ผักหวานป่า พืชสามัญประจำบ้าน ของชาวแวนศรีชุม เชียงคำ พะเยา

ที่บ้านแวนศรีชุม หมู่ที่ 14 ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พบว่าชาวบ้านแทบจะทุกหลังคาเรือนได้หันมาปลูกต้นผักหวานป่า โดยไม่ต้องขึ้นไปเผาทำลายป่าเพื่อให้ผักหวานป่าแตกยอดอ่อน นอกจากนี้ ยังเป็นการลบภาพเดิมๆ ของการหาผักหวานป่าที่ใช้วิธีการเผา ซ้ำยังเป็นการอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่กับชาวบ้านในละแวกนี้เป็นอย่างดีและยังสร้างรายได้อย่างงามจนเป็นวิถีเศรษฐกิจพอเพียงอีกหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

คุณนันทวัฒน์ และสมาชิก อบต.จักรกิจ

คุณนันทวัฒน์ คำคง อายุ 53 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 14 บ้านแวนศรีชุม ซึ่งเป็นผู้ขายกล้าผักหวานป่าแหล่งใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน กล่าวว่า สมัยก่อนประมาณ 20 ปี ตนเองมีอาชีพเป็นชาวสวนลำไย แต่ด้วยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ตนเองได้ประสบปัญหาราคาลำไยตกต่ำ จึงได้หันมาเริ่มเพาะปลูกต้นผักหวานป่า ซึ่งเป็นผักขึ้นชื่อของทางเหนือโดยชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมบริโภคกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อก่อนหน้านั้นชาวบ้านแวนศรีชุมและตนเองจะพากันเข้าป่าเขาไปหายอดผักหวานป่ามาบริโภค และจำหน่าย

คุณนันทวัฒน์ กับเพื่อนบ้าน

โดยส่วนหนึ่งจะใช้วิธีเผาป่าก่อนเพื่อให้ยอดของต้นผักหวานป่างอกออกมา แต่ด้วยปัจจุบันนี้ตนเองได้พบว่าต้นผักหวานป่าบนดอยนั้นเริ่มขึ้นไม่เยอะด้วยสภาพป่าที่แห้งแล้ง ตนเองจึงได้ทดลองนำต้นผักหวานป่ามาปลูกที่บ้าน โดยก่อนหน้านี้ได้ลองผิดลองถูกมาแล้วนับไม่ถ้วน จนสุดท้ายก็ได้รู้ว่าการปลูกต้นผักหวานป่าในบ้านนั้นจะต้องมีต้นไม้พี่เลี้ยงเสียก่อน และที่สำคัญต้นผักหวานป่าเป็นไม้ที่ชอบในที่ร่ม ไม่ชอบแดดจัดจนเกินไป ในส่วนการขยายพันธุ์ผักหวานป่านั้นสามารถทำได้อยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และหน่อจากรากของต้นผักหวานเมื่อมันเลื้อยไปที่ใดหากรากมีแผล ต้นผักหวานป่าก็จะแทงต้นอ่อนขึ้นเอง ทั้งนี้ ในการที่ตนเองปลูกผักหวานป่านั้นสามารถทำเงินให้ตนเองได้ถึงปีละ 3 แสนบาทเลยทีเดียว

ปลูกกันมานาน

นอกจากนี้ ตนเองยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนในการนำต้นผักหวานมาปลูกในหมู่บ้าน

ยังมีครู การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้นำนักเรียน นักศึกษา มาดูงานถึงที่เช่นกัน ทั้งนี้ ในการปลูกต้นผักหวานนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือในเรื่องของดิน โดยต้นผักหวานป่าจะชอบที่สุดคือดินจอมปลวก รองลงมาจะเป็นดินลูกรัง และสุดท้ายคือดินร่วนปนทราย แต่ทั้งนี้ ข้อห้ามในการปลูกก็คือห้ามนำต้นผักหวานป่าไปปลูกกลางทุ่งนาเพราะผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขังจะทำให้ต้นกล้าผักหวานป่านั้นตายลงได้ ทั้งนี้ ต้นกล้าผักหวานป่าที่ตนเองจำหน่ายนั้นจะอยู่ที่ราคาต้นละ 120-180 บาท ตามขนาดของต้นกล้า ทุกวันนี้ผู้ที่สนใจก็ยังสั่งจองและมาเอากล้าผักหวานป่าที่ตนเองอยู่เป็นประจำ

