ปลูกพริกไทย แบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้ผลดก สร้างรายได้งาม

คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของไร่ธัญฤทธิ์ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เขาสนใจปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอน (ยอดขาว) ซึ่งพันธุ์ซีลอนยอดขาว ซึ่งนำมาจากประเทศศรีลังกา พริกไทยพันธุ์นี้มีลักษณะเถาอ่อน สีเขียวอ่อนเกือบขาว โดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่าส่วนยอด ช่อผลจะยาว การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัก ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัก นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง กำลังเป็นที่นิยมปลูก เนื่องจากสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบหรืออากาศร้อน เพียงแต่จะต้องมีสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีการพรางแสงช่วย

คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว กับยอดไหลที่เหมาะแก่การตอนขยายพันธุ์

ขั้นตอนการปลูกพริกไทย

1.การเตรียมดิน ใช้ดินในส่วนแรก หน้าดิน จำนวน 70% ผสมขุยมะพร้าว จำนวน 10% ผสมปุ๋ยคอกเก่า จำนวน 10% ผสมเศษวัสดุการเกษตร เช่น เปลือกถั่วต่างๆ ใบก้ามปู ใบไผ่ จำนวน 10% เคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน โดยเรียงลำดับชั้น โดยแต่ละชั้นจะราดน้ำยาช่วยย่อยสลายพวกปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ลงไปเพื่อให้เกิดการย่อยสลายที่เร็วขึ้น และหมักทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และค่อยนำมาลงหลุมปลูก หรืออาจใช้แค่ซากพืชและพรวนดินพร้อมใช้น้ำยาช่วยย่อยสลายก็ได้เช่นกัน

2.เพื่อให้แปลงปลูกมีความลาดเอียงและระบายน้ำได้ดี โดยปรับพื้นที่ให้สูงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือการยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพริกไทย เนื่องจากต้นพริกไทยชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ

หากปลูกในดินเหนียวอาจเจอปัญหาน้ำขังและแห้งช้า ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ควรปลูกในดินร่วนปนทราย ซึ่งระบายน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำขัง สำหรับช่วงหน้าร้อนอาจเปลืองน้ำสักหน่อยเพราะดินร้อนระอุเก็บน้ำไม่อยู่ ควรใช้ฟางคลุมรอบต้นพริกไทยและรดน้ำช่วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

หากปลูกในดินลูกรังหรือดินกรวดแข็ง บริเวณหลุมปลูกพริกไทยควรขุดหลุมกว้างเพิ่มขึ้น ประมาณ 50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร และนำดินที่หมักไว้ในขั้นตอนแรกผสมลงไป เพราะการที่เราทำให้ระบบรากของพริกไทยนั้นเดินได้ดี จะต้องมีการปรุงดินเพื่อให้ร่วนซุย เพื่อให้มีปุ๋ยรองอยู่ที่พื้นดินและสามารถให้คุณค่าทางอาหารกับพืชได้นาน

เสาปูน สำหรับเป็นหลักให้ต้นพริกไทยเลื้อยเกาะ ความสูง 2.50 เมตร

3.การวางระบบโครงสร้าง เริ่มลงเสาโดยเสาปูน ที่ทางภาคกลางใช้จะเป็นเสาปูน 2 ชนิด คือ เสาปูนแบบธรรมดาและ เสาปูนแบบแรงอัด ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันคือ เสาแรงอัดมีความแข็งแรงมากกว่าและมีราคาสูงกว่า เสาหล่อปูนธรรมดาซึ่งเสี่ยงแตกหักง่าย กำหนดระยะห่างการปลูก อยู่ที่ 2×2 ถึง 2.5×2.5 เมตร

แปลงที่ใช้เสาปูนหล่อธรรมดา ควรแยกระหว่างเสาปูนและเสาซาแรน เพราะหากเกิดลมพายุพัดแรง อาจทำให้ตัวซาแรนบังแดดอาจพับ โยกค่อนข้างแรง จึงต้องแยกระหว่างเสาปลูกและเสาซาแรน ทำให้ป้องกันการหักในส่วนของเสาพริกไทยในส่วนนี้

