ทส.มอบ “กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ” เดินหน้าแก้ปัญหา “บุกรุกพื้นที่ป่า” จ.น่าน

นายประลอง ดำรงค์ไทย โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เล็งเห็นถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน ทส.จึงได้มอบหมายให้  กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศในการใช้การแปลภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต ในการตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่า  พบว่าตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน  อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน เฉลี่ยเหลือเพียงปีละ 345 ไร่ จากก่อนหน้าปี 2557 พื้นที่เคยถูกบุกรุกกว่า ปีละ 74,000ไร่(ข้อมูลพบว่าปี 2551 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า 5,103,550 ไร่ ปี 2557 มีพื้นที่ป่า 4,659,641 ไร่ ปี 2559 มีพื้นที่ป่า 4,658,605 ไร่) เนื่องจากนโยบายการหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐบาล คสช. ที่เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

โดยเฉพาะจังหวัดน่าน สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้กว่า 20,040 ไร่  โดยการทำงานบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ในการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ใช้หลักการแก้ไขปัญหารูปแบบประชารัฐในการลงไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับข้าราชการและประชาชน รวมทั้งกลุ่มต่างๆในจ.น่าน ที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ให้ร่วมกันฟื้นฟู ภายใต้ยุทธศาสตร์การดำเนินการ 7 ข้อ  ได้แก่

– การสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน (มท.)

– การจัดระเบียบคนและพื้นที่ (ทส.)

– การป้องกันและรักษาป่า (ทส.)

– การฟื้นฟูระบบนิเวศ (ทส.)

– การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ (กษ.)

– การสร้างองค์ๆๆรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (ศธ.)

– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน (มท.)

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกลุ่มเกษตรกร  ในเขตป่าของจังหวัดน่าน ได้มีการประชุมและประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ระหว่าง 4  หน่วยงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงเกษตร  กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการปรับแก้พืชเกษตรที่จะมาทดแทนข้าวโพด โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาในเรื่องของการปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มาใช้ในการดำเนินการ  พร้อมกันนี้กระทรวงทรัพยากรฯ โดยกรมป่าไม้ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเลือกชนิดพืชเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับที่จะไปดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทั้งมีการหารือเรื่องการลดการใช้สารเคมี และการนำรูปแบบวนเกษตรมาใช้

จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อฟื้นฟู ดูแลรักษาและแก้ไขปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในและรอบพื้นที่ป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่จังหวัดน่านมีศูนย์ดังกล่าว จำนวน 8 ศูนย์ โดยแต่ละศูนย์ฯ ก็จะมีการไปจัดตั้ง ฐานปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งฐานฯดังกล่าวจะไปตั้งอยู่บนยอดเนิน ครอบคลุมพื้นที่ ที่ถูกบุกรุก เพื่อหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าทั้งหมดโดยจะมี เจ้าหน้าที่ของ กรมป่าไม้.และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช  ไปประจำอยู่ ณ.ฐานฯ ดังกล่าว เช่น ศูนย์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข ทั้งนี้ได้มีการแบ่งเขตพื้นที่เพื่อการจัดการ มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ในการดูแลรักษาป่า การจัดตั้งป่าชุมชน การฟื้นฟูพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำ 1, 2 ในรูปแบบวนประชารัฐ พื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 มีการจัด คทช. เพื่อส่งเสริมราษฎรทำกินในพื้นที่ในรูปแบบวนเกษตร การปลูกป่าเศรษฐกิจ และมีการนำรูปแบบโครงการสร้างป่าสร้างรายได้มาขยายผล

โฆษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อถึง การจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน  ในพื้นที่ จงหวัดน่าน 7.58 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพ 1,435,604 ไร่ แบ่งเป็น  1) ป่าเสื่อมสภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,2 จำนวน 917,995 ไร่

2) ป่าเสื่อมสภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,4,5 จำนวน 517,609 ไร่

ซึ่งพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพดังกล่าวสามารถดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ จำนวน 139,344 ไร่ โดยดำเนินการไปแล้ว 46,596 ไร่

สำหรับส่วนที่เหลือ ท่าน รมว.ทส. ได้สั่งการให้กปม.ได้เร่งดำเนินการอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติตามแนวทาง คณะกรรมการ คทช. ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว บางพื้นที่ ก็ได้มีการดำเนินการ     ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557  อนึ่งขณะนี้ทางกรมป่าไม้ได้เสนอร่างกรอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในภาพรวมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน โดยเป็นการดำเนินงานในรูปแบบวนประชารัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างสามัคคีปรองดอง กระทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ป.ย.ป.ท.ส) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบนโยบายดังกล่าว จะส่งผลให้กรมป่าไม้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการปลูกพื ชเชิงเดี่ยว และการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่สูงชันได้อย่างชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรม ต่อไป