2 กรมจับมือผนึกกำลังปราบหนอนหัวดำสวนมะพร้าวแบบยั่งยืน

กรมวิชาการเกษตรผนึกกำลังกรมส่งเสริมการเกษตร ระดมพลเร่งอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการกำจัดหนอนหัวดำในสวนมะพร้าวเกษตรกรแบบยั่งยืน หวั่นกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวและลุกลามไปยังปาล์มน้ำมันพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในอนาคต
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หนอนหัวดำถือเป็นภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งกำจัด-ป้องกันอย่างเร่งด่วน และถือเป็นบทบาทสำคัญของกรมวิชาการเกษตรในการนำผลงานวิจัยด้านวิชาการในการกำจัดเพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้แพร่ระบาดมากขึ้นและลดความรุนแรงการระบาดของหนอนหัวดำไปยังพื้นที่แห่งใหม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแบบยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ ประมาณ 1.24 ล้านไร่ ในจำนวนดังกล่าวพบพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนหัวดำ 78,954 ไร่ครอบคลุม 29 จังหวัด แต่ที่พบการระบาดรุนแรงมากที่สุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ 1 ประจวบคิรีขันธ์ 62,000ไร่ พบการระบาดของหนอนหัวดำทุกอำเภอและสุราษฎ์ธานี 5,000 ไร่ ชลบุรี 4,000 ไร่ สมุทรสาคร 2,600 ไร่ และ แปดริ้ว 953 ไร่ ซึ่งการรุกระบาดของแมลงหนอนหัวดำในพื้นที่ 78,954 ไร่ในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวมูลกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรการความร่วมมือในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว(หนอนหัวดำ)ซึ่งกำลังระบาดหนักในขณะนี้ ตนได้มอบหมายให้นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมภายใต้โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ด้วยวิธีการผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีการบรรยายในหัวข้อ แมลงศัตรูมะพร้าว โดยนางณัฏฐิณี ศิริมาจันทร์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ การป้องกันกำจัดโดยวิธีชีววิธี และมะพร้าวอินทรีย์ โดยนางสาวพัชรีวรรณ จงจิตเมตต์ นักกีฏวิทยาชำนาญการ การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวด้วยสารเคมี โดยนายพฤทธิชาติ ปุญวัฒโท นักกีฏวิทยาชำนาญการ และ มาตรการทางกฎหมาย โดย นางสาวสุวิชญา รอดสุวรรณน้อย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ และนายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ารับการอบรมจำนวนมาก ซึ่งการอบรมครั้งนี้เพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ได้รับเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการป้องกันปราบปรามหนอนหัวดำได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าการบูรการความร่วมมือครั้งนี้จะทำสามารถแก้ปัญหาศัตรูมะพร้าวให้หมดไปโดยเร็ว


อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นหากพบพื้นที่ไหนมีการระบาดของหนอนหัวดำที่อยู่ในระดับรุนแรง จะเลือกใช้วิธีพ่นสารทางใบสำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12เมตร โดยใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ และครอแรนทรานิลิโพรล และวิธีที่สองสำหรับมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารอีมาเม็กติน เบนโซเอต ฉีดเข้าต้น เพราะเชื่อมั่นว่าสามารถตัดวงจรชีวิตหนอนหัวดำได้ผลดีที่สุด