เกษตรตรัง ชู“ประชาสัมพันธ์” ตั้งเป้า ทำเกษตรตรัง…ให้ดังกว่าเดิม

“ประชาสัมพันธ์” เป็นคำที่ถูกพูดถึงและถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน   รวมไปถึงประชาชนทั่วไป นั่นเป็นเพราะ การประชาสัมพันธ์ คือ การบอกกล่าว การสร้างการรับรู้ การเผยแพร่ หรือกระจายข้อมูลข่าวสารไปสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความร่วมมือ หรือความนิยม นั่นเอง

กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม   โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกระดับต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในนโยบายและโครงการสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล แก่เกษตรกรในทุกโอกาส โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมพบปะเกษตรกร รวมถึงการใช้สื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ สื่อมวลชน

โดยต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจทั้งในส่วนของผลการดำเนินงานที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่กำลังจะดำเนินการต่อไป รวมถึงประโยชน์ที่เกษตรกรและสังคมจะได้รับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกร และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล โดยอาศัยหน่วยงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฯ

สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ภายใต้การนำของ นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง   ได้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่

1) ส่งเสริมและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2) ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต 3) ส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร 4) ส่งเสริมและพัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer 5) เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนและความยั่งยืนของภาคเกษตร 6) พัฒนาศักยภาพและเพิ่มบทบาทอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน 7) ขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่    8) ช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและให้บริการทางการเกษตร 9) ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรร่วมกับสถาบันการศึกษา และ 10) การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและปรับวิธีการทำงานสู่ New Normal ซึ่งการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ นั้น ก็เป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยให้การดำเนินงานทั้ง 10 ประเด็นนั้นประสบผลสำเร็จ

เกษตรจังหวัดตรัง เล็งเห็นความสำคัญและมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ โดยได้มอบหลักการแนวทางการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร รวมถึงงานประชาสัมพันธ์แก่เจ้าหน้าที่ในวันเข้ารับตำแหน่งเกษตรจังหวัดตรัง   คนที่ 22 โดยกล่าวว่า

“งานประชาสัมพันธ์ ถือเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องมือในการบอกเล่า เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงผลงานขององค์กรไปสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์อันดี ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำงานกันหนักหน่วงมาก ทั้งงานนโยบาย งานตามภารกิจ งานที่ได้รับมอบหมาย ทำงานในพื้นที่ งานในระบบ และยังต้องทำงานเอกสารต่างๆ มากมาย พวกเราทำงานกับเกษตรกร ทำงานเพื่อเกษตรกร และทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย    แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ที่ผู้คนส่วนใหญ่ภายนอกองค์กรไม่รู้เลยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีไว้ทำไม สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอตั้งอยู่ที่ไหน และเจ้าหน้าที่เกษตร หรือเกษตรตำบล หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร มีบทบาท หน้าที่ อย่างไร”

ท่านตั้งข้อสังเกต และกล่าวเพิ่มเติมว่า “นั่นเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ของพวกเราส่วนใหญ่นิยมใช้แอปพลิเคชั่น Line และ เพจ Facebook ซึ่งก็ถือว่าเป็นสื่อออนไลน์ แต่มีข้อจำกัดคือกลุ่มคนที่เข้าถึง ได้เห็น ได้อ่าน ได้ดู ได้รู้ ส่วนใหญ่ก็คือบุคคลภายในองค์กร ทำให้บุคคลภายนอกองค์กรเข้าถึงข่าวสารได้น้อยมาก”

จากประเด็นข้อจำกัดของการประชาสัมพันธ์ ท่านจึงได้สรุปพร้อมให้แนวทางในการประชาสัมพันธ์ว่า “สื่อออนไลน์ที่พวกเราทำอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ทำได้ดีอยู่แล้ว อยากให้เพิ่มเติมช่องทางการประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนให้มากขึ้น เช่น การเขียนบทความลงวารสาร หรือการนำสื่อดูงาน เพราะการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางเหล่านี้ จะทำให้บุคคลภายนอกเข้าถึงได้ง่าย ได้เห็น ได้อ่าน ได้ดู ได้รู้ เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรตรัง…ให้ดังกว่าเดิม”

จากแนวคิดของท่านเกษตรจังหวัดตรัง นายวสันต์ สุขสุวรรณ คนเก่งคนดี ดีกรีคอลัมนิสต์และนักจัดรายการวิทยุ ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการประชาสัมพันธ์ยาวนานกว่า 20 ปี พร้อมให้คำแนะนำ สนับสนุน และส่งเสริม ทำให้การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น     การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ซึ่งเริ่มจาก “บทความ”

โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรฝึกฝนการเขียนบทความ ที่นำเสนอเรื่องราวน่าสนใจ ของดี ของเด่น หรือเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่แต่ละตำบล เพื่อนำเสนอและตีพิมพ์ลงวารสาร ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเขียนบทความเป็นคนแรก ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้เขียนบทความ ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ที่จะได้รับการฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองจนเกิดเป็นทักษะ สามารถต่อยอดเป็นผลงานเชิงประจักษ์ในการก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร รวมถึงเป็นช่องทางในการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางและในอนาคตอันใกล้ เกษตรตรัง…ต้องดังกว่าเดิม