เผยแพร่ |
---|
มาถูกที่ถูกเวลากับการที่ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯรับลูกจากคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติปี 2560-2564 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”
ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 ทั้ง 3 กระทรวงจึงได้ประชุมระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ขึ้น
แน่นอนเป้าหมายของการพัฒนายุทธศาสตร์นี้คือการยกระดับการแข่งขันของไทยด้านคุณภาพสินค้าและตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพทั้งในประเทศและทั่วโลกที่มีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในแต่ละปีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งทั่วโลก ได้บริโภคสินค้าคุณภาพปราศจากสารเคมีปนเปื้อนที่กระตุ้นการเกิดโรคร้ายและอื่น ๆ ตามมามากมาย
หนุนปลูกข้าวอินทรีย์ 9,000 บ./ไร่
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการระดมความเห็นประเด็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติว่า ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตยังมีน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานให้การส่งเสริมอย่างชัดเจน ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น
เป้าหมายเพื่อให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 6 แสนไร่ ภายในปี 2564 และเพิ่มจำนวนเกษตรกรให้ได้ 30,000 ราย เพิ่มสัดส่วนการตลาดในประเทศให้ได้ 40% ส่งออกให้ได้ 60% รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์พื้นบ้านเพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรกรต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ 10% ใน 5 ปีด้วยในกลไกการขับเคลื่อนจะมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น
เพื่อให้การสนับสนุนผ่านเครือข่ายระดับท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้จะมีการสนับสนุนแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือใช้เงินทุนของรัฐที่มีการจัดตั้งไว้แล้วสำหรับเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนกับเกษตรกร องค์กรการเกษตรรวมถึงผู้ประกอบการสินค้าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร ในขณะที่จะสนับสนุน Green Credit ผ่านสถาบันการเงิน โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่อนปรนกับผู้ผลิต แปรรูป จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และปัจจัยการผลิตอินทรีย์ รวมทั้งให้ทุนอุดหนุนเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรต้นน้ำที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วย
“ในปีนี้เริ่มที่ข้าวอินทรีย์ก่อน เกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องรวมกลุ่มอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป มีพื้นที่อย่างน้อย 100 ไร่ขึ้นไป ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนปีแรก ไร่ละ 2,000 บาท
ปีที่ 2 เพิ่มเป็นไร่ละ 3,000 บาท และปีที่ 3 เพิ่มเป็น 4,000 บาท ทั้งนี้เพื่อจูงใจ ไม่ทิ้งโครงการกลางคัน นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องพันธุ์ที่ต้องเป็นอินทรีย์เท่านั้น ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย” นางสาวชุติมากล่าว
นางสาวชุติมากล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ในปีแรกจะได้ผลผลิตน้อยมาก ดังนั้นเกษตรกรต้องไม่ท้อ แต่หลังจากนั้นในปีที่ 2 และ 3 ผลผลิตที่ได้จะดีขึ้น และลดต้นทุนการผลิตได้มาก ราคาที่ขายได้จะสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวทั่วไป อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จริง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กำหนดมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานต่างประเทศ
ภายใต้การดำเนินการและการตรวจสอบ 15 ขั้นตอน โดยมอบอำนาจการตรวจสอบและรับรองให้กับกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง ในส่วนของข้าวให้เป็นหน้าที่ของกรมการข้าว และเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการตรวจสอบรับรอง มกอช.จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้าเป็นหน่วยงานตรวจสอบและรับรองด้วย
ต้องมีตราออร์แกนิคไทยแลนด์
ในขณะนี้สินค้าที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์มีน้อยมาก ส่วนใหญ่สินค้าของไทยที่ส่งออกได้จะอ้างอิงมาตรฐานของต่างประเทศ เช่น สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) มาตรฐานของสหภาพยุโรป หรืออียู แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเป็นการผลิตในพื้นที่ 3 แสนไร่ มูลค่าการส่งออกปีละ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น
“ตอนนี้การรับรองมาตรฐานออร์แกนิค ไทยแลนด์ ยังไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อทำความตกลงร่วมกัน โดยจะเร่งรัดดำเนินการต่อไปในอนาคต แต่ทั้งนี้ไทยต้องมีความพร้อมก่อน โดยการผลิตของกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มเครือข่ายที่อ้างว่า มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมหรือ PGS นั้นจะต้องเข้ามาขอรับมาตรฐานออร์แกนิค ไทยแลนด์ด้วย” นางสาวชุติมากล่าว
เปิด 15 รายการตรวจรับรอง
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สินค้าที่ได้การรับรองจากมาตรฐานต่างประเทศดังกล่าวหากต้องการรับรองตราออร์แกนิค ไทยแลนด์ จะตรวจสอบเพิ่มใน 5 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1.พื้นที่ปลูกต้องมีเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2.ต้องทำแนวกันชนพื้นที่ข้างเคียงที่ใช้สารเคมี 3.ตรวจน้ำใช้ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก 4.ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จริงเท่านั้น และ 5.ไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองให้กระชับและรวดเร็วขึ้น
ส่วนขั้นตอนการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์มีทั้งหมด 15 รายการ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ผลิตต้องมีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย 2.มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียง 3.ต้องทิ้งแปลงไว้ 1-1.5 ปี ก่อนทำเกษตรอินทรีย์ 4.ต้องมีวิธีการป้องกัน การปฏิบัติในกรณีมีการปลูกพืชคู่ขนานหรือปลูกอินทรีย์ร่วมกับพืชที่ใช้สารเคมี 5.ต้องมีแนวทางปฏิบัติในการเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการทําระบบเกษตรอินทรีย์และเคมี 6.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ที่เป็นอินทรีย์เท่านั้น 7.ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เท่านั้น โดยไม่ใช้ของเสียจากมนุษย์
8.การจัดการศัตรูพืชต้องไม่ใช้สารเคมี 9.ห้ามเผาตอซัง 10.สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลจากธรรมชาติได้ 11.การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวต้องปลอดสารเคมี 12.กระบวนการการแปรรูปมีการป้องกันไม่ให้ปนเปื้อนสารเคมี 13.การบรรจุหีบห่อต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน 14.การเก็บรักษาและการขนส่งต้องมีกระบวนการที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี 15.การแสดงฉลากต้องไม่เป็นเท็จ
ทางด้านนางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดต้องการ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ยารักษาโรคภูมิแพ้ ครีมบำรุง วิตามิน และกรรมวิธีที่ธรรมชาติยอมรับ ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ คือ อินทรีย์แบบ 1.0 คือการผลิตสินค้าผ่านกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมไม่ใช้เครื่องจักร สินค้าอินทรีย์ระดับ 2.0 คือมีใบรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อมั่นได้ และระดับ 3.0 คือมีใบรับรองแล้วและต้องดูแลสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน หรือดำเนินการในสิ่งที่โลกยอมรับได้
ทั้งหมดนี้จำเป็นที่ไทยต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในเดือน ก.ค.นี้จะหารือร่วมกันในที่ประชุมจะผลักดันให้มีประเทศผู้นำกลุ่มด้วย โดยเบื้องต้นจะมีการแลกเปลี่ยนเกษตรกรเพื่อให้เรียนรู้วิธีการและพัฒนาการผลิตสินค้าที่ทัดเทียมกันในกลุ่ม เนื่องจากในอนาคตจะมีมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนเกิดขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์