พืชสามัญประจำบ้าน

ในบางพื้นที่เช่นที่จังหวัดลพบุรีแนะให้ปลูกด้วยกิ่งตอนซึ่งมีข้อดีกว่าการปลูกด้วยเมล็ดตรงที่การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตเร็วกว่า ความสำเร็จมีมากกว่า โดยผักหวานที่ปลูกจากกิ่งตอนใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว

ส่วนผักหวานที่ปลูกจากเมล็ดต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีเลยทีเดียว แต่การปลูกด้วยกิ่งตอนจะลงทุนสูงกว่าเนื่องจากกิ่งตอนราคาสูงกว่า โดยราคาอยู่ที่ 100 บาท ความสูง 50-80 เซนติเมตร ส่วนราคาต้นกล้าที่เพาะด้วยเมล็ด ราคาถุงละ 25 บาท แนะนำว่า การปลูกผักหวานกิ่งตอน ควรปลูกทันทีหลังจากตัดตุ้มลงจากต้น จะทำให้การเจริญเติบโตเร็วกว่าการนำกิ่งตอนไปปักชำในถุงก่อนปลูก

งอกงามดี

การตอนกิ่งผักหวานจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่า ผักหวานจะออกรากและนำไปปลูกได้ โดยผักหวานที่ตอนในช่วงฝนจะออกรากเร็ว 2-3 เดือนก็ออกแล้ว แต่ถ้าเป็นช่วงแล้งหรือช่วงหนาวจะออกรากช้า คือ 4-5 เดือน ข้อควรระวังในการตอนให้สำเร็จก็คือ ระวังอย่าให้ตุ้มกิ่งตอนแห้ง ต้องหมั่นรดน้ำตุ้มอยู่เสมอ ถ้าตุ้มกิ่งตอนแห้งก็จะไม่ออกราก

สำหรับวิธีปลูกและการดูแลผักหวานนั้น การปลูกผักหวานจะรองก้นหลุมด้วยขี้วัว ผักหวานเป็นพืชที่รากไม่ลึก จึงไม่ต้องขุดหลุมปลูกให้ลึก ระยะปลูกที่แนะนำ 1.5×2 เมตร จะได้จำนวน 500 ต้น ต่อไร่ และระยะ 2×2 เมตร จะได้ 400 ต้น ต่อไร่ หลังปลูกต้องมีการให้น้ำเหมือนพืชทั่วไป เมื่อได้รับน้ำสม่ำเสมอผักหวานจะเจริญเติบโตเร็ว แตกยอดได้ดีในช่วงที่ต้องการให้ผักหวานออกยอด ควรให้ขี้วัวปีละ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยเคมี 16-20-0 ปีละ 2 ครั้ง ที่ให้ปุ๋ยโพแทสเซียมน้อยก็เพราะจากการตรวจสภาพดินในพื้นที่พบว่าดินในเขตนี้มีโพแทสเซียมอยู่เยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละพื้นที่ควรนำดินไปวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณธาตุอาหาร หากมีมากก็ไม่จำเป็นต้องใส่ให้สิ้นเปลืองเงินทุน

ยอดอ่อนพร้อมเก็บ

ผักหวานเป็นพืชป่า จึงชอบสภาพที่คล้ายกับในป่าธรรมชาติ นั่นคือ ต้องมีร่ม การปลูกกลางแจ้งผักหวานจะเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร โดยพืชร่มเงาหรือพืชพี่เลี้ยงในแปลงผักหวานที่นิยมก็จะเป็นสะเดา ซึ่งเป็นไม้ที่มีลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ลมพัดไม่โยก เติบโตเร็ว อายุยืน ใบและเมล็ดนำมาหมักหรือสกัดทำยาฆ่าแมลงได้ อีกชนิดที่นิยมคือมะขามเทศ เป็นไม้โตเร็วเช่นกัน แต่กิ่งก้านจะเปราะกว่าสะเดา ในพื้นที่ลมแรงกิ่งอาจหักลงมาทับทำความเสียหายให้กับต้นผักหวานได้ นอกจากนี้ มะขามเทศยังอายุไม่ยืน 6-7 ปีก็จะตายแล้ว อันนี้เป็นข้อมูลให้พิจารณาในการเลือกพืชพี่เลี้ยงให้กับผักหวาน

