“กรมเจรจาฯ” จับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนโมเดล “ตลาดนำการผลิต” ของ “จุรินทร์” นำร่องมะม่วงและส้มโอ จังหวัดพิจิตร เร่งใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ ขยายส่งออก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าขับเคลื่อนโมเดล “ตลาดนำการผลิต”ของ “จุรินทร์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เห็นผลโดยเร็วในปี 2564  โดยได้บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ (กระทรวงพาณิชย์.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และภาคเอกชน (ผู้ส่งออก บริษัทค้าปลีก ค้าส่งของไทย) ลงพื้นที่พบปะสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร เร่งติดอาวุธสินค้าเกษตรไทยด้วยการพัฒนาให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน พร้อมหาตลาดกระจายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำร่องกับมะม่วง ส้มโอ และพริกซอส ในจังหวัดพิจิตร แนะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อทางการค้าขยายการส่งออก หวังสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ นำคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร  และหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (สถาบัน Thai GAP) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัทเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล จำกัด (ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต) บริษัทสยามแม็คโคร จำกัด บริษัทเลิศโกลบอลกรุ๊ป จำกัด ลงพื้นที่พบปะสมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง ส้มโอ และพริกซอส ในจังหวัดพิจิตร ตลอดจนเยี่ยมศูนย์ส่งออกส้มโอโพธิ์ประทับช้าง ศูนย์รวบรวมผลผลิตกลุ่มมะม่วงแปลงใหญ่ วังทับไทร อำเภอสากเหล็ก สวนมะม่วง อ เขมชาติ ศูนย์รวบรวมพริกซอสของสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน และตลาดจริงใจ ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต เมื่อวันที่ 23-24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

รวมทั้งยังได้จัดสัมมนา “ติดอาวุธสหกรณ์ไทยใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ สร้างแต้มต่อทางการค้า และยกระดับสินค้าสหกรณ์ด้วยมาตรฐานและมูลค่า สู่การค้าเสรี” ให้กับเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดพิจิตรกว่า 100 คน ณ โรงแรมมีพรสวรรค์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งหารือเรื่องการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนการทำการตลาดให้มะม่วง และส้มโอในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าร้อนที่จะมีผลผลิตมะม่วงออกสู่ตลาดเยอะในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และส้มโอออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม-เมษายน

นางอรมน เสริมว่า จากการลงพื้นที่พบว่า มะม่วง ส้มโอ และพริกซอส ในจังหวัดพิจิตร มีศักยภาพมาก โดยส้มโอโพธิ์ประทับช้าง มีตลาดทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นตลาดในประเทศ สัดส่วน 65% (ประมาณ 13,500 ตัน) ส่งขายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ที่เหลือ 35% (7,000 ตัน) ส่งออกต่างประเทศ เช่น จีน ตะวันออกกลาง ราคาส่งออกเฉลี่ย กิโลกรัมละ 50-60 บาท

สำหรับ มะม่วง ในอำเภอสากเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 200,000 ไร่ มีผลผลิตขั้นต่ำเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน ส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน GAP แล้ว และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกสวน โดยปลูกพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งเป็นที่ต้องการ ได้รับความนิยมสูงในตลาดต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

ดังนั้น ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมฯ จึงได้เชิญเครือข่ายภาคเอกชน ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง ร่วมลงพื้นที่ด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตมะม่วงและส้มโอผ่านทางห้างโมเดิร์นเทรดของไทย อาทิ ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ต แมคโคร บิ๊กซี  และในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่เก็บภาษีศุลกากรกับมะม่วงและส้มโอที่ส่งออกจากไทยแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพริกซอส ที่สหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จำกัด รวบรวมส่งให้โรงงานผลิตซอสพริก มีพื้นที่ปลูกพริกกว่า 212 ไร่ เก็บเกี่ยวช่วงธันวาคม-เมษายน เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะสำหรับการปลูกหลังทำนา ตลาดมีความต้องการสูงให้ราคาดี มีการทำข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า รับซื้อในราคาประกัน พันธุ์ศรีสุดา รับซื้อ 14 บาท/กิโลกรัม ส่วนพันธุ์ซุปเปอร์ฮอท รับซื้อ 33 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายพริก 56,000 บาท/ปี หรือ 140,000 บาท ต่อฤดูกาลผลิต ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกมะม่วงอันดับที่ 2 ในอาเซียน (รองจากเวียดนาม)  และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก มะม่วงไทยซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ในปี 2563 ไทยส่งออกมะม่วงสดสู่ตลาดโลก มูลค่ารวม 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5 จากปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญคือ (1) อาเซียน (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 44 ของการส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด) (2) เกาหลีใต้ (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 35) และ (3) จีน (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 10) ปัจจุบัน ประเทศคู่ FTA ของไทย 15 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย รวมถึง จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้ามะม่วงสดและมะม่วงอบแห้งจากไทยแล้ว

เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และเกาหลีใต้ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้ามะม่วงจากไทย โดยลาวลดภาษีนำเข้ามะม่วงจากไทย จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 5 กัมพูชา ลดภาษีนำเข้ามะม่วงให้ไทยจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 5 และเกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้าจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 24

สำหรับส้มโอ. ในปี 2563 ไทยส่งออกส้มโอสู่ตลาดโลก มูลค่ารวม 21.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 29 จากปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญคือ (1) จีน (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 47 ของการส่งออกส้มโอทั้งหมด)  (2) อาเซียน (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 28 โดยมี ลาว และเมียนมา เป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน) (3) ฮ่องกง (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 23) ปัจจุบันประเทศคู่ เอฟทีเอ ของไทย 17 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน รวมถึง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าส้มโอจากไทยแล้ว เหลือเพียง อินเดีย ที่คงการเก็บภาษีนำเข้าส้มโอจากไทย ที่อัตราร้อยละ 25