เกษตรผสมผสาน สวนแคน-แอน

“ผมเกิดมาในครอบครัวคนจนครับ พ่อแม่ทำงานรับจ้าง ไม่มีที่ดินของตัวเอง รับจ้างทำงานด้านเกษตรมาตลอด จนมองว่าอาชีพเกษตรยังไงก็จน ไม่มีทางจะสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีได้”

แคน – ธิบดินทร์ ปัญญาวัง หนุ่มแกร่ง วัย 41 ปี แห่งสุโขทัย เอ่ยอย่างทดท้อใจ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน ส่งต่อความคิดถึงกันเหมือนเดิมเดือนละครั้งนะครับ คอลัมน์ ตั้งวงเล่า เกิดจากการพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง ชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ กระทั่งถึงผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร ทุกครั้งที่ได้สนทนาและนำมาถ่ายทอด ทุกอย่างก็เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น แต่ในครั้งนี้มีความต่าง แค่จั่วหัวก็มองไม่ออกแล้วว่า เรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร ผมขอถ่ายทอดบางประโยคจากเจ้าของสวนนี้ก่อนนะครับ

รอยยิ้มที่มีความสุขเหลือเกิน

“ผมจึงเข้าเรียนช่างไฟฟ้า ด้วยหวังว่าจะมีอาชีพที่สามารถลืมตาอ้าปากได้มากกว่าการเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเช่นนี้”

“แล้วยังไงครับ”

“โชคดีครับพี่ พอเรียนจบก็ได้ไปทำงานที่โรงงานในประเทศญี่ปุ่น”

มะกรูดยังดกขนาดนี้เลย

“ว้าววว แบบนี้ก็ไปโลดเลยสิ”

“มันควรเป็นเช่นนั้นครับ แต่ทีนี้พอถึงช่วงวันหยุดผมก็อยากหารายได้พิเศษนะครับ จึงไปรับจ๊อบสมัครทำสวนเกษตรทั้งทำนา ปลูกผัก”

“สรุปว่าหนีไม่รอด ชีวิตวนเวียนกลับมาหางานเกษตรอีก”

“ผิดกันเลยพี่ ทุกอย่างผิดกับเรื่องราวในชีวิตที่ผมเจอมาตั้งแต่แรกเลย เกษตรกรที่ญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเรามาก มีฐานะร่ำรวย ทำงานแบบไม่ต้องใช้แรงงานมาก ที่สำคัญเป็นอาชีพที่มีเกียรติในบ้านเมืองเขามากๆ”

ชมพู่ดกจนห่อไม่ทัน

กลับจากญี่ปุ่น แคนก็ยังวนเวียนทำงานเป็นหนุ่มโรงงานอยู่เช่นเดิม ตำแหน่งนายช่างที่โรงงานในจังหวัดชลบุรี ทำให้ยังมีเวลาอีกช่วงหนึ่งที่ยังว่าง ก็เลยเปิดร้านเหล็กดัด หวังเพื่อสร้างฐานะให้มั่นคง มีรายได้เข้ามาหลายช่องทาง แต่ทำไปๆ กลับไม่มีเวลาให้มากพอ รายได้ที่คาดหวังก็ไม่เป็นไปตามเป้า จะเรียกว่าเจ๊งก็คงไม่ผิดนัก

ประกอบกับครอบครัวที่ต้องแยกกันอยู่กับลูก ตัวเองอยู่ชลบุรี ลูกอยู่กับตา-ยายที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งพ่อตาทำสวนยางพาราอยู่ที่นั่น จากรายได้น้ำยางที่ดี พอถึงวันหนึ่งราคาก็ตกลงจนน่าใจหาย ทำให้ทางครอบครัวต้องมาคุยกันว่า จะทำอย่างไร จะหารายได้จากส่วนใดมาเสริมได้บ้าง

เริ่มต้นจากสวนน้าอ้วน

จุดแรกที่แคนมองเห็นก็คือ ตลาดบึงกาฬ หาซื้อชมพู่กินยาก ที่มีก็คุณภาพไม่ดีนัก ทำให้มาคิดว่าอยากลดพื้นที่การปลูกยางพาราลง และจะต้องหาพืชเสริมที่มาสร้างรายได้ทดแทนให้ได้ จึงศึกษาเรื่องชมพู่อย่างจริงจัง ในช่วงนั้นชมพู่สตรอเบอรี่กำลังฮิตกันมาก จึงได้เสาะหากิ่งพันธุ์เพื่อนำมาปลูก เริ่มตั้งแต่สวนลุงลี จนมาถึงสวนน้าอ้วน บ้านเกษตรพอเพียงที่หนองเสือ

ที่นี่เองที่แคนได้เปิดความรู้ใหม่ หลายๆ เรื่องที่ได้คุยกับน้าอ้วนเหมือนกับตอนที่ไปเห็นเกษตรกรในญี่ปุ่น การทำเกษตรแบบเน้นคุณภาพ เปิดช่องทางการตลาดใหม่ๆ สร้างทักษะเฉพาะ และเน้นความแตกต่างจากการทำสวนเกษตรแบบเดิมๆ ทำจนมั่นใจว่าสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ยังไม่มีผลผลิต ทำกิ่งพันธุ์ขยายทั้งปลูกเองและจำหน่ายในตลาดออนไลน์