ปักเสาปูนลงหลุม ฝังลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร

สำหรับเสาแรงอัด สามารถใช้โครงสร้างเหล็กหรือไม้ยึดติดกับด้านบนของเสาได้เลย เพราะค่อนข้างแข็งแรง บริเวณหัวเสาจะมีเหล็กโผล่ขึ้นมา จำนวน 2-4 เส้น ไว้สำหรับพาดยอดไหลของพริกไทย โครงสร้างซาแรนบังแดดอาจใช้เป็นไม้หรือโครงเหล็กก็ได้ แล้วแต่งบประมาณของเกษตรกร การขึงซาแรนบังแดด ควรใช้ซาแรนสีดำ เบอร์ 60-70% กางบังแสงให้ต้นพริกไทยอยู่กึ่งกลางของซาแรน แต่ละผืนมีระยะห่างกันอยู่ที่ 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้มีแสงลอดผ่านบ้าง

เปิดน้ำทดสอบระบบน้ำ เช็กความสมบูรณ์ก่อนนำต้นพริกไทยลงปลูก

4.การวางระบบน้ำ ควรใช้เป็นน้ำหยดหัวเสาโดยใช้สาย พีอี ขนาด 1 นิ้ว เป็นสายเมนหลัก และใช้ท่อไมโคร ต่อเข้าไปกับท่อ พีอี ขนาด 1 นิ้ว โยงขึ้นไปบนหัวเสาพริกไทยบริเวณส่วนกลางเพื่อให้น้ำนั้นไหลได้ทั้ง 4 ทิศทางของเสา ระบบน้ำหยดไหลหัวเสาช่วยประหยัดน้ำได้ดีมาก ใช้วิธีการต่อแบบประสานกัน ให้หัวทุกหัวเชื่อมต่อถึงกันหมด เพื่อให้น้ำไหลพร้อมกันทุกหัว ไม่เปลืองน้ำและได้รับน้ำสม่ำเสมอกัน

5.การเลือกกิ่งพันธุ์ปลูก ควรใช้กิ่งพันธุ์ดี แข็งแรง จากต้นพันธุ์อายุ 10 -24 เดือนซึ่งให้ผลผลิตมามากถึง 2 รุ่นแล้ว หากใช้ต้นพันธุ์อายุมากกว่านี้ กิ่งพันธุ์จะไม่แข็งแรง ปัญหาหลักที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพริกไทยแล้วตาย สาเหตุหลักมักเกิดจากต้นพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ การขยายพันธุ์พริกไทยที่นิยมใช้ ได้แก่ กิ่งตอน ปักชำ และตอนแล้วนำมาปักชำ สำหรับการปลูกโดยใช้กิ่งพันธุ์แบบตุ้มตอนและถุงชำ ปลูกลึกลงไปแค่ครึ่งถึง 1 ฝ่ามือเท่านั้น เนื่องจากช่วงแรกต้นพริกไทยต้องการขยายราก หากปลูกลึกเกินไปอาจเกิดปัญหารากเดินได้น้อย

แบบตอน หรือตุ้มตอน สามารถแกะถุงลงปลูกได้เลย โดยใช้ตุ้มตอนที่ออกรากค่อนข้างมากแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาที่จะแตกยอดใหม่หลังจาก 2 สัปดาห์ขึ้นไป

หมั่นมัดลำต้นพริกไทยให้ยึดติดเสาเป็นประจำ

แบบปักชำ ซึ่งนำกิ่งที่ตัดมาจากต้นมาปักชำลงในถุงชำ หรือปลูกลงไปในดินเลย และรอให้รากเดิน ทั้งนี้ การปักชำ โดยตัดออกมาจากต้นเลยเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว แต่อัตราการรอดและสมบูรณ์ของต้นมีน้อย ตัวกิ่งพันธุ์ต้องแก่และแข็งแรงถึงจะดี ตัวกิ่งชำควรชุบน้ำยากันเชื้อราก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา บางพื้นที่ ใช้วิธีนำกิ่งชำไปควบแน่น เพื่อเร่งสร้างยอดและราก ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่จะทำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและจำหน่ายพันธุ์