สำหรับการให้ผลผลิตของผักหวานนั้น ถ้าเป็นผักหวานกิ่งตอนจะให้ผลผลิตเร็ว โดยจะเก็บยอดได้ภายใน 2 ปีหลังปลูก แต่ถ้าเป็นผักหวานเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเกือบ 3 ปีเลยทีเดียวยอดจึงจะแตกเยอะ การให้ผลผลิตของผักหวานขึ้นกับการดูแลและอายุของต้น โดยปกติแล้วผักหวานอายุ 3 ปี จะให้ผลผลิต 1 ขีด ต่อต้น ต่อครั้งที่เก็บยอด

เทคนิคการทำให้ผักหวานแตกยอดดีในช่วงฝนซึ่งผักหวานเป็นพืชที่แปลก ช่วงหน้าร้อน หน้าหนาวผักหวานจะแตกยอดดี โดยผักหวานจะแตกยอดเยอะในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน แต่พอได้รับน้ำมากๆ ในช่วงฝนผักหวานกลับไม่ค่อยแตกยอด ดังนั้น หากต้องการเก็บผักหวานขายช่วงแพงก็ต้องทำให้เก็บยอดได้ช่วงฝน ถ้าต้องการให้มียอดเก็บทั้งปีก็แบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ก็ได้ โดยการหักกิ่งหรือตัดกิ่งลงมาจากยอดประมาณ 30-35 เซนติเมตร โดยหักกิ่งประมาณ 30-40% ของต้น จากนั้นก็รูดใบออก รดน้ำใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ประมาณ 3 สัปดาห์หลังรูดใบ ผักหวานก็เก็บยอดได้ในช่วงฝนที่มีราคาแพง

เริ่มแตกยอด

ด้าน คุณจักรกิจ แสงศรีจันทร์ อายุ 39 ปี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน (ส.อบต.น้ำแวน) กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า ทุกวันนี้หมู่บ้านแวนศรีชุมที่ตนเองอาศัยอยู่นั้นพบว่าชาวบ้านในพื้นที่แทบจะทุกหลังคาเรือนได้หันมาปลูกต้นผักหวานป่าประจำบ้านของตนเองเลย โดยส่วนใหญ่จะมีอายุต้นตั้งแต่ 2-17 ปี และชาวบ้านสามารถเก็บมารับประทานได้เอง แต่หากยอดอ่อนยังเหลือก็สามารถนำไปเพิ่มรายได้โดยการขายให้แม่ค้าที่เข้ามารับซื้อถึงที่ จนทุกวันนี้ชาวบ้านแทบจะหายอดผักหวานป่าส่งแม่ค้าที่เข้ามารับซื้อเกือบไม่ทัน ซึ่งคำสั่งซื้อที่เข้ามานั้นมีความต้องการของผู้บริโภคยอดผักหวานป่าจำนวนมาก

สำหรับการปลูกต้นผักหวานป่าในหมู่บ้านนั้นตนเองได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชาวบ้านในการงดการหาของป่าด้วยการเผาทำลาย และยังส่งเสริมให้หมู่บ้านที่ตนเองได้อาศัยอยู่นั้นเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอีกหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งชาวบ้านทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจงดการเผาทำลายป่าเพื่อหาของป่ามาบริโภค และอยากให้ชาวบ้านอื่นๆ ได้รับรู้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้คือหมู่บ้านแห่งดงผักหวานป่าอีกที่หนึ่งที่อยากให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสความมหัศจรรย์ในการปลูกผักหวานป่า โดยนิยามในการปลูกนั้นไม่ได้จำกัดแค่อยู่ในป่าเขาอีกต่อไป

สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องของการปลูกต้นผักหวานป่านั้นสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (085) 706-2097 คุณนันทวัฒน์ คำคง เกษตรกรผู้ปลูกและขยายพันธุ์ผักหวานป่าแห่งบ้านแวนศรีชุม หมู่ที่ 14 ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้ตลอดเวลา