วช. โชว์นวัตกรรมผลิตเมล็ดพันธุ์ เพิ่มโอกาส สร้างรายได้เกษตรกร

ในปี 2563 ประเทศไทยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีหลากหลายชนิด มูลค่ารวม 1.1 หมื่นล้านบาท เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ใช้เพาะปลูกภายในประเทศ 4.3 พันล้านบาท และส่งออก 129 ประเทศ มูลค่า 7.4 พันล้านบาท ตลาดหลักสำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก คาดว่าในปี 2565 ไทยจะมีมูลค่าส่งออกเมล็ดพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกและจำนวนประเทศคู่ค้าที่สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านงานวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ มีศักยภาพการบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรม การปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง และการเพิ่มมูลค่าเมล็ดพันธุ์

เนื่องจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ของไทยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในลักษณะรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ส่วนนี้คือ การขายแรงงานและที่ดินของประเทศในราคาถูก บริษัทต่างชาติที่มาจ้างผลิตมีอำนาจต่อรองราคา มีโอกาสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านในราคาค่าแรงที่ถูกกว่า

ดังนั้น รัฐบาลไทยมุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ ตามแผนพัฒนาโมเดล BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยนำแนวคิดหลักการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิตคือ เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้า-บริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างรายได้แก่เกษตรกร และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน เพื่อให้อาชีพเกษตรกรมีความยั่งยืน และเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันการศึกษา 10 แห่ง สมาคมและผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ 60 บริษัท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล (Seed Hub) ที่มีความพร้อมด้านงานวิจัย การผลิต การจำหน่าย การนำเข้า-ส่งออก เมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายมีคุณภาพดีในปริมาณเพียงพอต่อความต้องการเมล็ดพันธุ์ทั้งในประเทศและส่งออก

“นวัตกรรม” วท.ลำปาง
ยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์

“ชุดเครื่องมือเขย่าเกสรและพ่นผสมเกสรพันธุ์พืช เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรไทย เป็นผลงานของทีมนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคลำปาง (วท.ลำปาง) ประกอบด้วย คุณธันวา วิวุฒิ คุณอนุสรณ์ มะลิวอนาย คุณณัฐพร พงษ์รักษ์ดี และอาจารย์ที่ปรึกษาคือ อาจารย์สมศักดิ์ แข็งแรง

ผลงานชิ้นนี้ ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ มีต้นทุนการพัฒนาโดยเฉลี่ยประมาณ 9,500 บาท จำหน่ายในราคาชิ้นละ 11,000 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ อาจารย์สมศักดิ์ เบอร์โทร. 089-269-2088 อีเมล [email protected]

เครื่องพ่นผสมเกสรพันธุ์พืช เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์

จุดเริ่มต้นของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากเกษตรกรในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านสบฟ้า บ้านวังสัก บ้านม่วง ตำบลแจ้ห่ม อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ประมาณ 150 ครัวเรือน ดำเนินอาชีพปลูกพืชผักและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงกวา เมล็ดผักขม เมล็ดผักสลัด ให้กับบริษัทเอกชน เช่น เจียไต๋ บริษัท โพเทคเมล็ดพันธุ์ บริษัท อีทส์ เวทส์ ซีด จำกัด (ตราศรแดง) ฯลฯ

เกษตรกรสามารถขายเมล็ดพันธุ์ในราคาสูง เช่น เมล็ดฟักทองขายในกิโลกรัมละ 1,200-1,300 บาท เมล็ดแตงกวา ขายกิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท โดยใช้เวลาเพาะปลูก 3-4 เดือน ปลูกสลับผักชนิดต่างๆ ได้ เกษตรกรปลูกเมล็ดพันธุ์ได้ 4-6 ครั้งต่อปี มีรายได้ต่อครอบครัว เฉลี่ย 40,000-50,000 บาทต่อราย ทุกๆ 4 เดือน หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 230,000-250,000 บาท

อาจารย์สมศักดิ์ แข็งแรง อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคลำปาง

ผู้วิจัยของวิทยาลัยเทคนิคลำปางศึกษาข้อมูลพบว่า เกษตรกรมีการเพาะปลูกพันธุ์พืชหลายชนิดโดยปกติเกษตรกรจะเก็บดอกสดของเกสรตัวผู้มาสัมผัสกับดอกเกสรตัวเมีย โดยผสมเกสรเองด้วยมือหรือใช้แปรงพู่กันจิ้มเกสรตัวผู้สัมผัสกับเกสรดอกตัวเมีย เนื่องจากเกษตรกรบางรายผสมเกสรไม่ดีผลไม่ค่อยติด

