ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณยุทธภูมิ สุวรรอาชา หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมงจังหวัดสระแก้ว ให้ข้อมูลว่า การทำประมงของเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้แหล่งน้ำที่เป็นบ่อสำหรับการทำเกษตรที่กักเก็บไว้เองเท่านั้น ต่อมาทางสำนักงานประมงจึงได้จัดทำกลุ่มผู้เลี้ยงปลาตะเพียนแปลงใหญ่ ส่งผลให้เป็นที่สนใจของเกษตรกรมากขึ้นที่จะแบ่งแปลงพื้นที่การทำเกษตรอย่างพืชมาทำประมงเพื่อสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง พร้อมทั้งมีการจัดการเรียนรู้แบบครบวงจรในเรื่องของการทำอาหาร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน
“ตอนนี้การเลี้ยงปลาก็เริ่มเป็นที่สนใจของเกษตรกรมากขึ้น เราก็มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาที่กินพืชเป็นส่วนมาก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาได้หลายชนิดในการเกิดรายได้ ซึ่งทางสำนักงานฯ เองก็มีการส่งเสริม พร้อมทั้งอยากให้เกษตรกรที่เป็นรายใหม่ อยากให้มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ หน่วยงานก็จะสามารถที่ช่วยเหมือนเกษตรกรได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมีคำแนะนำที่ดีต่อเนื่องให้กับเกษตรกรอยู่เสมอ” คุณยุทธภูมิ กล่าว
คุณกาญจนาวดี ดวงภักดีรัมย์ อยู่บ้านเลขที่ 208 หมู่ที่ 9 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นเกษตรกรที่ให้ความสนใจในเรื่องของการทำประมงมาเป็นอาชีพเสริมในช่วงระยะแรก ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงให้มีระบบและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง การทำประมงจึงเกิดเป็นอาชีพหลักที่เธอทำแล้วรู้สึกว่ามีความมั่นคง และพัฒนาการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนสามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาจำหน่ายได้อีกด้วย
คุณกาญจนาวดี เล่าว่า สมัยก่อนทำงานประจำและมีไร่มีสวนที่เป็นอาชีพเสริม โดยยังไม่ได้สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลามากนัก ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมง และได้เข้าร่วมการทำประมงแปลงใหญ่จำพวกปลากินพืช จึงได้นำปลานิลและปลาตะเพียนเข้ามาเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้การเลี้ยงสามารถทำเป็นอาชีพที่มั่นคงและขยายการเลี้ยงมากขึ้นตอนนี้มีบ่อเลี้ยงอยู่ประมาณ 6 บ่อ และบ่อสำหรับอนุบาลอีก 2 บ่อ
ในขั้นตอนก่อนที่จะนำปลาเข้ามาเลี้ยง คุณกาญจนาวดี บอกว่า หลังจับปลาจำหน่ายหมดแล้วจะต้องวิดน้ำออกให้หมดบ่อ ฆ่าเชื้อบ่อโรยด้วยปูนขาว จากนั้นใส่น้ำเข้ามาภายในบ่อพร้อมกับสร้างอาหารธรรมชาติให้เกิดขึ้นภายในช่วงแรก ก่อนที่จะนำปลานิลและปลาตะเพียนเข้ามาเลี้ยง จะนำลูกปลาเข้ามาอนุบาลในตาข่ายเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ในช่วงแรกของการอนุบาลจะให้ลูกปลากินอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ปลาครบอายุการอนุบาล จึงคัดปลาแยกไปเลี้ยงบ่อขนาด 3×8 เมตร ปล่อยทั้งปลานิลและปลาตะเพียนผสมกันอยู่ที่อัตราส่วน 1,000 ตัว ต่อบ่อ
ปลาที่นำมาเลี้ยงภายในบ่อสำหรับสร้างเป็นปลาเนื้อที่พร้อมจำหน่ายนั้น คุณกาญจนาวดี บอกว่า จะใช้เวลาเลี้ยงอย่างต่ำอยู่ที่ 5-6 เดือน ในระยะนี้จะมีการเลี้ยงแบบใช้อาหารลดต้นทุนเข้ามาช่วย อย่างเช่นอาหารที่เป็นจำพวกแหนแดง และอาหารปั้นก้อนที่ทางสำนักงานประมงเข้ามาสอน จึงทำให้ลดจำนวนการเลี้ยงอาหารเม็ดได้ในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการเลี้ยงที่มีต้นทุนต่ำและมีผลกำไรมากขึ้น
“ในเรื่องของโรคที่จะเกิดกับปลายังไม่พบปัญหามากนัก เพราะว่าปลาค่อนข้างที่จะมีความแข็งแรง ถ้าเรามีการจัดการที่ดี ต่อมาพอเรามาใช้อาหารลดต้นทุนในการเลี้ยง เราก็จะใช้จำนวนอาหารสำเร็จรูปได้น้อยลง ต่อมาพอปลาเราโตเต็มที่ จากลูกปลาที่ต้องซื้อเข้ามาเลี้ยง เราก็เปลี่ยนมาเป็นปลาที่เราคัดมาสร้างเป็นพ่อแม่พันธุ์ จนสามารถผลิตลูกปลาเองได้ พร้อมทั้งมีการจำหน่ายให้กับเพื่อนเกษตรกรท่านอื่นๆ อีกด้วย” คุณกาญจนาวดี บอก
สำหรับในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลานิลและปลาตะเพียนที่เลี้ยงนั้น คุณกาญจนาวดี บอกว่า มีการทำตลาดรองรับหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายลูกพันธุ์ การเลี้ยงปลาให้ได้ไซซ์ขนาดใหญ่ที่ตลาดต้องการ และการแปรรูปสร้างเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างดี โดยการแปรรูปเธอจะเป็นผู้ผลิตเองและนำไปจำหน่ายยังตลาดในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดรายได้รายวันและรายสัปดาห์เข้ามาใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
โดยราคาลูกพันธุ์ปลานิลและปลาตะเพียนขนาดไซซ์ 1-2 นิ้ว ราคาอยู่ที่ตัวละ 1 บาท และปลาเนื้อราคาขายอยู่ที่กลไกตลาด ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท ส่วนการแปรรูปนั้นทำตามที่คนในชุมชนสนใจ จึงยิ่งตอบโจทย์มากขึ้นว่าสินค้าที่ทำมีตลอดลองรับได้อย่างแน่นอน
“พอมาทำอาชีพทางด้านนี้ ทำให้เรามั่นใจเลยว่าทุกอย่างอยู่ที่ว่าเราต้องเริ่มที่จะลงมือทำ เพราะว่าถ้าเราไม่เริ่มมันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เราต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย ก็จะช่วยให้เราประสบผลสำเร็จเรื่อยๆ และเกิดการเรียนรู้ที่ลองผิดลองถูกได้ด้วยตัวเอง จากนั้นประสบการณ์ก็จะเริ่มสอนเราในทุกๆ อย่าง และเราก็จะมีประสบการณ์มากขึ้น สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไปในอนาคตได้” คุณ กาญจนาวดี บอก
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกาญจนาวดี ดวงภักดีรัมย์ หมายเลขโทรศัพท์ 088-286-6978
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564