“เกษตรผสมผสาน” วางแผน-ลดต้นทุน-ลดความเสี่ยง สูตรสำเร็จวิถีพอเพียง บนพื้นที่ 2 ไร่

เกษตรกรรม เป็นกิจกรรมการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง แต่การเลือกทำเพียงกิจกรรมเดียว จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะไม่ได้รับผลผลิตเมื่อต้องประสบกับภัยสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แต่ถ้าเลือกทำ “เกษตรผสมผสาน” คือมีตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป มีการวางแผนการผลิต ใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ความเสี่ยงก็ลดลง

ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวนเกษตรผสมผสานจึงเป็นทางเลือกในการยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การดำรงชีพที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง เกษตรผสมผสาน วิถีพอเพียง บนพื้นที่ ไร่ ที่สิงห์บุรี มาบอกเล่าสู่กัน

เกษตรผสมผสาน เป็นงานเกษตรที่ทำตั้งแต่ 2 กิจกรรม ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยง โดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้วางแผนการปลูกและผลิต ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ ใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้ผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ที่ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ หรือเป็นสินค้าโอท็อป (OTOP) ที่ตลาดต้องการ ทำให้เกษตรกรยกระดับรายได้ เพื่อการดำรงชีพที่มั่นคง
ร้อยตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ ผู้ทำเกษตรผสมผสาน เล่าให้ฟังว่า จากที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเกษียณก็ได้ผันตัวออกมาเป็นชาวบ้านเป็นเกษตรกร เบื้องต้นจึงต้องเรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์งานด้านเกษตรให้ชำนาญ สืบค้นข้อมูลด้านวิชาการเกษตรจากแหล่งวิชาการ ขอรับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อได้ข้อมูลพอแล้ว ได้ตัดสินใจทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยง ให้มีผลผลิตบริโภคหรือเหลือขาย
การดำเนินงาน ได้จัดการใช้ประโยชน์ พื้นที่ 2 ไร่ ที่มีพื้นที่ส่วนที่หนึ่งเป็นบ้านพัก ส่วนที่สองจัดเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลและพืชผัก ส่วนที่สามจัดเป็นคอกเลี้ยงหมู เป็ด และไก่ จัดให้มีแหล่งน้ำใช้ในการผลิตเกษตร

 

กิจกรรมหลัก คือ การเลี้ยงหมูแม่พันธุ์และเลี้ยงหมูขุน ได้สร้างโรงเรือนห่างจากบ้านพักและเป็นที่ดอน น้ำไม่ขัง เมื่อล้างทำความสะอาดพื้นคอกหมู มูลหมูที่เก็บได้ใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปคลุกเคล้าเพื่อกำจัดกลิ่นและป้องกันแมลงวันเข้ามารบกวน ส่วนมูลหมูที่ตากแห้งได้นำไปใช้ในแปลงเกษตร อีกส่วนหนึ่งขาย การเลี้ยงหมูมี ดังนี้

การเลี้ยงแม่พันธุ์หมู ได้คัดเลือกแม่พันธุ์หมูมาเลี้ยง 3 วิธี คือ

    1. ซื้อลูกหมูขุนจากฟาร์ม คัดเลือกตัวที่มีน้ำหนัก ประมาณ 90 กิโลกรัม หรืออายุ 4 เดือน นับจากวันอย่านม มีลักษณะดีเช่น มีเต้านม 13 เต้า ขึ้นไป หัวนมไม่บอด แผ่นหลังกว้าง ขาหลังใหญ่ตรง แข็งแรง
    2. ซื้อแม่พันธุ์หมูที่แหล่งพันธุ์ดี คัดเลือกขนาด อายุ น้ำหนักและใกล้เป็นสัด มีข้อดีคือ โครงร่างใหญ่ ให้ลูกดก
    3.เลือกซื้อลูกหมูที่เกิดจากแม่พันธุ์ดี ราคาถูก สุขภาพดี ไม่อ่อนแอ และต้านทานโรค

การเลี้ยงหมูขุน นำลูกหมูอย่านมเข้าคอก ติดป้ายระบุวันอย่านมไว้ที่คอก เพื่อการดูแลและกำหนดวันจับขาย ช่วงแรกที่เลี้ยงได้ให้อาหารหมูเล็กหรือให้กินกล้วยน้ำว้าสุกบ้าง เพราะลูกหมูยังหากินไม่เก่ง ช่วงอดนม 2-3 วัน ต้องปอกเปลือกกล้วยสุกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กิน ถ้าลูกหมูท้องเสียให้ลดอาหาร เมื่อดีขึ้นก็ให้กินอาหารเหมือนเดิม แต่ถ้าไม่ดีขึ้นต้องใช้ยาฉีด หมูที่มีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 2 มาผสมให้กิน เมื่อได้น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ได้เปลี่ยนเป็นอาหาร เบอร์ 3 มาผสมให้กิน และเมื่อหมูน้ำหนัก 50 กิโลกรัม เปลี่ยนมาผสมอาหารปกติให้กิน

การทำบ่อบำบัด ได้สร้างบ่อบำบัดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าพื้นคอกหมู เพื่อให้น้ำที่ล้างทำความสะอาดไหลลงบ่อได้ง่าย ฉาบด้วยปูนซีเมนต์ด้านในวงบ่อซีเมนต์ป้องกันน้ำซึมเข้าและป้องกันกลิ่นไปรบกวนเพื่อนบ้าน และเมื่อมูลหมูเต็มบ่อได้สูบขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช

ร้อยตรีบัญชา เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า อีกกิจกรรมหนึ่งคือ เลี้ยงไก่ไข่ 15 ตัว มีไข่ให้เก็บ 10-14 ฟอง ต่อวัน วิธีเลี้ยงได้ปล่อยไก่ไปหากินเศษอาหารที่ตกหล่นจากการเลี้ยงหมูหรือเศษพืชผักผลไม้เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารเม็ด และได้จัดอาหารเม็ดให้ไก่กินเพื่อเสริมให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตให้ผลผลิตคุณภาพ

การปลูกพืช ได้ปลูกพืชอายุสั้นที่ให้ผลผลิตไวได้เก็บกินในครัวเรือนก่อน เหลือก็นำออกขายให้กับพ่อค้าในหมู่บ้านนำไปขายต่อที่ตลาดสิงห์บุรี พืชผักที่ปลูก เช่น ผักโขม ผักสลัด มะเขือ กะเพรา ข่า ตะไคร้ หรือดอกชมจันทร์ ส่วนไม้ผลที่ปลูก เช่น มะม่วง ฝรั่ง กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มะละกอ หรือมะนาว

การทำเกษตรผสมผสาน ได้จดบันทึกทุกกิจกรรมเพื่อนำข้อดี ข้อด้อย มาเป็นแนวทางแก้ไขปรับปรุงวิธีผลิตและการผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ จึงได้รับการรับรองให้เป็นสินค้าเกษตรดีมีคุณภาพ จากกรมวิชาการเกษตร และการก้าวสู่ความสำเร็จมีผลผลิตให้เก็บกินหรือนำไปขายเป็นรายได้ เป็นเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้วิถีการดำรงชีพมีความมั่นคง

จากเรื่อง เกษตรผสมผสาน วิถีพอเพียง บนพื้นที่ 2 ไร่ ที่สิงห์บุรี ได้จัดการพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ใช้ปัจจัยผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ได้ผลตอบแทนคุ้มทุนหรือจดบันทึกกิจกรรม เป็นวิถีการดำรงชีพที่มั่นคง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562