บางครั้งเจอปัญหาดอกเกสรเล็ก เช่น ดอกพริก ดอกมะเขือเทศ ดอกดาวเรือง ฯลฯ ทำให้การผสมเกสรด้วยมือ ทำด้วยความยากลำบาก ผลผลิตติดยากไม่สมบูรณ์ บางครั้งทำให้ดอกเกสรหัก เกิดความเสียหายต่อดอกได้ แถมเกิดความล่าช้าในการผสมเกสร เกษตรกรจึงจ้างแรงงานทำหน้าที่ผสมเกสรดอก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

เครื่องพ่นผสมเกสรพันธุ์พืชแบบพกพา

จากปัญหาดังกล่าว ทีมผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการสร้างชุดเครื่องมือเขย่าเกสรและผสมเกสรพันธุ์พืชเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยชุดเครื่องมือดังกล่าวช่วยเกษตรกรในการเขย่าเพื่อเอาเกสรจากดอกพืชตัวผู้ ก่อนนำไปผสมเกสรด้วยวิธีการพ่นละอองเกสรใส่ดอกพืชตัวเมียให้เกิดการผสมเกสร เพื่อให้เกิดผลผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ทนทาน สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ช่วยลดค่าจ้างแรงงานในการผสมเกสร ช่วยเกษตรกรทำงานได้รวดเร็วขึ้น สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

วิธีการใช้งานสิ่งประดิษฐ์

เครื่องเขย่าเกสร สามารถเขย่าเกสรตัวผู้ โดยใช้เวลา 5-10 นาที ช่อดอก 1 กิโลกรัม ได้ละอองเกสรประมาณ 100-200 กรัม สามารถพ่นได้ 400-500 ต้น เครื่องพ่นผสมเกสร ช่วยลดระยะเวลาในการผสมเกสรได้มาก จากแรงงานคนผสม 1 ช่อดอก ใช้เวลา 25-30 วินาที ถ้าใช้เครื่องพ่นผสมเกสรนี้ ใช้เวลา 2-3 วินาทีต่อดอก
โดยทั่วไป การผสมเกสร 1 ลำต้นมี 10 ช่อดอก แรงงานคนจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที แต่เครื่องพ่นผสมเกสรใช้เวลาแค่ 30 วินาที ช่วยประหยัดเวลามากกว่า อีกทั้งการผสมเกสรจะกระทำในช่วงเช้า ดังนั้น เครื่องพ่นผสมเกสรนี้ช่วยลดเวลาในการผสมเกสรให้เสร็จทันในช่วงเวลาเช้าได้ ลดต้นทุนในการจ้างแรงงานคนในการผสมเกสร หากปลูกในปริมาณมาก เช่น 1,000 ต้นขึ้นไป

ชุดเครื่องมือเขย่าเกสร เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์

ชุดเครื่องมือเขย่าเกสรและพ่นผสมเกสรพันธุ์พืช ประกอบด้วย เครื่องเขย่าเกสร น้ำหนัก 15 กิโลกรัม มีขนาดความกว้าง 35 เซนติเมตรxยาว 50 เซนติเมตรxสูง 50 เซนติเมตร ส่วนเครื่องพ่นผสมเกสร น้ำหนัก 0.6 กิโลกรัม ขนาดความกว้าง 5 เซนติเมตรxยาว 5 เซนติเมตรxสูง 10 เซนติเมตร

เครื่องเขย่าเกสร ทำหน้าที่เขย่าให้เกสรตัวผู้ของดอกพืชหลุดออกจากช่อดอก ผ่านผ้ากรอง ตกลงกล่องภาชนะที่รองไว้ ขั้นตอนการใช้งาน มีดังนี้

1. เกษตรกรเด็ดช่อเกสรตัวผู้ออกจากช่อดอก แล้วเทใส่กล่องพลาสติกซึ่งมีผ้ารองไว้

2. เทช่อเกสรใส่กล่องพลาสติกชั้นบนซึ่งกั้นด้วยผ้ากรอง และซ้อนด้วยกล่องพลาสติกด้านล่างอีกชั้น

3. นำกล่องใส่เกสรตัวผู้ ไปใส่ตะแกรงเขย่าแล้วปิดฝาตะแกรงแล้วล็อกฝาปิดไว้ โดยที่เครื่องสามารถใส่กล่องเกสรตัวผู้ได้ครั้งละ 4 กล่อง

