‘ไชยยา วิมูลชาติ’ เกษตรกรดีเด่นระดับภาค สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี พ.ศ. 2564 ชู “บัญชี” ทางรอดวิกฤตโควิด-19 รู้รับ ลดจ่าย หมั่นออม ยึดหลักความพอเพียง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก รวมถึงครัวเรือนภาคเกษตรไทย บางคนได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน รายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามไปด้วย การปรับตัวโดยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนช่องทางการหารายได้

ที่สำคัญคือ การใช้ “บัญชี เป็นภูมิคุ้มกัน ช่วยวางแผนการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ติดขัดภายใต้วิกฤตในครั้งนี้ ดังเช่นเกษตรกรตัวอย่างคือ นายไชยยา วิมูลชาติ เกษตรกรดีเด่นระดับภาค สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นเกษตรกรที่ปรับตัวให้อยู่รอดและสร้างความมั่นคงในอาชีพ โดยนำบัญชีมาใช้เป็นภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต

นายไชยยา วิมูลชาติ เกษตรกรดีเด่นระดับภาค สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี พ.ศ. 2564 จากตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตนเองประกอบอาชีพทำนาและเป็นประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม รายได้ที่ได้มาก็นำไปใช้จ่าย กิน เที่ยว จนก่อให้เกิดหนี้สินและไม่มีเงินออม

จนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครปฐม เข้ามาส่งเสริมการทำบัญชีให้กับกลุ่มนาแปลงใหญ่ฯ จึงสมัครเป็นครูบัญชีอาสา ตั้งแต่ปี 2559 ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องจัดทำบัญชี การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย การวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชี รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงหลักการทำบัญชี 3 มิติ ได้แก่ รู้ตนเอง รู้สภาพแวดล้อม รู้อนาคต

สอดคล้องกับกรอบแนวความคิด 3 พอ : น้ำพอดี ดินพอเหมาะ คนพอเพียง มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ยึดตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพึ่งตนเอง รู้จักความพอประมาณ และไม่ประมาท สามารถคิด วางแผน แล้วนำไปพัฒนาอาชีพของตนเองได้ โดยมีบัญชีเป็นภูมิคุ้มกันและคู่มือชีวิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกร และสามารถนำองค์ความรู้ด้านบัญชีมาใช้วางแผนการประกอบอาชีพ วางแผนกิจกรรมทางการเกษตร รู้รายรับ รายจ่าย รู้เวลาที่เหมาะสม รู้จักความพอมี พอกิน พอใช้ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งแก่ตนเองและครอบครัว ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายไชยยาเริ่มหันมาจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ โดยจดบันทึกรายรับ รายจ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนาอย่างต่อเนื่อง และมีการนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้วิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูกในพื้นที่ 54 ไร่ ของตนเอง ดูว่าแต่ละรอบการผลิตมีรายได้เท่าไร มีต้นทุนตัวไหนที่เกินความจำเป็นก็จะนำมาวางแผนการผลิตในฤดูกาลถัดไป เช่น ค่าปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่ถือเป็นต้นทุนหลักของการทำนา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็หันมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภาพที่ทำเองได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ นายไชยยายังคิดปรับเปลี่ยนจากการขายข้าวเปลือกให้โรงสี ที่ราคารับซื้อไม่แน่นอน มาแปรรูปข้าวเอง โดยเน้นผลิตข้าวคุณภาพปลอดภัย พันธุ์ กข 43 และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นข้าวเพื่อสุขภาพและตลาดมีความต้องการสูง ขณะเดียวกัน ก็ทำบัญชีครัวเรือนทำให้รู้รายรับ รายจ่ายทุกวัน ส่วนใดที่เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นก็ตัดออกไป จึงมีเงินเหลือเก็บออมไว้ใช้

นายไชยยา กล่าวอีกว่า เขาใช้หลักการทางบัญชีมาเป็นกลไกในการวางแผนประกอบอาชีพและดำรงชีวิต จึงผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ในแต่ละรอบมาได้ เพราะมีข้าวที่ปลูกเอง สีเอง ไว้บริโภคในครัวเรือน มีเหลือพอที่จะแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และขายผลผลิตได้ทั้งหมด สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้ทุกวัน จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญคือ ยึดหลักของเศรษฐกิจพอเพียงใช้ชีวิตอย่างพออยู่ พอกิน พอใช้

ปัจจุบันนายไชยยาทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสา ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชน นักเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรทั่วไป เพื่อให้คนในชุมชนเห็นประโยชน์จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีต้นทุนอาชีพ พร้อมทั้งมีการนำข้อมูลที่ได้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผน สามารถคิดกำไรขาดทุนจากการประกอบอาชีพ รู้จักการวางแผนการเพาะปลูก ใช้การตลาดนำการผลิตและสร้างวินัยในครัวเรือนให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายในการสอนบัญชีให้แก่สมาชิกนาแปลงใหญ่ไผ่หูช้าง ได้เข้าใจถึงแนวทางการประกอบอาชีพให้ประสบผลสำเร็จ

ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่กว่า 70% ที่ให้ความสำคัญกับการจดบันทึกทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็มีคนในชุมชนนำบัญชีมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นรูปธรรมมีรายได้ มีเงินออม และหนี้สินลดลง ทั้งนี้ ยังได้เตรียมขยายผลการจัดทำบัญชีไปสู่กลุ่มเยาวชน โดยได้ประสานกับโรงเรียนในพื้นที่ จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้รักการทำบัญชีและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ต่อไป จึงนับเป็นผลความสำเร็จของการนำบัญชีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต

“บัญชี” จึงเปรียบเสมือนกระจกเงาที่จะสะท้อนรายรับ รายจ่าย และต้นทุน ตลอดจนค่าใช้จ่าย ในชีวิตประจำวันได้ดีที่สุด สามารถนำข้อมูลมาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ให้สามารถผ่านพ้นจากวิกฤตต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและเกิดความยั่งยืนในชีวิตได้