ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เชื่อว่าหลายคนหากได้ยินชื่อของสมุนไพรชนิดนี้แล้ว คงชะงัก ตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะ คำว่า “ป่าเฮ่ว” ในภาษาเหนือ หมายถึง “ป่าช้า” คนภาคกลาง จึงเรียกว่า “ป่าช้าหมอง” หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ“ขันทองพยาบาท” ส่วนคนจีนเรียกว่า “หนานเฉาเหว่ย” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าSuregada multiflorum (A.Juss.) Baill. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae
“ป่าช้าหมอง” ชื่อนี้มีที่มา ว่ากันว่าป่าช้าหมองเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่ภูมิปัญญามาช้านาน ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จนไม่มีใครต้องเสียชีวิต ทำให้ป่าช้าต้องหงอยเหงานั่นเอง
ลักษณะทางพันธุศาสตร์ของป่าช้าหมอง เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 3-7 เมตร ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม เกลี้ยงและเป็นมัน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ สีเขียวอ่อนหรือเหลืองมีกลิ่นหอม ผลทรงกลม ใน 1 ผล แบ่งออกเป็น 3 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมื่อแก่ผลจะแตกตามรอยประสานระหว่างแต่ละพู ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีเหลือง
ป่าช้าหมอง ขึ้นได้ทั่วไป เป็นสมุนไพรในกลุ่ม ดีปลากั้ง ดีปลาช่อน แต่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูงกว่า ในตำรายาล้านนา ใช้สำหรับช่วยรักษาโรคเรื้อรังหายยาก ส่วนข้อมูลทางโภชนาการ ช่วยบรรเทาอาการขาดสารอาหาร มีทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ การนำมาใช้ประโยชน์ นิยมใช้ใบนำมาต้มกิน หรือกินเป็นผักสด วันละใบสองใบ เป็นยาในกลุ่มอายุวัฒนะ รสชาติขมปากหวานคอ
ในต่างประเทศ มีการนำป่าช้าหมองไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในสหรัฐอเมริกา และไนจีเรีย ใช้ควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่อย่างไรก็ดี ป่าช้าหมองห้ามใช้ในคนท้องและแม่ที่ให้นมบุตร และห้ามใช้ร่วมกับยา Digitoxin และChloroquine