4. กดเปิดสวิตช์ควบคุมการทำงาน มอเตอร์หมุน ทำให้เครื่องเขย่าเกสรเคลื่อนที่ขึ้นลง ตามความถี่ที่ปรับ หากต้องการเขย่าเกสรในอัตราความถี่มากหรือน้อยก็สามารถปรับสวิตช์ปรับความเร็วรอบได้

5. เมื่อเขย่าเกสรตัวผู้เรียบร้อยแล้ว ทำการกดปิดสวิตช์ควบคุมการทำงาน มอเตอร์จะหยุดหมุน ทำการปลดล็อกตะแกรงเขย่า เอากล่องใส่เกสรตัวผู้ออกมาลักษณะละอองเกสรตัวผู้ที่ได้จากการเขย่าเกสรและการเก็บรักษาพันธุ์ในหลอด

ใช้เครื่องพ่นผสมเกสรพันธุ์พืชแบบพกพากับต้นพริก

ส่วนเครื่องพ่นผสมเกสรแบบพกพา ทำหน้าที่ฉีดพ่นผสมเกสรด้วยแรงลม ทำงานโดยใช้ไฟฟ้า สามารถพกพาสะดวก ใช้งานได้ง่าย รวดเร็ว เหมาะสำหรับกับการผสมช่อดอกพืชทุกขนาด ทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ ขั้นตอนการใช้งาน มีดังนี้

1. นำเกสรตัวผู้ใส่ในชุดกระเปาะใส่เกสร แล้วปิดฝาไว้

2. เปิดวาล์วควบคุมปริมาณเกสรเล็กน้อย

3. นำหัวพ่นละอองเกสรที่เป็นกระเปาะไปครอบช่อดอกที่ต้องการผสมเกสรไว้ ใช้มือจับด้านจับไว้ ใช้ปลายนิ้วชี้กดสวิตช์ เกสรตัวผู้ลงมาผสมกับลมไหลพุ่งออกทางหัวพ่นไปผสมเกสรตัวเมียในช่อดอกซึ่งถูกครอบด้วยกระเปาะไว้ ทำให้เกิดการผสมเกสรพันธุ์พืชได้

ใช้เครื่องพ่นผสมเกสรพันธุ์พืชแบบพกพากับต้นแตงกวา

เครื่องขัดเมล็ดอเนกประสงค์

นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยเทคนิคลำปาง ยังมีสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์คือ เครื่องขัดล้างเมล็ดพันธุ์ Version 2 ได้รางวัลเชิดชูเกียรติจากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2561 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมูลนิธิบัวหลวง

เครื่องขัดล้างเมล็ดพันธุ์ ใช้แทนการขัดล้างด้วยแรงงานคน ที่ต้องใช้เวลานานในการทำการหมักเมล็ดพันธุ์ให้เปื่อย ได้ผลผลิตจำนวนมากและใช้น้ำน้อยในการทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์แต่ละครั้ง ก่อนการตากแห้งเพื่อนำไปจำหน่ายแก่บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ต่อไป

เครื่องขัดล้างเมล็ดพันธุ์มีระบบน้ำหล่อ ช่วยให้ป้อนเมล็ดได้ต่อเนื่อง และมีใบหมุนกวาดเนื้อวัสดุป้อนเข้าไปยังท่อขัดแยก ใช้แปรงขัดพลาสติกพันเป็นเกลียวรอบแกนเพลาหมุนอยู่ในกระบอกสแตนเลส เจาะรูด้านล่างให้เมือกและกากใยหลุดลอดไปตามแรงหมุน
เมล็ดพืชจะถูกขับให้เคลื่อนไปด้วยตามเกลียว จนถึงทางออกด้านหน้า ที่มีถุงตาข่ายขึงอยู่ในถังน้ำเพื่อทำการล้างเมล็ดพันธุ์ด้วยระบบน้ำไหลวนสองถังโดยใช้ปั๊มจุ่ม (ไดโว่) ต้นกำลังมอเตอร์ขนาด 1/4 แรงม้า ทดรอบให้เหลือประมาณ 600-700 รอบต่อนาที ราคาจำหน่ายประมาณ 25,000 บาท สนใจติดต่อ อาจารย์สมศักดิ์ แข็งแรง วิทยาลัยเทคนิคลำปาง โทร. 089-269-2088

เครื่องขัดเมล็ดอเนกประสงค์