พบว่า การใช้กิ่งพันธุ์แบบตอนแล้วนำไปชำ มักให้ผลดีกว่า และเปอร์เซ็นต์ต้นที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูง เพราะนำตุ้มตอนที่ออกรากจนดีแล้วมาชำลงในถุง เพื่อให้เกิดการขยายรากเพิ่มในถุงอีก 1 ชั้น จะมีระบบราก 2 ชั้น และพอปลูกไปแล้ว มีโอกาสเติบโตเร็วมาก แต่ราคาค่อนข้างจะสูง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของผู้ปลูกและความสะดวกในการบริหารจัดการ

1 ปีแรก เน้นการเจริญเติบโตทางลำต้นและทางใบ สามารถใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักได้อย่างต่อเนื่อง

6.ก่อนปลูกแนะนำให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยฟอสเฟต เพื่อเป็นธาตุอาหารให้พืชใช้ในการเติบโตระยะยาว เทดินที่หมักไว้ลงไป หลังจากนั้น ขุดหลุมให้ขนาดพอดีกับถุงชำ หรือตุ้มตอน ลึกลงไปประมาณ 1 ฝ่ามือ และกลบดินให้มิดโคนต้นและรดน้ำตามทันที ระวังอย่าให้ดินปลูกแห้งหรือแฉะน้ำมากเกินไป หลังจากนั้น ต้องรดน้ำเช้า-เย็น 5-10 นาที ตามความเหมาะสม หรือถ้ากรณีมีฝนตกน้ำชุ่มอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องรดก็ได้ และทำเช่นนี้จนกระทั่งครบ 3 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ย สูตร 24-7-7 หลุมละ 1 กำมือ เดือนละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยมูลวัว หลุมละ 10 กิโลกรัม 3 เดือนครั้ง ตั้งแต่ 3-10 เดือน

7.การเจริญเติบโต ในช่วงแรก หรือ 1 ปีแรก เน้นการเจริญเติบโตทางลำต้นและทางใบ สามารถใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักได้อย่างต่อเนื่อง หากคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ พริกไทยจะเติบโตได้เร็วมาก

8.ฮอร์โมนบำรุงใบ ควรใช้ฮอร์โมนที่มีส่วนผสมของแคลเซียม สังกะสี สาหร่ายสกัด ปุ๋ยทางใบที่มีไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 18-6-6, 30-20-10 เป็นต้น เดือนละ 1-2 ครั้ง จะใช้เป็นฮอร์โมนสำหรับบำรุงการเติบโตของพืชประเภทเถาเลื้อย จนกระทั่งอายุได้ 10-12 เดือน ถ้าต้นสมบูรณ์ดีและยอดพริกไทยสุดเสาปูนแล้วเตรียมเปิดตาดอก โดยตัดยอดไหลของพริกไทยที่บริเวณหัวเสา และทาด้วยปูนแดง จากนั้นใช้ฮอร์โมนสำหรับเร่งเปิดตาดอก และปุ๋ยสูตร 8-24-24 หลุมละครึ่งกิโล 1 ครั้ง หากเกิดเชื้อราประเภทต่างๆ ให้แก้ตามอาการ หากดอกเริ่มบานและเกสรร่วง ให้ฉีดฮอร์โมนกลุ่มแคลเซียมโบรอน เพื่อเพิ่มเมล็ดและฉีดฮอร์โมนเร่งเต่ง+ขั้วเหนียว ทุก 10-15 วัน จนกว่าจะเก็บผลผลิต

หากคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ พริกไทยจะเติบโตได้เร็วมาก

9.โดยปกติแล้วพริกไทยหากต้นพันธุ์แข็งแรงจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะจะมีภูมิต้านทานสูง ส่วนโรคและศัตรูพืชที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อรา โรครากเน่า โคนเน่า เน่าเข้าไส้ สามารถใช้คาร์เบนดาซิม หรือกลุ่มฟอสอีทิลอะลูมิเนียม ในการยับยั้งหรือฉีดป้องกัน ในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นสะสมค่อนข้างสูงในแปลงปลูก

– ศัตรูพืชประเภท เพลี้ยแป้ง ควรใช้สารกำจัดเพลี้ยชนิดเดียวกับที่ฉีดในนาข้าวและแตงโม

– หอยทาก ควรใช้สารกำจัดหอยเชอรี่ชนิดเม็ดโรยรอบโคนต้น ห่างจากพริกไทย 1 ฟุต หรือจะนำทรายไปโรยไว้รอบๆ โคนก็ได้

ผู้ที่สนใจปลูกพริกไทย ควรศึกษาหาข้อมูลและตรวจสอบแปลงของแหล่งพันธุ์ว่าเหมาะกับการทำพันธุ์หรือไม่ จะทำให้ประสบความสำเร็จจากพริกไทยได้ง่าย และจะลดปัญหาการซื้อเพื่อปลูกซ่อมอีกด้วยครับ

แปลงปลูกพริกไทย ที่กำลังจะปล่อยให้มีผลผลิตอย่างเต็มที่

กลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์

คุณอาธัญฤทธิ์ เล่าว่า ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เรื่องการปลูกพริกไทย โดยใช้ชื่อ “พริกไทยเกษตรอินเตอร์” มีการแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแล การเก็บเกี่ยว รวมไปถึงการตลาดพริกไทยอย่างครบวงจร

เกษตรกรมักจะเข้าใจว่า พริกไทยต้องปลูกในพื้นที่บริเวณภูเขาที่มีอากาศค่อนข้างเย็น ถึงจะเจริญเติบโตดี แต่มีผู้ทดลองปลูกพริกไทยในพื้นที่ราบเขตอากาศร้อน ปรากฏว่าต้นพริกไทยไม่โต หรืออาจตายเลยก็มี เนื่องจากสมัยนี้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มีราคาถูกลงและมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยลดความร้อนให้พริกไทยเหมือนอยู่บนเขาได้ นั่นคือ ใช้ซาแรนพรางแสงบังแดดช่วยพรางแสง

ความดกของพริกไทยซีลอน

สำหรับเขตพื้นที่ราบ ใช้ซาแรนเปอร์เซ็นต์กรองแสงอยู่ที่ 60-70% ช่วยให้ต้นพริกไทยเติบโตได้ ในอดีตปลูกพริกไทยโดยใช้ต้นไม้ เสาไม้ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นเสาปูน ราคาหลักร้อยบาท และแข็งแรงอยู่ได้นานหลายปี ทำให้มีผู้สนใจปลูกพริกไทยกันอย่างแพร่หลาย แต่หลังจากปลูกแล้ว วิธีการดูแล การเก็บเกี่ยวกับการตลาด เกษตรกรจะหาข้อมูลได้ที่ไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเช่นกัน

ฉะนั้น การทำเกษตรแบบรวมกลุ่ม สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ การลงทุนปลูกพริกไทยนั้น ใช้งบประมาณในการลงทุนค่อนข้างสูงพอสมควร การลงทุนปลูกแต่ละครั้งจึงปลูกได้จำนวนไม่มากในแต่ละเจ้า ทำให้ผลผลิตที่ได้รับนั้นมีไม่พอที่จะส่งหรือน้อยเกินไปต่อการไปรับสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า จึงมีการตั้งกลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์ขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่อไปนี้

กลุ่มพริกไทยเกษตรอินเตอร์มีผู้ให้การดูแลด้านการตลาด การประสานงาน ผู้ดูแลตรวจสอบแปลงพันธุ์ การรับประกันกิ่งพันธุ์ การรับซื้อผลผลิต และโปรโมตจำหน่ายกิ่งพันธุ์ โดยใช้สื่อออนไลน์เข้ามาช่วย ทำให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น โดยการรวบรวมสมาชิกและลงทะเบียนนั้นทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าผลผลิตที่แน่นอนในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไร เราสามารถที่จะต่อรองกับทางโรงงานใหญ่ๆ และติดต่อกับต่างประเทศได้ เพราะเรามีสินค้าที่มากเพียงพอ

หากสนใจเรื่องการปลูกดูแลพริกไทย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว เจ้าของสวนพริกไทย ไร่ธัญฤทธิ์ (ศูนย์จำหน่ายพันธุ์และถ่ายทอดความรู้เกษตรผสมผสาน) เลขที่ 98/9 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงปลาทู อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โทร. (097) 924-9993, (056) 000-579

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2559