ภัยร้าย ศัตรูมะพร้าวที่ควรรู้จัก

ช่วงนี้เกิดสถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าว 5 ชนิด ได้แก่ หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ด้วงแรด ด้วงงวง และไรสี่ขา ใน 29 จังหวัดทั้งประเทศ ในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ ชุมพร สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง

จังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว จำนวน 3,662.10 ไร่ ปลูกมากที่สุดคือ อำเภอกันตัง จำนวน 802.89 ไร่ อำเภอเมือง จำนวน 602.83 ไร่ คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง จึงขอเตือนเกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ต ทุกแห่งที่ปลูกมะพร้าวเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการจัดการศัตรูมะพร้าวตามแนวทางอย่างยั่งยืน

ศัตรูมะพร้าวที่สำคัญและลักษณะการทำลาย มีดังนี้

  1. หนอนหัวดำ

ตัวหนอนจะทำลายจากใบล่าง โดยกัดกินผิวใต้ใบและสร้างอุโมงค์ยาวคล้ายทางเดินของปลวก หากการทำลายรุนแรงทำให้มะพร้าวตาย เกษตรกรควรใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ประกอบด้วย วิธีกล ได้แก่ การตัดทางใบที่ถูกหนอนทำลายและนำมาเผาทำลาย ใช้ศัตรูธรรมชาติแตนเบียนหนอน Bracon hebetor เพื่อควบคุมระยะหนอนของหนอนหัวดำ อัตราไร่ละ 200 ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 สัปดาห์

  1. แมลงดำหนาม

ตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดกินยอดอ่อนและซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่ และจะเคลื่อนย้ายไปกินยอดอ่อนอื่น ต้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง ใบจะเป็นสีขาวโพลนหรือที่เรียกว่า “มะพร้าวหัวหงอก” แนะนำควบคุมการระบาดโดยการตัดยอดที่ถูกทำลาย เก็บไข่และตัวหนอนไปทำลาย ใช้ตัวห้ำและตัวเบียน

แมลงดำหนาม
  1. ด้วงแรด

ใบจะขาดเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือขาดเป็นริ้วๆ คล้ายรูปพัดหรือหางปลา รอยแผลที่ด้วงแรดกัดเป็นเหตุให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าทำลายภายหลัง

การป้องกันและกำจัด ได้แก่

  1. กำจัดแหล่งขยายพันธุ์โดยการทำลายซากท่อนมะพร้าว ตอมะพร้าวหรือหากมีซากชิ้นส่วนของพืชควรเกลี่ยไม่ให้หนาเกิน 15 เซนติเมตร ทำความสะอาดคอมะพร้าว
  2. ใช้กับดักฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย การวางกับดักฟีโรโมนต้องห่างจากแปลง 3-5 เมตร และวางทิศทางต้นลมของแปลงเสมอ
  3. ใช้เชื้อราเมตาไรเซียมในกองวัสดุทางการเกษตรที่อาจมีหนอนด้วงแรดอาศัยอยู่ เชื้อจะทำลายด้วงแรดทุกระยะการเติบโต

    ด้วงแรด
  4. ด้วงงวง

ทำลายโดยการเจาะลำต้นและยอด ส่วนใหญ่จะวางไข่ตามบาดแผลหรือบริเวณที่ด้วงแรดเจาะไว้ สังเกตอาการเฉาหรือใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ยอดหักพับ หากพบอาการรอยแผลรอยเจาะและยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยวให้ใช้เหล็กปลายแหลมแทงเข้าไปในรอยเจาะเพื่อทำลายตัวหนอน ใช้กับดักฟีโรโมนล่อด้วงงวงเพื่อนำไปทำลาย

  1. ไรสี่ขา

จะทำลายใต้กลีบขั้วผล ตั้งแต่ผลขนาดเล็กทำให้เกิดแผลและลุกลามเป็นแผลตกสะเก็ด อาการจะแตกเป็นริ้วเหมือนลายไม้และทำลายทุกผลในทลาย หากการระบาดรุนแรงในผลเล็กจะร่วงเสียหายจนไม่สามารถจำหน่ายได้ เน้นพ่นสารกำจัดไรในช่วงระยะมะพร้าวติดจั่นจนถึงระยะผลขนาดเล็ก เช่น กำมะถัน 80% WG อัตรา 60 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง

คุณภวิษพร ย่องภู่

คุณภวิษพร ย่องภู่ เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เคยได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท “มะพร้าวน้ำหอม” งานวันลองกอง ครั้งที่ 41 ประจำปี พ.ศ. 2559 เป็นผู้หนึ่งที่เคยประสบปัญหาศัตรูมะพร้าว “ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 5 ไร่ ไว้จำหน่ายผลละ 8-10 บาท สร้างรายได้เดือนละ 8,000-10,000 บาท เคยประสบปัญหาการทำลายของด้วงแรดและแมลงดำหนามมาทำลาย แต่ยังไม่รุนแรง แก้ไขโดยการกำจัดแหล่งขยายพันธุ์โดยการทำลายซากท่อนมะพร้าวตอมะพร้าวหรือหากมีซากชิ้นส่วนของพืชควรเกลี่ยไม่ให้หนาเกิน 15 เซนติเมตร ทำความสะอาดคอมะพร้าวร่วมกับใช้กับดักฟีโรโมนล่อจับตัวเต็มวัย และนำมาทำลาย

คุณฟีซะ ผ่องศรี

คุณฟีซะ ผ่องศรี ตัวแทนเกษตรกรพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่า บนเกาะลิบงมีรีสอร์ต โฮมสเตย์ หลายแห่งที่ปลูกมะพร้าว เคยประสบปัญหาด้วงแรด ประสานให้เกษตรจังหวัดตรังมาให้คำแนะนำ

คุณเรียม มีสุข (ซ้าย)

คุณเรียม มีสุข เกษตรกรหมู่ที่ 9 ตำบลในควน อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่า ปลูกมะพร้าวจำนวน 1 ไร่ มะพร้าวอายุ 2 ปี พบการเข้าทำลายของแมลงดำหนาม ได้รับคำแนะนำจากเกษตรตำบลให้หมั่นเก็บทำลายไข่ ตัวหนอน และตัวเต็มไวของแมลงดำหนาม รักษาแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน แมลงหางหนีบ

– ปล่อยแมลงหางหนีบ บริเวณยอดมะพร้าว 50 ตัว ต่อยอด เพื่อกำจัดหนอนและดักแด้แมลงดำหนาม

– ปล่อยแตนเบียน อะซีโคดิส อิสพินารัม (Asecodes hispinarum) ทำลายหนอนแมลงดำหนาม อัตรา 5-10 มัมมี่ ต่อไร่ ปล่อย 3-5 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

ถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง โทร. (075) 218-382

ปล่อยแตนเบียน