสนใจอยากไปพักโฮมสเตย์ อยากไปชิมอาหารที่คาเฟ่ชนบท สัมผัสอากาศดีๆ บรรยากาศชนบท โทร.ติดต่อไปที่เบอร์ 084-555-3615 หรือที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/poompakrustic/ครับ

นี่คือ แนวคิดของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ลงมือทำให้เห็นจริง เริ่มทำธุรกิจขนาดเล็กๆ ของรายย่อย ที่ใส่หัวใจขนาดใหญ่ของนักสู้เข้าไป มาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงคำพูดของ Kamala Harris รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่พูดเอาไว้ว่า “เธอกิน คำว่า ‘ไม่’ เป็นอาหารเช้า” (ที่มา Facebook Page ท็อฟฟี่ แบรดชอว์) อันแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ (จริงๆ อยากหาเอาคำพูดสุดประทับใจจากผู้นำใกล้ๆ ตัวมาเขียนประกอบบ้าง แต่ก็นะ 555 รู้กัน!! เลยขอใช้คำพูดของคนไกลๆ ดีกว่า)

ใครก็ตามที่มีฝัน ไม่ว่าฝันเล็ก ฝันใหญ่ ฝันในทางการเกษตร หรือฝันอื่นๆ ตื่นมาลงมือทำกันเถอะครับ จะได้รู้ว่าควรฝันต่อหรือเลิกฝัน ฉบับต่อไปผมจะพาท่านไปพบ พี่น้องเกษตรกรรายย่อยหัวก้าวหน้าที่ไหนกันอีก โปรดติดตามกันต่อ ใน “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย เจอกันใหม่ฉบับต่อไปนะครับ

อ้างอิง

https://www.facebook.com/toffybradshawwriter/posts/244670447027490

 …………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