นาขาวัง…นาข้าวสลับเลี้ยงสัตว์น้ำในแปลงเดียว ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรของภาคตะวันออก

สสก.3 ระยอง จับมือเกษตรฉะเชิงเทรา เฟ้นหาแปลงเกษตรภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร พบนาขาวัง ที่บ้านเขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดดเด่นด้านภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ 3 น้ำ จืด กร่อย และเค็ม ใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี ปลูกข้าวคุณภาพ ตามด้วยเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู และปลา มีรายได้จากการผลิตตลอดทั้งปีจากพื้นที่แปลงเดียว

นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า สสก.3 ระยอง ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดเวทีกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและชุมชน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรให้มีความสมบูรณ์ และสามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง ณ ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

“นาขาวัง ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย ขาดผู้สืบทอด เป็นภูมิปัญญาบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเวลาติดต่อกันกว่า 30 ปี มีประวัติความเป็นมา เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ด้านการเกษตร โดยนา “ขาวัง” มีการบริหารจัดการร่องน้ำรอบแปลงนาตามภูมิปัญญาที่อาศัยสภาพแวดล้อมมาเป็นตัวกำหนด สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างแหล่งอาหาร ที่นี่เกษตรกรทำนาร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำในผืนเดียวกัน โดยขุดคูน้ำลึกล้อมรอบแปลงนา เพื่อทำนาช่วงน้ำมีความจืดที่เหมาะสมและเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงน้ำมีความเค็มสูง เนื่องจากพื้นที่หน้าแล้งน้ำเค็มจากทะเลหนุน” นายปิยะ กล่าว

ผอ.สสก.3 จ.ระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษ์ประจำถิ่นและมีการสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาคัดเลือก นาขาวัง บ้านเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรของภาคตะวันออก

 ด้าน นายมนตรี ใบทอง เกษตรกรตำบลเขาดิน หนึ่งในเกษตรกรที่ทำนาขาวัง กล่าวว่า มีพื้นที่ 60 ไร่ ทำนาขาวังมาตลอด ปีใดน้ำเปลี่ยนแปลง ฝนตกน้อยน้ำจืดเข้ามามากจะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำพวกกุ้ง ปู และปลา ตามภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบเนื่องกันมา คือ จะปล่อยน้ำธรรมชาติเข้าพื้นที่ในน้ำจะมีลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปู และลูกปลาติดมา ซึ่งสัตว์น้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะขึ้นมาอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อยเพื่อหากินและเจริญเติบโต และจะปล่อยน้ำเข้าออกตามธรรมชาติโดยทำระบบปิดไม่ให้ลูกสัตว์ออกบริเวณทางน้ำออก  จะทำให้ลูกสัตว์น้ำมีเข้ามาตลอดเวลาตามจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง ตัวที่เข้ามาก่อนเติบโตก็จับไปขาย  

“ภูมิปัญญานี้จะทำให้มีสัตว์น้ำจับขายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ซื้อลูกกุ้งกุลาดำมาปล่อยเพิ่มเติมทำให้มีสัตว์น้ำเพิ่มชนิดและจำนวนมากขึ้น หากปีใดมีน้ำจืดเข้ามามากเพียงพอกับการชะล้างหน้าดินลดความเค็มก็ทำนาตามภูมิปัญญานาขาวัง คือ มีระบบน้ำรอบๆ แปลงนาข้าวเพื่อรองรับน้ำเค็มและเลี้ยงสัตว์น้ำ หลังเก็บเกี่ยวน้ำเค็มเข้าก็เลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป” นายมนตรี กล่าว

สำหรับ ตำบลเขาดิน อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 20 กิโลเมตร ในช่วงฤดูแล้งน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำมีความเค็ม ในฤดูฝนน้ำจืดมากน้ำในลำคลองจืด ระบบนิเวศที่นี่จึงมี 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม สลับกัน เกษตรกรจึงทำนาขาวังในช่วงน้ำจืดระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม สลับกับเลี้ยงสัตว์น้ำ ประเภทปู กุ้ง และปลา แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ  การทำนาจะขุดคูน้ำรอบแปลงนา เพื่อจัดการความเค็มที่ตกค้างในดิน โดยน้ำเค็มจะอยู่ต่ำกว่าน้ำจืด เมื่อน้ำจืดเข้ามาล้างความเค็มที่ตกค้างไหลมารวมที่ต่ำกว่าคือในคู ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จากนั้นไถกลบพลิกหน้าดินแล้วหว่านข้าว เมื่อข้าวอายุได้ 120 วัน จะเก็บเกี่ยว การทำนาจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี

ปัจจุบัน ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้จะมีคุณภาพดี เพราะดินมีความเค็มเล็กน้อย หญ้าหรือวัชพืชอื่นๆ ไม่สามารถเจริญเติบโต ข้าวจึงมีสิ่งเจือปนน้อย ขณะที่คูน้ำเป็นแหล่งเก็บกักน้ำทำให้แปลงนาแห้ง ข้าวมีความชื้นต่ำ เป็นการเพิ่มคุณภาพอีกทางหนึ่ง โดยข้าวที่ปลูกเกือบทั้งหมด จะขายเป็นข้าวพันธุ์ให้กับกรมการข้าว

หลังเก็บเกี่ยวข้าวใช้เลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการไถกลบตอซัง ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำเค็มเข้านา ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จนน้ำเป็นสีน้ำตาลแดงจากตอซังข้าวเจือจางไป จึงเลี้ยงสัตว์น้ำ กิจกรรมนี้จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม เมื่อโตจึงจับขาย ในชุมชน แพปลาบางปะกง และตลาดบางปะกง กระบวนการเลี้ยงอยู่ที่ 1 เดือน ต่อ 2 รอบ ส่วนปู ประมาณ เดือนครึ่ง ต่อ 1 รอบการเลี้ยง ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวและสัตว์น้ำหมุนเวียนเกือบทั้งปี