แอนกับส้มโอในสวน

แรกเริ่มที่สวนก็ปลูกชมพู่และส้มโอ โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงและปลูกไม้ผลทดแทน ปัจจุบัน ที่สวนก็เป็นอีกหนึ่งสวนที่เน้นผลไม้จากไต้หวันเป็นหลัก ทั้งชมพู่ไถหนาน 3 น้อยหน่าสับปะรด ฝรั่งหงเป่าสือ ส้มโอเหวินตัน พุทราน้ำอ้อยเบอร์ 11 และยังมีส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอแดงโรตี ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ชมพู่น้ำดอกไม้ ส้มเช้ง ในพื้นที่ 3 ไร่ ตอนนี้ลงเต็มพื้นที่หมดแล้ว รายได้ของสวนก็มาจากการขายกิ่งพันธุ์ การขายผลผลิต ส่วนมากก็เน้นขายออนไลน์ แต่ก็มีไม่น้อยที่มีคนเข้าไปซื้อผลผลิตถึงสวน เพราะอยากเข้าไปเรียนรู้ด้วย

ผลสวยๆ พร้อมจำหน่าย

“แคนยังเชื่อเหมือนตอนแรกไหมว่า เกษตรกรต้องจน”

“ไม่แล้วครับพี่ จริงแล้วผมเองเปิดใจตั้งแต่ตอนไปรับจ๊อบทำเกษตรที่ญี่ปุ่นแล้ว มองแบบอิจฉาทุกครั้ง เกษตรกรในญี่ปุ่นเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก ฐานะร่ำรวย การทำงานก็ไม่ได้เน้นแรงงานมากเหมือนบ้านเรา ระบบน้ำ ระบบอะไรที่เกี่ยวข้องเขาวางไว้อย่างดี ผมยังฝันไว้ว่าสักวันผมจะมาเป็นเกษตรกรที่เมืองไทย และโชคดีที่ทางพ่อตา-แม่ยายมีที่ดินและเปิดใจรับในการทำสวนในแนวที่ผมอยากทำ”

เด็กๆ ก็มีความสุข

“3 ไร่พอแล้วเหรอ”

“โห! พี่ พื้นที่ 3 ไร่ในการทำสวนไม่น้อยแล้วนะครับ ทำเท่าที่เราทำไหว จะได้ดูแลให้มีคุณภาพที่ดีได้ ทำเยอะก็เหนื่อย เพราะผมเองก็ยังทำงานโรงงานอยู่ เรียกว่าทำเกษตรแบบสวนผสมผสาน ใช้เทคนิคทางญี่ปุ่นมาผนวกรวมกับชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ผมเองก็ทั้งทำสวนและเป็นช่างอาวุโสในโรงงานไปด้วย”

กิ่งพันธุ์พร้อมจำหน่าย

“ในช่วงโควิดได้รับผลกระทบมากไหมครับ”

“หากยังทำงานที่เดียวป่านนี้อาจไม่ไหวแล้วพี่ แต่ผมเองถือว่าโชคดีที่เริ่มต้นมาทำสวนเกษตรควบคู่ไปด้วย ยังพอมีรายได้จากทางสวนมาจุนเจือครอบครัวได้อย่างต่อเนื่องครับ”

อุปกรณ์ตอนกิ่งขยายพันธุ์

“มาถูกทางแล้ว ว่างั้นเถอะ”

“ใช่ครับพี่ เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความสุข เราได้ทำงานร่วมกับคนในครอบครัว ได้กิน ได้พบเจอกันตลอด อยากกินอะไรเราก็ปลูก ทั้งไม้ผล ทั้งผักสวนครัวเรามีครบ มีมากก็แบ่งทั้งแจก แลก ขายต่อไป ทุกวันนี้ผมมีความสุขแล้วพี่ มองหน้าคนในครอบครัวก็เห็นรอยยิ้ม ชีวิตก็คงเท่านี้แหละ ความสุขที่เป็นรูปธรรมเราสามารถสร้างเองได้ด้วยมือของเรา”

ตัดหญ้าพรวนดินก็มีความสุข

“หากมีคนสนใจจะมาขอเรียนรู้หรือสั่งซื้อผลผลิตจะได้ไหมครับ”

“ยินดีครับพี่ โทร.มานัดกันล่วงหน้าได้เลยครับ 092-628-8299 สวนผมตั้งอยู่ที่บ้านห้วยน้ำคำ อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬครับ”

ได้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว

เป็นอีกหนึ่งสวน อีกหนึ่งตัวอย่างของเกษตรกรวันหยุดที่กล้าลงมือ เปิดตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ โดยมีฐานความรู้ใหม่มาผสมกับสิ่งเดิมๆ ที่มี แม้ช่วงที่โลกยังสงบนิ่งด้วยโควิด-19 แต่สวนนี้ก็ยังมีกิจกรรมและรายได้อย่างต่อเนื่อง ผมนั้นเชื่ออยู่เสมอ ไม่มีอาชีพใดที่เหมาะไปกว่าอาชีพเกษตรไปได้ เพราะอาหารคือส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตนั่นเอง

แคนกับผลผลิตที่ชื่นใจ

………………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2564