เผยแพร่ |
---|
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2562 มีการส่งออกผลทุเรียนและผลิตภัณฑ์แปรรูป (ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนอบแห้ง ทุเรียนกวน) มีปริมาณ 680,872.5 ตัน มีมูลค่ารวมถึง 51,035.7 ล้านบาท และกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณส่งออกทั้งหมดถูกส่งออกในรูปของทุเรียนสด ( แบบผล และแบบแกะพู) ทุเรียนแบบผลแม้จะมีราคาต่ำกว่าทุเรียนแบบแกะพู แต่ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเนื้อที่อยู่ในผลนั้นจะมีคุณภาพดีหรือไม่
การส่งออกทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง แต่กระนั้น การส่งออกทุเรียนสดแบบแกะพูจะมีอุปสรรคที่สำคัญคือ อายุการเก็็บรักษาสั้น จึงต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิดจากต้นทางของผู้ผลิตจนถึงปลายทางคือผู้บริโภค
ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า อุปสรรคสำคัญของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูคือ เมื่อแกะเนื้อออกมาจากผลแล้วอายุในการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น จึงเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการส่งออกและการวางจำหน่าย จึงได้ศึกษาและพัฒนาแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี และได้ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ
วิธีดำเนินการลำดับแรกคือ ต้องคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐานแล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอทิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง (“เอทิลีน” เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)
กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพูจากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้น จึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ ดังนั้น จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง
ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูคือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลืือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด
ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่น บรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อคือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน
ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย
ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหาเพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น
เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม