เผยแพร่ |
---|
นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลัง ปีเพาะปลูก 2564/65 (ตุลาคม 2564 ถึง กันยายน 2565) ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์) ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้ง 5 จังหวัด รวม 1,654,328 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,601,538 ไร่ (เพิ่มขึ้น 55,355 ไร่ หรือร้อยละ 3) เนื่องจากปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายได้ราคาดี จึงจูงใจให้ขยายเนื้อที่ปลูกแทนอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่ามันสำปะหลัง ส่วนผลผลิตรวมทั้ง 5 จังหวัด มีจำนวน 5,690,476 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 5,184,359 ตัน (เพิ่มขึ้น 506,117 ตัน หรือร้อยละ 10) เนื่องจากเนื้อที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นและปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตดี ทั้งนี้ เกษตรกรจะเริ่มเพาะปลูกมันสำปะหลังเดือนมีนาคม 2564 และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2565)
หากพิจารณาสถานการณ์การผลิตโดยแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า กำแพงเพชร มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 734,406 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิต 2,621,829 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 พิจิตร มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 14,698 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิต 47,607 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 นครสวรรค์ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว438,741 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ผลผลิต 1,417,133 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 อุทัยธานี มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 219,514 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ผลผลิต 747,665 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 246,969 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ผลผลิต 856,242 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9
ด้านราคามันสำปะหลังปีเพาะปลูก 2563/64 (ตุลาคม 2563 ถึง มิถุนายน 2564) ของทั้ง 5 จังหวัด ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาเฉลี่ย 1.99 บาท/กิโลกรัม ราคาปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ราคาเฉลี่ย 1.88 บาท/กิโลกรัม ณ ตุลาคม 2562 ถึง กันยายน 2563) เนื่องจากตลาดมีความต้องการมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีช่วงเวลาเพาะปลูก ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564 กำหนดราคาเป้าหมาย ณ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลงระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง รวม 7 งวด (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564) มีเกษตรกรได้รับการโอนเงินชดเชยส่วนต่างรวมทั้งประเทศ จำนวน 434,977 ครัวเรือน
ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่ครบอายุ ซึ่งจะได้เปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งสูง น้ำหนักดี ขายได้ราคาดี หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่มีอายุน้อย จะทำให้มันสำปะหลังหัวเล็ก ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และไม่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่มีฝนตกชุก เพราะจะทำให้มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ และที่สำคัญเกษตรกรควรหมั่นดูแลรักษาแปลง เฝ้าระวังการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ในส่วนของพื้นที่ปลูกใหม่หรือพื้นที่ปลูกซ่อมเกษตรกรไม่ควรนำท่อนพันธุ์จากแหล่งอื่นที่พบการระบาดของโรคมาปลูก หากพบอาการใบด่าง ใบหงิกเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกร็น ต้องรีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่หรือสายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง โทร. (02) 955-1626 และ (02) 955-1514 เพื่อดำเนินการตัดวงจรการระบาดต่อไป สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังภาคเหนือตอนล่าง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.12 นครสวรรค์ โทร. (056) 803-525 หรืออีเมล [email protected]