เตือนเกษตรกรระวังขี้ขาวในกุ้ง แนะเลี้ยงปลานิลในบ่อ ลงทุนน้อย ลดการเกิดโรค

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ติดตามการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม เผย เกษตรกรมีการบริหารจัดการการเลี้ยงที่ดีขึ้น ส่งผลให้โรคตายด่วนลดลง เตือนอาจพบอาการ  ขี้ขาว แนะ เลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้ง ช่วยลดการเกิดโรคได้ อีกทั้งเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมาก

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า สศก. ได้ติดตามสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 24 – 28 เมษายน 2560 พบว่า การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรมีการบริหารจัดการการเลี้ยงได้ดีขึ้น ทำให้ความเสียหายจากโรคตายด่วนลดลง

จากการติดตาม กุ้งที่เลี้ยงในช่วงนี้ อาจมีอาการขี้ขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไมโครสปอร์ริเดีย  (Enterocytozoon hepatopenaei) ที่พบอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ตะกอนดินที่หมักหมมก้นบ่อ ซึ่งแม้ลูกพันธุ์กุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงจะมีคุณภาพดีแต่หากปล่อยในบ่อเลี้ยงที่ไม่สะอาดและมีการจัดการการเลี้ยงที่ไม่ดี กุ้งที่เลี้ยงอาจมีอาการขี้ขาวได้ ส่งผลให้กุ้งทยอยตายเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 50 วันขึ้นไป  ซึ่งส่วนใหญ่กุ้งที่จับในช่วงอายุนี้ จะมีขนาดประมาณ 100 ตัวต่อกิโลกรัม

หากเกษตรกรพบอาการดังกล่าว (มีขี้ขาวลอยขึ้นมา) สามารถจับกุ้งขายก่อนกำหนดได้ในราคากิโลกรัมละ 141.87 บาท แต่หากกุ้งไม่มีอาการ เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้ครบ 90 วัน ซึ่งจะได้กุ้งที่โตขึ้นขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม และขายได้ (เฉลี่ย ณ มกราคม – เมษายน 2560) ในราคากิโลกรัมละ 204.13 บาท

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้บางราย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง โดยการปล่อยลูกพันธ์ปลานิลลงในบ่อเลี้ยงกุ้ง และปล่อยกุ้งหนาแน่นน้อยลงเฉลี่ย 100,000 ตัวต่อไร่ หลังจากปล่อยลูกกุ้งไปได้ 15 – 20 วัน จึงปล่อยลูกพันธุ์ปลานิลในอัตรา 250 – 300 ตัวต่อไร่  ซึ่งปลานิลจะเป็นตัวช่วยในการทำความสะอาดบ่อเลี้ยง มีการกินเศษอาหารที่เหลือค้างก้นบ่อ ช่วยลดการหมักหมมของตะกอนก้นบ่อที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ ส่งผลให้กุ้งมีอัตรารอดถึงร้อยละ 80 เกษตรกรได้ผลผลิตกุ้งไร่ละ 1.3 – 1.5 ตันต่อรุ่น

ดังนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบ่อเลี้ยงให้มีความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเลี้ยงปลานิล   ในบ่อกุ้ง นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดการเกิดโรคที่ทำได้ง่ายภายใต้การลงทุนที่ไม่สูงมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคได้ รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย